คุยกับทูตกัมพูชา ผ่าสถานการณ์เลือกตั้งภายในประเทศ

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย-กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (6)

การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 หลังหลุดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง

เมื่อวันที่ 8 มกราคมปีนี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานจัดกิจกรรม “วันแห่งชัยชนะเหนือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เพื่อรำลึกและเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 39 ปี การล่มสลายของรัฐบาลเขมรแดงภายใต้การนำของนายพล พต จากการที่กองทัพคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามสามารถยึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จเมื่อ 7 มกราคม ค.ศ.1979

เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคมนั้น พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ระบุว่า ได้คะแนนเสียงถึง 77.5% ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทำให้กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ทั้งหมด 125 ที่นั่งในสภาล่าง

ผลการเลือกตั้งจะทำให้กัมพูชาเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวอย่างแท้จริง หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จฯ ฮุน เซน มากว่า 33 ปี ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนานาชาติถึงเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม

การเลือกตั้งในกัมพูชา (AFP)

แม้จะมีพรรคอื่นๆ เข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้อีก 19 พรรค แต่ก็ไม่มีพรรคใดต่อต้านรัฐบาลได้อย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ พรรคคู่แข่งหนึ่งเดียวของพรรครัฐบาลอย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ก็ได้ถูกกวาดล้างไปแล้ว

พรรค CNRP เป็นอดีตพรรคฝ่ายค้านมาจากการรวมตัวของพรรคสม รังสี (Sam Rainsy) และพรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party) ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี ค.ศ.2013 ทำคะแนนเสียงล้นหลามจนเกือบเอาชนะพรรคของสมเด็จฯ ฮุน เซน

นายสม รังสี (ซ้าย) นักเคลื่อนไหวฝั่งซ้ายคนสำคัญในแวดวงการเมืองกัมพูชา (GETTY IMAGES)

สำหรับสม รังสี เดินทางไปลี้ภัยในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 เนื่องจากถูกตัดสินให้มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และลาออกจากพรรคกู้ชาติกัมพูชาในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ก่อนที่ศาลจะตัดสินยุบพรรคของเขาในเดือนพฤศจิกายน

ในเดือนกันยายน ค.ศ.2017 นายเกิม โซะคา (Kam Sokha) หัวหน้าพรรค CNRP ถูกจับกุมจากการตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐ กระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ปัจจุบันถูกฝากขังในเรือนจำแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนเวียดนาม

16 พฤศจิกายน ศาลกัมพูชามีคำสั่งตัดสินยุบพรรค CNRP ข้อหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาล สมาชิกของพรรคทั้งหมด 118 คนถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนาน 5 ปี

นายเกิม โซะคา (Kam Sokha) หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กู้ชาติกัมพูชา (CNRP)

ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้กัมพูชาเหลือพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวโดยไร้คู่แข่ง

ด้านกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนระบุว่า นี่เป็นการเลือกตั้งที่น่าละอาย เพราะพรรคคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ได้ถูกศาลสูงสุดสั่งยุบพรรค และประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ถูกกดดันให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ส่วนคนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งบางคนก็ให้เหตุผลว่า เพียงแค่ให้มีหมึกติดอยู่ที่นิ้ว ท่ามกลางการข่มขู่จากรัฐบาลว่า ใครก็ตามที่รณรงค์การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งซื้อหมึกลบไม่ได้ 51,000 ขวดจากอินเดีย ในวงเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 25.6 ล้านบาท) เป็นหมึกที่ใช้ประทับนิ้วขณะเลือกตั้ง นำมาใช้ตรวจตราป้องกันประชาชนลงคะแนนเสียงซ้ำ และกลายมาเป็นเครื่องตรวจสอบว่าใครไม่ยอมไปใช้สิทธิ

ส่งผลให้นานาชาติโดยสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งครั้งนี้และเตรียมพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่อกัมพูชา

จากกรณีดังกล่าว กระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายลง วิซาโล (H.E. Mr. Long Visalo) เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า

“จากที่ได้สังเกตการณ์ระหว่างวันที่พรรคการเมืองออกมารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและในวันเลือกตั้งนั้น สถานการณ์เป็นไปอย่างสงบและเรียบร้อย พรรคการเมืองกว่า 20 พรรคมีโอกาสในการหาเสียง 21 วัน โดยนำเสนอนโยบายในการปฏิรูป และแสดงมุมมองทางการเมืองได้อย่างอิสระ ปราศจากข้อจำกัดในการหาเสียง แม้มีบุคคลบางกลุ่มได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงก็ตาม”

“ในวันสุดท้ายของการหาเสียงนั้น เราได้เห็นขบวนพาหนะทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ยาวเหยียดติดป้ายและตกแต่งด้วยธงของพรรคการเมืองต่างๆ วิ่งไปรอบเมืองหลวงอย่างสงบเรียบร้อยโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ส่วนในวันเลือกตั้ง ประชาชนชาวกัมพูชาผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มาเข้าแถวรอกันอย่างกระตือรือร้นเป็นจำนวนมาก ก่อนเปิดคูหาเลือกตั้ง”

“ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศได้มีความแปลกใจในความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ที่มาใช้สิทธิ คณะผู้แทนของผู้สังเกตการณ์ได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่นับคะแนนเสียงอย่างระมัดระวังและทำการตรวจสอบเพิ่มเติมเมื่อมีปัญหา เรามีความภาคภูมิใจในภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ ความซื่อสัตย์และการทำงานอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้ง อีกทั้งประชาชนผู้มาใช้สิทธิก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

“คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งได้รับคำชื่นชมว่าทำงานแบบมืออาชีพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair election)”

“ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ในเกณฑ์การเลือกตั้ง ข้อแรก คือจำนวนของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 82.89% ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งในปี 2013 ที่มีจำนวน 69.61% และในปี 2008 ที่มี 75.21% เท่านั้น”

“การที่มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากประชาชนมีความมั่นใจในกระบวนการเลือกตั้งและคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ เราจึงมีความประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งของเราในครั้งนี้ มีจำนวนสูงกว่าประเทศตะวันตกบางประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงบางประเทศที่ส่งเสียงวิจารณ์อย่างหนักต่อการเลือกตั้งของกัมพูชา”

นายกฯ ฮุน เซน และภริยา ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (AFP)

“จากมุมมองของนักวิเคราะห์การเมือง ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการปฏิเสธนักการเมืองหรือฝ่ายค้านบางคน รวมทั้งรัฐบาลต่างประเทศที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง”

“กฎเกณฑ์การเลือกตั้งข้อที่สอง คือความหลากหลายทางการเมือง หรือสามารถพูดได้ว่าประชาชนมีทางเลือกที่หลากหลายในด้านความแตกต่างทางทัศนคติของพรรคการเมือง ซึ่งผู้สังเกตการณ์ได้เห็นถึงความแตกต่างของผู้นำพรรคการเมืองไปจนถึงนโยบายของพรรคที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก”

“การดีเบต (debate) อภิปรายหาเสียงระหว่างผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจัดขึ้นในที่สาธารณะและได้รับการเสนอข่าวจากสื่อมวลชนและทีวีหลายสำนักให้ประชาชนได้รับทราบอย่างแพร่หลาย แตกต่างจากในอดีต การดีเบตครั้งนี้ดำเนินไปอย่างมืออาชีพโดยปราศจากการใช้คำพูดดูถูก เหยียดหยามหรือพูดจาปลุกระดมแต่อย่างใด ประชาชนชาวกัมพูชาได้มีโอกาสสัมผัสการดีเบตที่เป็นประชาธิปไตยและตรงกับเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก”

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย

“หัวข้อการดีเบตในครั้งนี้คือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สถาบันและปัญหาทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ไม่เหมือนการดีเบตในครั้งก่อนที่มีหัวข้อเกี่ยวกับชาวเวียดนามและประเทศเวียดนาม”

“ประชาชนชาวกัมพูชาเกือบ 7 ล้านคนได้เลือกแล้ว ดังนั้น ทุกคนรวมถึงชาวกัมพูชา ชาวต่างชาติ บุคคลทั่วไป สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักการทูต จะต้องยอมรับและให้ความเคารพต่อการตัดสินใจของประชาชนและอธิปไตยของชาติกัมพูชา”

“เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ มีผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศกว่า 220 ชีวิตจาก 52 ประเทศในฐานะตัวแทนองค์กรต่างๆ ได้แก่ งานประชุมนานาชาติพรรคการเมืองแห่งเอเชีย (ICAPP), สมัชชารัฐสภาเอเชีย (APA), สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA), ที่ประชุมยุโรปด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (European Council on International Relations) ได้เข้ามาร่วมเป็นพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศกัมพูชาที่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างสันติและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้แทนทางการเมืองอีกเกือบ 80,000 คน และอีก 80,000 คนจากสมาคมแห่งชาติและองค์กรอื่นๆ”

พระเข้าคูหาลงคะแนนเสีบงเลือกตั้งในกัมพูชา

“เราเสียใจและผิดหวังต่อการประเมินผลทางการเมืองของรัฐบาลบางประเทศด้วยการปฏิเสธการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่กลับประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งการเลือกตั้งสิ้นสุดลงว่า การเลือกตั้งของประเทศกัมพูชานั้นไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม (free and fair) อีกทั้งยังไม่เชื่อถือกระบวนการเลือกตั้งและความสำคัญต่อการลงคะแนนเสียงของประชาชน 6,946,164 คนอีกด้วย การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเลยมิตรภาพและความร่วมมือที่มีให้กันมาอย่างยาวนาน”

“ทำให้เกิดข้อสงสัยในความจริงใจที่แท้จริงของประเทศเหล่านี้ว่า เนื้อแท้แล้วนั้นต้องการให้กัมพูชาได้ประสบความสำเร็จในอนาคตต่อการเติบโตเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย “ที่มีสันติภาพอันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่” และมีพัฒนาการอย่างยั่งยืนตลอดมาหรือไม่”

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย