“ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ในสายตาของ “ส.ศิวรักษ์” และ “พระพยอม กลฺยาโณ” ตอนจบ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

อย่าสนใจวัตถุเหนือกว่าเนื้อใน

พระพยอม กลฺยาโณ กล่าวว่า การพูดถึงคนดี ทำให้ปากมีบุญไปด้วย เห็นด้วยกับ ส.ศิวรักษ์ ที่คนในปัจจุบันเน้นแต่อามิสบูชา มีแต่แข่งกันปั้นรูปเหมือนอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยสูงที่สุด ใหญ่ที่สุด เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

ในอนาคตรูปปั้นอนุสาวรีย์เหล่านั้น จะกลายเป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้คนไปกราบไหว้อ้อนวอน โดยมองไม่เห็นแก่นแท้คุณงามความดีภายในของท่าน

ดังนั้น ไม่อยากให้วัดในภาคเหนือประกวดประขันกันสร้างวิหาร พระเจดีย์ใหญ่โตอลังการมากเกินความจำเป็น ไม่ควรอ้างว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเดินตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย

การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างเสนาสนะจำนวนมหาศาลในยุคนั้น เป็นกุศโลบายที่ต้องการดึงคนมาร่วมบำเพ็ญธรรมด้วยกันในยุคที่เพิ่งฟื้นฟูบ้านเมือง ท่านต้องการให้วัดเป็นสถานที่สำหรับสร้างทานบารมี ศีลบารมี และภาวนาบารมี คือเน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าสร้างเพื่ออวดเบ่งบารมีเหมือนยุคทุนนิยมในสมัยนี้

ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่อง ถูกส่งตัวมาให้ส่วนกลางพิพากษาโทษ แต่สุดท้ายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช เมื่อได้พูดคุยกับครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับพบว่า

“พระศรีวิชัยเป็นผู้มีความอ่อนน้อม เพียงแต่ยังไม่เข้าใจกฎหมายสงฆ์ฉบับใหม่ เป็นผู้อดทน ใจเย็น ไม่เถียงใคร ไม่ออกอาการดื้อรั้น เยือกเย็น”

พระพยอมเปรียบเปรยว่า ไม่เหมือนพระสงฆ์ยุคนี้ที่มีแต่พวก “หัวร้อน” แตะต้องอะไรนิดหน่อยไม่ได้เลย

นี่คือจุดเด่นของครูบาเจ้าศรีวิชัย ดังที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุต ปยุตฺโต) เคยกล่าวว่า “จิตที่สงบจะทำให้เกิดปัญญา แล้วเอาปัญญามาแก้ปัญหา” ครูบาเจ้าศรีวิชัยใช้วิธีดังกล่าวในการแก้ปัญหา

วันเสวนาเป็นวันที่ 12 มิถุนายน 2561 พระพยอมบอกว่า วันนี้เป็นวันเดียวกันกับที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กำลังจะเจรจา (สันติภาพโลก?) ร่วมกันที่สิงคโปร์ ต่างคนต่างมีอสมิมานะ การเจรจาจะสำเร็จได้ ต่างฝ่ายต้องวางปมเขื่อง ปมเด่นของตัวเองเสียก่อน

เฉกเดียวกับการเจรจาถึงปัญหาที่แท้จริงระหว่างผู้ประเสริฐ ผู้มีปัญญา 2 รูป คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กับครูบาเจ้าศรีวิชัยเมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา (2463) ตอนครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ที่วัดเบญจมบพิตร

จากปัญหาใหญ่ที่คณะสงฆ์ล้านนามองว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลอันตรายเป็นภัยร้ายแรง กลับกลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วในสายตาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

 

ผู้มีอัตถจริยาต้นแบบจิตอาสา

พระพยอม กลฺยาโณ มองว่า ความโดดเด่นของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ทำให้ชื่อเสียงของท่านอมตะค้ำฟ้าคือ เป็นผู้มีอัตถจริยา หรือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ภาษาสมัยใหม่เรียก “จิตอาสา”

สำหรับเพศบรรพชิต ลำพังเพียงการนั่งสมาธิ บำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดก็อาจได้ประโยชน์แล้วในฐานะผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ แต่นั่นเป็นประโยชน์เฉพาะส่วนตน

การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสามารถคล้องใจคนล้านนาได้มากที่สุดเพราะอะไร มิใช่เพราะธรรมะข้ออัตถจริยาดอกหรือ โครงการสาธารณประโยชน์ทุกอย่างสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณหลวงแม้แต่บาทเดียว ถ้าจะตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย สานุศิษย์ทุกคนต้องบำเพ็ญอัตถจริยา เห็นถนนหนทางบ้านเมืองตรงไหนไม่เรียบร้อยต้องช่วยกันทำนุบำรุงซ่อมแซม แต่นี่คืออัตถจริยาขั้นพื้นฐาน

อัตถจริยาขั้นสูงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยปฏิบัติคือ การที่ท่านมองเห็นความจริงแท้ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ว่า “เครื่องประดับขัตติยนารีทั้งหลาย ล้วนแต่เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ” เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่คนทั่วไปคิดว่ามีประโยชน์

“แม่น้ำคงคาและแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าสาย แม้จะเอาบาปไปล้างก็ไม่หายมลทิน”

ตลอดชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย จะไม่มีการปลุกเสกเครื่องรางของขลังใดๆ ท่านมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแต่เครื่องร้อยรัดกิเลส เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ

ในขณะที่ทุกวันนี้วงการสงฆ์ไทยได้รับการปรนเปรอด้านวัตถุมากเสียจนโอเวอร์ เมรุเผาศพของพระผู้ใหญ่แต่ละรูปราคาแพงหลายสิบล้าน

บารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ล้นฟ้าชั่วกัลป์ ควรถือเป็นต้นแบบคือ “การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม” น่าคิดว่าลำพังแค่ “ศีลบริสุทธิ์” แต่หากไม่มีการช่วยเหลือชุมชนเลย ความโดดเด่นของครูบาเจ้าศรีวิชัยจะยิ่งใหญ่เท่านี้หรือไม่

 

อุปายโกศลของ “พระราชาคณะ”

ส.ศิวรักษ์ พูดถึงปัญหาเรื่องการรวมศูนย์อำนาจของฝ่ายอาณาจักรที่รวบเอาศาสนจักรมาไว้ด้วยกัน โดยยกกรณีของพุทธศาสนามหายานในทิเบต ว่าเป็นตัวอย่างของรัฐที่ให้พระสงฆ์มีอิสระจากฝ่ายอาณาจักร

อยากให้ทุกท่านพิจารณาถึงคำว่า “อุปายโกศล” (อุบาย + กุศล) คือการใช้ปัญญาแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งศาสนาพุทธเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีความเห็นแก่ตัวเป็นเจ้าเรือนจึงไม่ยอมแก้

อันที่จริงนักบวชนั้น ก็มาจากลูกชาวบ้าน ครั้นเมื่อได้รับการติดยศแล้วมักลืมตัว ไม่มีปัญญามีแต่ความติดยึด

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ราชาคณะ” นั้น หมายถึงคณะสงฆ์ที่ทำหน้าที่คอยเตือนสติให้แก่พระราชา ไม่ได้แปลว่าพระสงฆ์ที่อนุโลมตามฝ่ายราชา

กรุงรัตนโกสินทร์มีพระเถรานุเถระรูปหนึ่งที่มีจริยาวัตรอันยิ่งใหญ่คล้ายกับครูบาเจ้าศรีวิชัย คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรํสี เป็นพระที่ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง ตลอดสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ เลย เพิ่งมารับในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะท่านต้องการตักเตือนพระเจ้าแผ่นดิน จำเป็นต้องมีสมณศักดิ์สูง เพื่อจะได้อยู่ในสถานะที่ตักเตือนเจ้าได้ และมักจะเตือนแบบตรงไปตรงมาจนรัชกาลที่ 4 ต้องยอมหลายครั้ง

ในอดีตพระตักเตือนเจ้าได้ แต่สมัยรัชกาลที่ 4 เจ้ากลับเป็นฝ่ายตักเตือนพระ เนื่องจากรัชกาลที่ 4 บวชเรียนมานาน พระองค์จึงถือว่ามีความรู้เรื่องศาสนาดีกว่าพระสงฆ์ ตอนพระไปเทศน์ในวัง รัชกาลที่ 4 จะไม่สดับตรับฟัง ซ้ำตรัสว่าพระองค์สามารถเทศน์ได้ดีกว่า

อภินิหารของสมเด็จโต ไม่ได้อยู่ที่เครื่องรางของพระสมเด็จที่มีมูลค่าองค์ละหลายสิบล้าน

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่พระเจ้าแผ่นดินเสวยสุราที่พระตำหนักแพ สมเด็จโตรีบลงเรือแล้วแจวด้วยตัวเอง ซึ่งปกติถือว่าผิดวินัย แต่สมเด็จโตตะโกนว่า

“พระเจ้าแผ่นดินกินเหล้า ท่านเจ้าต้องแจวเรือ” ถือเป็นการเตือนสติพระเจ้าแผ่นดินให้ระงับเมรัยได้ดีที่สุด

หรืออีกเหตุการณ์หนึ่ง ตอนรัชกาลที่ 4 สร้างวังสระปทุมเสร็จใหม่ๆ ถามสมเด็จโตว่า “ว่ายังไงขรัวโต วังของโยมสวยไหม” สมเด็จโตตอบว่า “ตระการเหมือนราชรถ”

คำพูดดังกล่าว อุปมาอุปไมยว่า การที่ล้นเกล้าฯ ทรงผนวชมานานถึง 27 พรรษา ไฉนเลยจึงไม่คำนึงถึงการสละราชสมบัติของเจ้าชายสิทธัตถะดูบ้าง

คำว่า “รถ” ภาษาบาลีอ่าน ระถะ ต้องมีสองล้อจึงจะเคลื่อนที่ได้ เช่นเดียวกับ “รฐ” ภาษาบาลีอ่าน ระฐะ (รัฐ) ต้องมีสองล้อจึงจะเคลื่อนที่ได้เช่นกัน กงล้อแห่งอำนาจนั้น ล้อแรกคืออำนาจของพระราชา และต้องมีกงล้อแห่งธรรมะ คือศาสนามาคอยกำกับไม่ให้กงล้อบิดเบี้ยวด้วยอีกล้อหนึ่ง

ส.ศิวรักษ์ชี้ว่า แต่เดิมนั้นหน้าที่ของพระมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสมเด็จโต แต่ภายหลังบทบาทหน้าที่ของพระอ่อนเปลี้ย แทนที่พระจะช่วยประคับประคองเจ้า ช่วยคานอำนาจ แต่พระกลับเดินตามเจ้า

ครูบาเจ้าศรีวิชัย คือตัวอย่างของพระที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่ออำนาจของอาณาจักร เพราะศาสนจักรย่อมต้องอยู่เหนืออาณาจักร หรืออย่างน้อยต้องเดินคู่ขนานกันไป เหมือนล้อ “รถ” ที่เคลื่อน “รฐ”

คอยเตือนอาณาจักรได้ และจะต้องเข้าให้ถึงโลกุตรวัตร หากเข้าไม่ถึง อย่างน้อยต้องรักษาศีลาจารวัตรไว้ให้คงมั่น ไม่ให้ด่างพร้อย

 

สะอาดกาย สะอาดใจ
ไม่ติดในรสแห่งกาม เกียรติ กิน

พระพยอม กลฺยาโณ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเงินทอนวัด จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับพระอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัย เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความโปร่งใส สร้างวัดไหนจบวัดนั้น เงินที่เหลือจากการบริจาคทั้งหมดจะนำไป “ผวยสตางค์” หรือโปรยทานให้คนทุกข์คนยาก เมื่อไปสร้างวัดใหม่ก็ค่อยไปเริ่มต้นขอรับบริจาคใหม่ ไม่มีการยึกยักหอบเงินเข้าพกเข้าห่อตัวเองเหมือนพระสมัยนี้

สิ่งที่พระพยอม กลฺยาโณ สังเกตมาตลอดเกี่ยวกับพระภาคเหนือในเขตล้านนาคือ ส่วนใหญ่ไม่เคร่งครัดในการฉันมื้อเย็น แต่ทำไมครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมีความผิดแผกด้วยการ “ฉันแค่มื้อเดียว” แถมยังไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันแต่หัวเผือกหัวมัน ผักพื้นบ้านแบบง่ายๆ ตรงตามที่พระไตรปิฎกเขียนไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลายพึงรู้รสของอาหาร แต่ต้องไม่ติดในรสนั้น”

เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรํสี เคยนึกอยากฉันแกงส้มดอกแค ญาติโยมปีนต้นแคแล้วตกลงมา ทำให้สมเด็จโตนึกสลดใจ จึงไม่นึกอยากฉันแกงส้มดอกแคอีกเลยชั่วชีวิต

พฤติกรรมการกินอยู่ของมนุษย์คือเครื่องสะท้อนว่าใครเรียบง่าย ใครเรื่องมาก วัตรปฏิบัติของครูบาเจ้าศรีวิชัยด้านนี้ เป็นตัวตอกย้ำว่า แม้กายเนื้อของท่าน ท่านก็ไม่ปรารถนาที่จะให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อหนองของกาม เกียรติ กิน

การไม่รู้รสชาติของความอร่อย ทำให้ไม่อยากเสพ เช่นเดียวกับการไม่รู้รสของกาม ก็ไม่ปรารถนาที่จะหมกมุ่นในกาม

ดังเช่นการที่ ส.ศิวรักษ์พูดถึงสมเด็จโต ซึ่งได้กล่าวแก่รัชกาลที่ 4 ว่า “ปราสาทงามตระการตาดั่งราชรถ”

ประโยคแรกนี้อาจทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงแย้มพระสรวลได้ แต่ลองฟังประโยคถัดไป ผู้ฟังต้องถึงกับอึ้ง

“ผู้คนโง่หลงอยู่ ผู้รู้หาข้องเกี่ยวยินดีไม่”

ดังนั้น จึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมา พระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาคกลางคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรํสี ในขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถือว่าเป็นพระที่บริสุทธิ์มากที่สุดรูปหนึ่งบนแผ่นล้านนา

สะอาดทั้งใจ กาย จิตวิญญาณ เป็นผู้ไม่ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ใดๆ

วิทยากรทั้งสองท่าน คือ ส.ศิวรักษ์ และพระพยอม กลฺยาโณ เห็นพ้องตรงกันว่า ในวาระ 140 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้ ชาวล้านนาอาจไม่จำเป็นต้องงอนง้อยูเนสโกด้วยการเสนอชื่อท่านเป็นบุคคลดีเด่นของโลกแต่อย่างใด

ทว่าสิ่งที่ควรทำคือ การสร้างความงอกงามในสังคมสงฆ์ล้านนา ด้วยการฝึกให้พระหนุ่มเณรน้อยมีคุณภาพ มีคุณธรรม ได้สักกึ่งหนึ่งของคุณความดีที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างสมไว้เป็นแบบอย่าง

จะทำอย่างไรให้พระสงฆ์ภาคเหนือมีอิสระ ผลักตัวเองออกมาให้ได้จากการกดขี่ของอำนาจส่วนกลาง เข้าหาสาระพระศาสนาให้ใกล้ชิดมากที่สุด ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์ให้ได้ เหมือนดั่งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยกระทำไว้แล้วอย่างยิ่งใหญ่ ให้เป็นตัวอย่างแก่พระสงฆ์ภาคอื่นๆ