ล้วงความคิด-ชีวิต “อ๊อฟ พงษ์พัฒน์” กับ33ปีในวงการบันเทิง “บิดขี้เกียจได้ แต่ว่าอย่าหยุด”

“บิดขี้เกียจได้ แต่ว่าอย่าหยุด” บทท่องจำ 33 ปีของอ๊อฟ พงษ์พัฒน์

ถ้าไม่นับนิ้วก็คงไม่รู้ว่า อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง อยู่ในวงการบันเทิงมาถึง 33 ปีแล้ว

เป็น 33 ปีที่อดีตฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬายี่ห้อดังซึ่งผันตัวเข้าวงการ ด้วยความคิด “จะเอาเงิน อยากได้เงินมาเลี้ยงชีพ” มีโอกาสทำหลายอย่าง ทั้งแสดงละคร แสดงภาพยนตร์ ร้องเพลง และกำกับการแสดง

“ตอนนั้นอันไหนที่หาเงินได้เยอะ เอาตรงนั้นก่อน คือเราเป็นคนจน ไม่ใช่คนรวย” พงษ์พัฒน์ในวัย 57 ปี ย้อนอดีตเล่า

ดังนั้น เมื่อโอกาสมาเขาจึงคว้าไว้ จากนั้นก็อาศัยความอึด ความสู้ ความทน และความขวนขวายที่มีอยู่จากความจนคู่ตัว-ซึ่งกลายเป็นความได้เปรียบ ค่อยๆ ก้าว

ถามว่าตอนนั้นนึกไหมว่าจะมีวันนี้

คำตอบที่ได้คือ “ไม่มีใครรู้พรุ่งนี้หรอก ไม่มีใครรู้ข้างหน้า”

“เราฝันได้ คาดหวังได้ ได้แค่ตรงนั้น ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่ ไม่สามารถกำหนด”

“เอาตรงๆ นะ วงการบันเทิง คำว่า “ดารา” มันมีมนต์ขลังอย่างหนึ่ง คือใครก็อยากเป็น เพราะฉะนั้น พอมีโอกาสแล้ว สำคัญที่สุดคือเป็นแล้วยังไงต่อ เป็นได้นานไหม”

“ก็ต้องเกาะ” นี่พงษ์พัฒน์บอกวิธี

การเกาะที่เขาทำ และทุกคนสามารถนำไปใช้แบบไม่หวงห้ามคือ “คุณต้องขวนขวายหาความรู้ ทำให้โต”

“เป็นมนุษย์ก็ต้องกระโดดขึ้นข้างบน แล้วยืนข้างบนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าวันหนึ่งจะตกลงมา แต่ว่าตอนที่ยืน ต้องยืนให้นานที่สุด”

ในส่วนหาความรู้ พงษ์พัฒน์ว่า สำหรับตัวเอง เขาทำทุกวิธี ไม่ว่าจะ “ครูพักลักจำ” คือ “เห็นเขาทำ เราก็มองดู”

ถ้ามีโอกาสเทกคอร์สเข้าเรียนในคลาสการแสดง ก็ไม่พลาด

ขณะเดียวกัน “การศึกษานอกคลาสคือการเห็นสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ก็เป็นครูการแสดงได้หมด”

สำหรับการเป็นอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ ที่ดูเหมือนทำอะไรก็ประสบความสำเร็จนั้น เจ้าตัวว่านั่นเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ด้วยความจริงก็มีที่เขาทำอะไรแล้วล้มเหลว

เพียงแต่ “สิ่งที่ล้มเหลว ใครจะไปนั่งพูด ใครจะไปนั่งจำล่ะ”

“เวลาเราเห็นอะไรสักอย่าง เราเห็นแต่สิ่งที่งอกพ้นน้ำ ไม่เห็นหรอกว่าใต้น้ำมีอะไร อาจมีขยะเต็มไปหมด”

“ชีวิตผมไม่มีใครรู้ เห็นแต่ที่พ้นน้ำมา ก็คือความสวยงาม ความสำเร็จ”

กับรางวัลอันเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่คนเห็น พงษ์พัฒน์ก็ว่า ทุกครั้งที่ได้รับ เขาจะปล่อยให้ตัวเองดีใจเพียงวันเดียว ด้วยเป้าหมายแท้จริงในส่วนงาน คือการทำให้ดีที่สุด ขณะรางวัลเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ตามมา

“เพราะฉะนั้น เวลาทำงาน ไม่ได้ตั้งเป้าว่าฉันจะเอารางวัล มันไม่ใช่จุดมุ่งหมาย ของมันมาทีหลัง แต่ถ้าเขาให้ เราก็เอา”

ส่วนที่ได้ๆๆๆๆ มา ก็ไม่ได้ส่งผลให้ติดกับดักความสำเร็จ

“ติดทำไม ไม่มีหรอก” บอกอย่างนั้น

“เพราะเราจะขออนุญาตดีใจวันเดียว เขาให้ เราก็ดีใจ ภูมิใจ แต่วันรุ่งขึ้นก็ทำงานชิ้นต่อไป เพราะงานที่เราได้รางวัลมันจบไปแล้ว เราก็อยู่กับงานที่กำลังสร้างใหม่ จะได้รางวัลอีกไหม ไม่รู้ อย่าเอามันมารัดคอ อย่าแบกไว้”

“ได้รางวัลมา ถึงบ้านสิ่งแรกที่ทำคือ ถวายเสด็จพ่อ ร.5 ถวายพระ ถวายพ่อแก่ ถวายพระพิฆเนศ แล้วรางวัลก็ไม่ใช่ของเราอีกแล้ว เพราะเราถวายท่านไป”

เหตุผลที่ถวาย เขาก็ว่าเพื่อขอบคุณ

“เราทำอะไรก็ตามเรามีครูที่ประสาทวิชาให้ ครูที่มีชีวิต ที่สอนอยู่ทุกวันนี้ก็มีหม่อมน้อย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เป็นอาจารย์ของผม หนังสือหลายเล่มผมก็ยกว่าเป็นครู ครูทางอาชีพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นครู ไหว้แล้วสบายใจ ผมก็ทำ”

ในส่วนงานที่ทำมาตลอดนั้น พงษ์พัฒน์บอกว่าทุกงานเป็นสิ่งที่เขาทำอย่างมีความสุข “อย่าไปทุกข์ ถ้าทุกข์ เลิกเลย อาชีพอะไรก็ตามที่รู้สึกทุกข์ นั่นคือฉิบหายเลยนะ อย่าไปทำ”

แต่ถึงจะสุขดีอย่างนั้น ถ้าเป็นไปได้เขาก็อยากจะหยุดทำ เพื่อออกท่องเที่ยว

“แต่เขาไม่ยอมกัน…แล้วความฝันคือความฝัน ความจริงคือความจริง ความฝันคือพรุ่งนี้จะเลิกแล้ว ไปเที่ยวแล้ว ความจริงคือมีเงินไหม ถ้าหยุดงานแล้วจะเป็นยังไง แล้วถ้าเลิกต้องมีคนทำงานแทน นี่ลูกก็อยู่กองถ่ายทุกวัน เขาแข็งแรงพอหรือยัง ซึ่งลูกก็บอกว่าอย่าเพิ่งไปนะ ห้ามไป ต้องกำกับ”

ดังนั้น เขาจึงต้องรอว่าถึงวันที่จะออกเที่ยวได้เมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น

“หรืออาจจะไม่มีโอกาสได้ไปเลยตลอดชีวิตก็เรื่องของมัน”

“เราอยู่กับปัจจุบัน กับความจริง”

“แต่ปีหนึ่งขอไปเที่ยวกันสองคนตายาย ครอบครัวเรา ไปเดือนหนึ่ง”

เขายังว่า แม้โอกาสจะยังไม่เอื้อให้ชีวิตมีแต่การเที่ยว แต่หากระหว่างทำงานแล้วรู้สึกแฮปปี้ มีความสุขดี สำหรับเขานั่นก็โอเค ซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น

“มีความสุข ไม่รู้สึกว่าทุกข์ กระตือรือร้นที่จะตื่นมาทำงาน มีเบื่อบ้างตอนเหนื่อย แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องฮึดไป”

“บิดขี้เกียจได้ แต่ว่าอย่าหยุด”

บอกตัวเองไว้อย่างนั้น