เลือกตั้ง’62 กับศึก 2 ขั้ว “ประชารัฐ vs ประชานิยม”

จรัญ พงษ์จีน

“ประเทศไทย” กรดกำลังจะไหลย้อน กลับไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีโอกาสเป็นใหญ่อีกครั้ง แม้จะยังรูเบ้อเร่อ เพราะ “ศึกเลือกตั้ง” แบบวัดครึ่งกรรมการครึ่ง เนื่องจากติดติ่ง “250 ส.ว.” ซึ่งกำหนดให้มีที่มาจากการสรรหา เป็น “มารคอหอย” อยู่

ไม่เบ่งบานเต็มใบ เป็น “ประชาธิปไตยทางอ้อม” ที่ประชาชนมีหน้าที่เลือกผู้แทนฯ ไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา โดยการเลือกตั้งจะคัดเอาผู้ที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่าเป็นมาตรฐาน

ผู้แทนฯ ดังกล่าว นอกจากสามารถเลือกโดยตรงแล้ว ยังเข้ามาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่เรียกว่า “ผสมผสาน”

เอาเป็นว่า ยามมืดมนอนธการได้ขนาดนี้ ก็ดีงามน้ำลายไหล คิดบวกเสียว่า “กระเบื้องกำลังจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยใกล้จะถอยจม” ว่าเข้าไปนั่น

อีกเจ็ด-แปดเดือนจะเลือกตั้งแล้ว ปี่กลองการเมืองเชิดฉิ่ง “ตลาดการเมือง” อึกทึกคึกคักพอๆ กับตลาดสด ผู้คนในแวดวงเริ่มปริวรรตกันเป็นว่าเล่น

ล่าสุดเป็นคิวทองของมวลมหาประชาชน “ชาวนกหวีด” ที่จำแลงแปลงกายมาในนาม “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” (รปช.)

มี “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาฯ กปปส. ขี่พายุทะลุฟ้า ลงจากเขาวงกตอันคดเคี้ยว มาคุมเข้มเปิดตัวกรรมการบริหารพรรค “ชุดที่ 1” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันวาน

คอการเมืองพากัน “ครางฮือ” ด้วยอาราม “ผิดหวัง” เล็กๆ เพราะพรรคของ “พี่กำนัน” ไม่ได้ใหญ่บึ้ม บะละฮึ่ม บึ่มส์บะละฮั้ก ดังที่คาดไว้แต่ประการใด

ผู้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็ไม่ใช่ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ไอดอล “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ระบุไว้ในเบื้องต้น

หวยออกเป็น “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” จริงอยู่ “หม่อมเต่า” มีดีกรีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เครดิตเหลือจะกล่าว ไม่ด้อยกว่า “เอนก” กันสักเท่าไหร่นั้นก็จริง

แต่ยอมรับว่า ไม่จ๊าบได้ใจดังที่จินตนาการกันไว้ จึงกระชากกระแสได้แค่สิวๆ

อย่าว่าแต่ตาสีตาสาเลย ขนาด “ลูกเต่านา” ของ “หม่อมเต่า” แท้ๆ ยังประกาศเสียงกึกก้องกัมปนาท ให้โปรดทราบทั่วกันว่า “เรา ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล ไม่สนับสนุนพรรค รปช. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใคร และเราจะไม่ไปเลือกตั้งด้วยค่ะ”

นับประสาอะไรกับปุถุชนคนธรรมดา ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างเราๆ เล่า

“หม่อมเต่า” สรรพคุณ ประวัติ ผลงานโชกโชน อายุ 70 กว่าเอง สุขภาพดูแข็งแรง กระฉับกระเฉงอยู่มาก ไม่ถึงกับ “เอ็กซ์ปาย” คล้ายนมบูด แต่ที่เปิดตัวปั๊บ ไม่เวิร์กปุ๊บ เนื่องจากว่า ดังที่บอกไปแล้วว่า ตั้งความหวังเอาไว้สูง พอไม่ได้ดั่งใจ ก็พาลผิดหวัง ก้าวถัดไป กรรมการบริหารพรรค “ชุดที่ 2” เชื่อหัวเณรเรืองว่า “กำนัน” แกต้องโรเตชั่นจัดการได้นิ่งเนี้ยบเฉียบขาดกว่า “ชุดที่ 1”

 

พูดถึงมหกรรมเลือกตั้ง พ.ศ.2562 ต้องยอมรับว่าเป็นการต่อสู้ขับเคี้ยวชิงพื้นที่กันระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแชมป์เก่า กับ “พรรคพลังประชารัฐ” มากกว่าอะไรเพื่อน

ถอดรหัสมาเป็นการวัดดวงเชิงสัญลักษณ์กันระหว่าง “ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ”

“ประชานิยม” ต้นตำรับคือ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่นำมาประกาศใช้ในเมืองไทย สอดแทรกลงในนโยบาย ระหว่างที่ตัวเองบริหารประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ที่บริหารจัดการให้เงินและผลประโยชน์จากรัฐในรูปแบบต่างๆ ไปถึงมือชาวบ้านระดับ “รากหญ้า” อย่างจับต้องได้

ที่ยังได้รับการกล่าวขานไม่รู้จักจบ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน จนได้รับเลือกให้เข้ามาบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 และเข้ามาดำเนินนโยบาย “ประชานิยม” อีกหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของ “ระบอบทักษิณ” ที่นำมาซึ่งชัยชนะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง

“นโยบายประชานิยม” ได้คะแนนเสียงฉับไว ประชาชนชื่นชอบ เพราะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ลดค่าใช้จ่าย ชีวิตอยู่ดีกินดีขึ้น

ในทางกลับกันก็มี “ข้อเสีย” มากมายก่ายกอง อาทิ เกิดอัตราเงินเฟ้อ ฐานะทางการเงินของภาครัฐอ่อนแอ สถาบันการเงินได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และมาตรฐานการปล่อยไม่รัดกุมพอ

รัฐมนตรีร่วมคณะในรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 2-3 คน นำโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” เป็นโต้โผหลัก ได้ร่วมด้วยช่วยกันทำ “ยุทธศาสตร์ใหม่”

คือนโยบาย “ประชารัฐ” เน้นหนักเรื่องการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขัดเคลื่อนตามแนวคิด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไก “ประชารัฐ”

โดยผนึกกำลังกัน 3 ภาคส่วน ระหว่าง “ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชน” ด้วยลักษณะร่วมกันรังสรรค์ ครอบคลุมทั้ง “เศรษฐกิจ-สังคม”

“ประชานิยม” เปลี่ยนประชาชนชนบทจาก “เดือดร้อนเป็นอยู่รอด” ขณะที่ “ประชารัฐ” เปลี่ยนผู้เดือดร้อน เป็นอยู่รอดและ “ยั่งยืน” มีบันได 3 ขั้นคือ 1.พึ่งพาตนเอง 2.พึ่งพากันเอง 3.ร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง

ที่กล่าวข้างต้น คือภาพรวมโดยสรุปคุณสมบัติของ “ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ”

ใครชอบใครก็ว่ากันไป แต่ “ประชารัฐ” ที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” นำมาเป็นตัวขับเคลื่อน คงจะประสบผลสำเร็จเชิงยุทธศาสตร์มากพอประมาณ

จึงนำมาเนรมิตเป็นชื่อพรรคการเมืองใหม่ชื่อ “พลังประชารัฐ”

ตอนนี้ แน่นอนแบเบอร์แล้วว่า ในศึกเลือกตั้งครั้งที่จะถึง วางตัวให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งแป้นผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

แยกกันเดิน ร่วมกันตีเมืองขึ้น ระหว่าง “รัฐมนตรี” ที่ได้รับฉันทานุมัติให้เป็นผู้ดำเนินการ กำหนดนโยบาย วางแผน กรอบยุทธศาสตร์ อย่างน้อย 3 คน ในรัฐบาล “ตู่ 5” ที่เป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่ภาคสนาม “กลุ่มสามมิตร” รับไม้ไปดำเนินการ โดยมี “3 ส.” รับผิดชอบ ประกอบด้วย “ส.สมคิด-ส.สุริยะ-ส.สมศักดิ์” ไล่เจาะพื้นที่ได้เป็นกอบเป็นกำ

พอใกล้ถึงวันเลือกตั้ง 2 เครือข่ายที่มีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในรัฐบาล และที่ทำงานภาคพื้นที่ จะไหลมาบรรจบเป็นทองแผ่นเดียวกันในนาม “พรรคพลังประชารัฐ”

จะได้ ส.ส. เข้าสภากี่ที่นั่ง ไม่รู้…รู้แต่ว่า พรรคนี้เค้าเงินถุง เงินถัง

“องค์ประกอบ” เยี่ยมที่สุด สำหรับ “คนการเมือง”