วงค์ ตาวัน : ประวัติศาสตร์ 7 สิงหาฯ-ไม่ใช่ลัทธิปีศาจ

วงค์ ตาวัน

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ไม่คร่ำครึล้าหลัง ได้ชำระสะสางข้อเท็จจริงหลายประการ จนทำให้เราได้รู้กันว่าประวัติศาสตร์ของชาติเรานั้นเต็มไปด้วยเรื่องแต่งเติมอยู่ไม่น้อย เพียงเพื่อรองรับอุดมการณ์ชาตินิยมแบบผิดๆ ในบางหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อนักวิชาการไปค้นหาความจริงยิ่งตกตะลึง เพราะไม่มีความจริงอยู่เลยในเรื่องนั้นๆ

ด้วยความที่ประวัติศาสตร์ที่มีอยู่จริง หลายเรื่องหลายเหตุการณ์เป็นความจริงอันเจ็บปวดสำหรับชนชั้นผู้กุมอำนาจในสังคม

เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน ชนชั้นล่าง ที่ทำให้อำนาจของชนชั้นสูงสั่นคลอน

“แถมยังมีความคิดทำนอง อย่าไปเขียนหรือไปขุดคุ้ยมันขึ้นมาอีกเลย เดี๋ยวคนรุ่นหลังจะเอาแบบนั้นบ้าง เรื่องราวร้อนระอุจะฟื้นกลับมาใหม่อีก บ้านเมืองจะยุ่งเปล่าๆ!?”

จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุการณ์นักศึกษาประชาชนลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหาร เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จะไม่เคยได้รับการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ต่อเนื่องมาจาก 14 ตุลาคม 2516 ก็ไม่เคยมีอยู่ในตำราวิชาการใดๆ

รวมไปถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ประชาชนฮือกันล้มรัฐบาลทหาร และดาหน้าสู้กับกระสุนจริงจากปืนทหาร ไม่เคยได้รับการบันทึกเอาไว้เช่นกัน

“ยังไม่รวมถึงเหตุการณ์ 99 ศพ ปี 2553 แม้แต่คดีความก็ยังจะไม่ให้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม”

ลงไปที่ชายแดนภาคใต้ที่เปลวไฟลุกโชน ซึ่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนย่านนี้ รวมไปถึงประวัติศาสตร์การใช้อำนาจจากส่วนกลางจนเกิดความขัดแย้งรุนแรง และลุกลามบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน

มีความพยายามจะกลบเกลื่อนปกปิด จนทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจเพียงว่ามีพวกโจรใต้พยายามจะแบ่งแยกดินแดนของประเทศไทยเราออกไป

“เพราะประวัติศาสตร์ยุครัฐปัตตานี ที่มีอดีตอันยิ่งใหญ่รุ่งเรืองมากด้วยอารยธรรมถูกปกปิดเอาไว้”

ความพยายามของรัฐบาลส่วนกลางที่จะให้ลบล้างสภาพเดิมๆ ให้กลายเป็นมาแบบไทยๆ ทั้งหมดคือต้นตอความขัดแย้ง และเมื่อมีการจับกุมคุมขังปราบปราม ก็นำมาซึ่งการต่อสู้ของกลุ่มอุดมการณ์หัวรุนแรง

ถ้าไม่เรียนรู้ต้นตอที่แท้จริง ก็ไม่เข้าใจ ก็จะหลงไปกับการทุ่มกำลังทหารเข้าปราบปราม

รวมทั้งจำนวนเงินงบประมาณที่เพิ่มสูงไปเรื่อยๆ

มีประวัติศาสตร์ความรุนแรง เป็นสงครามลุกลามไปทั่วประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องกับวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งควรจะนำมากล่าวถึง ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ถูกกลบเอาไว้ ถ้าหากไม่สนใจเรียนรู้ มันอาจจะฟื้นคืนกลับมาอีกก็ได้

“เมื่อ 53 ปีที่แล้ว ในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 เรียกกันว่าวันเสียงปืนแตก!”

คือวันที่มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐครั้งแรกของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ เหตุเกิดที่บ้านนาบัว เรณูนคร จ.นครพนม

จากนั้นมาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้ถือเป็นวันแห่งการต่อสู้ด้วยอาวุธ เปิดสงครามสู้รบกับทหารรัฐบาล จนขยายไปในขอบเขตทั่วประเทศ

“สร้างความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินในราชการมากมายมหาศาล”

ในอดีตนั้น แนวคิดคอมมิวนิสต์แพร่ขยายไปทั่วโลก ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นการสร้างรัฐของชนชั้นกรรมาชีพ คนยากคนจน เลิกการกดขี่ข่มเหงของชนชั้นสูง นายทุน ขุนศึก ศักดินา

ในไทยเองมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 2485 มีการจัดตั้งและขยายแนวคิดอุดมการณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต่อมาถูกรัฐบาลสืบจับปราบปรามอย่างหนัก ทำให้คอมมิวนิสต์ไทยต้องหลบลงใต้ดิน และย้ายออกไปสร้างเขตงานในชนบท

จากนั้นเมื่อเกิดวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 ก็ประกาศตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยขึ้นมา ตามแนวทางต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

“ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ระดมทหารออกปราบ ปราม แต่เข้าทำนองยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งโต!!”

เพราะฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้นกลมกลืนอยู่กับชาวบ้าน เมื่อฝ่ายรัฐเน้นใช้ทหารเข้ากวาดล้างตามหมู่บ้านต่างๆ ยิ่งผลักให้ชาวบ้านโกรธแค้นที่สูญเสีย ประกอบกับปัญหาความยากจนของชาวชนบท ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม จึงผลักให้คนยิ่งแห่เข้าป่า ด้วยความเชื่อว่าจะได้สร้างรัฐของชนชั้นคนยากจนขึ้นมาในอนาคต

จากเดิมที่มวลชนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวนาชาวไร่ในชนบท บางส่วนเป็นผู้นำกรรมกรในเมือง

แต่เมื่อฝ่ายรัฐเกิดความหวาดผวาภัยคอมมิวนิสต์ เนื่องจากในปี 2518 สงครามในเวียดนาม ลาว กัมพูชา จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเรากลายเป็นรัฐสังคมนิยม รัฐคอมมิวนิสต์กันไปถ้วนหน้า

ความกลัวในทฤษฎีโดมิโน่ ไม่ต้องการให้ไทยเป็นคอมมิวนิสต์รายต่อไป จึงเกิดแผนกวาดล้างนักศึกษาประชาชนในเมือง ที่ปักใจเชื่อว่าเป็นแนวร่วมกับคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“ผลก็คือผลักดันปัญญาชนจำนวนมหาศาล ไปเพิ่มคุณภาพให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ยกระดับสถานะของคอมมิวนิสต์ไทยครั้งสำคัญ สื่อทั่วโลกบุกเข้าไปในเขตฐานที่มั่น เพื่อรายงานสถานการณ์ที่ปัญญาชนไทยเข้าป่าจับปืน

ส่งผลให้สงครามคอมมิวนิสต์ยิ่งขยายใหญ่ กระทั่งเข้ามาจ่อใกล้เมืองหลวง ขยายถึงบ้านไร่ อุทัยธานี จากภาคใต้มาจ่อที่ปากท่อ ราชบุรี เหลืออีกไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจะถึง กทม. อยู่แล้ว

จาก 2508 รบกันมา 15 ปี จนกระทั่งปี 2523 เมื่อกองทัพไทยเรียนรู้หลักการเมืองนำการทหาร ประกอบกับความปั่นป่วนในโลกคอมมิวนิสต์เอง

จึงทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านเรายุติลงได้จากนั้นอีกปีสองปี

ด้วยปัญหาความปั่นป่วนในโลกคอมมิวนิสต์ เกิดความแตกแยกระหว่างรัสเซียกับจีน กระทบมาถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วย รวมถึงปัญหาภายในป่า เมื่อนักศึกษาปัญญาชนเริ่มคิดไม่เหมือนกับคอมมิวนิสต์สายเก่า

ด้วยความชาญฉลาดของฝ่ายทหารในยุคนั้น เริ่มจากสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ ได้บินไปพบปะผู้นำจีน สร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล เพื่อลดการสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในไทยลงไป ถึงขั้นปิดสถานีวิทยุของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ออกอากาศจากภาคใต้จีนกระจายเสียงมาในไทยรับฟังได้ทั่วประเทศ

“จากนั้นมาในยุคบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารมันสมอง รู้ว่าเป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมซึ่งจะรุกเข้าไปในความขัดแย้งปั่นป่วนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงนำเสนอต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ขณะนั้น ให้ออกคำสั่งที่ 66/2523 เปิดป่าให้คอมมิวนิสต์ที่ขัดแย้งกลับคืนเมือง”

เงื่อนไขสำคัญคือ ให้วางปืน จะไม่ถือว่ามีคดีความผิดทางอาญาใดๆ สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตปกติในเมืองได้ จะต่อสู้ทางการเมืองต่อไปก็ได้ แต่ต้องด้วยสันติวิธี

ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ป่าแตก ผู้คนแห่ออกมาร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ส่งผลให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มถดถอย จนกระทั่งหมดป่าในราวปี 2525

“เป็นบทสรุปว่า หากกองทัพเรียนรู้ใช้การเมืองนำการทหาร ก็จะสามารถแก้ไขสงครามที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ความคิดได้!”

แต่ขณะเดียวกัน สงครามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เริ่มจากปี 2508 มาจนถึงราวปี 2525 นั้น ที่ขยายตัวได้เพราะปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดกับคนชนบท และการใช้ความรุนแรงกับปัญญาชนในเมือง ซึ่งหากรัฐในยุคหลังไม่เรียนรู้ ไปก่อความอยุติธรรมเช่นเดิมอีก โอกาสจะเกิดการต่อสู้แบบนั้นก็อาจจะเป็นไปได้

“ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน หากได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สงครามคอมมิวนิสต์ จะเข้าใจปัญหาถ่องแท้ และจะช่วยกันไม่เดินตามรอยนั้นอีก”

แต่เอาเข้าจริง รัฐก็ยังปกปิด ด้วยการอธิบายถึงปัญหาคอมมิวนิสต์ว่า เป็นลัทธิปีศาจ เป็นต่างชาติที่จะเขมือบประเทศเรา เรียกกองกำลังทหารป่าว่า ผกค. ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เพื่อลบเลือนภาพของชาวนาชาวไร่ที่จับปืนต่อสู้

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จริง ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดผวาว่ามันจะฟื้นกลับมาอีก ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าทุกฝ่ายรู้และเข้าใจ จะเดินกันถูกทางได้มากกว่า!