อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : There are More Monsoon Songs Elsewhere การจับคู่เปรียบ ระหว่างวัตถุในประวัติศาสตร์และความทรงจำ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมาอีกนิทรรศการ

ที่สำคัญ นิทรรศการก็ยังเปิดให้เข้าชมอยู่ด้วย (แปลว่ายังไปดูกันทันนะ!)

ในคราวนี้เลยขอหยิบเอามาเล่าสู่กันอ่านตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

There are More Monsoon Songs Elsewhere

เป็นนิทรรศการเดี่ยวของศิลปินหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ดุษฎี ฮันตระกูล ที่ประกอบด้วยผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบและวิธีการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพวาดลายเส้นบนกระดาษ, ภาพถ่าย และประติมากรรมจัดวาง

เมื่อเดินเข้าไปในห้องแสดงงานนิทรรศการแรกสุด สายตาของเราเหลือบไปเห็นประโยคตัวหนังสือตรงผนังทางเข้าที่มีใจความว่า “There should be more songs like “A hard rain”s A-gonna fall” for monsoon.” วรรคหนึ่งในประโยคนี้ดูๆ ไปก็เหมือนชื่อเพลงฮิตของเจ้าพ่อเพลงโฟล์กผู้เป็นตำนานของโลกดนตรีอย่างบ๊อบ ดีแลน

ซึ่งดุษฎีกล่าวถึงที่มาของตัวหนังสือประโยคนี้ว่า

“ผมชอบเนื้อหาของเพลง A hard rain”s A-gonna fall น่ะ มันเหมือนเล่าเรื่องของคนคนหนึ่งที่เดินไปเจอเหตุการณ์ต่างๆ นานา และตัวละครหนึ่งที่เขาเจอก็คือเด็กผู้หญิงที่เอาสายรุ้งให้เขา ซึ่งตัวละครนี้ทำให้ผมนึกไปถึงเพื่อนของผมที่เป็นศิลปินอเมริกันชื่อ อลิเซีย แม็กคาร์ธี (Alicia McCarthy) เธอทำงานวาดภาพเป็นแถบสีหลากสีสันเหมือนสายรุ้งที่สานไขว้กันเหมือนทอผ้า”

“ผมเลยจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวละครที่เดินอยู่และได้เจอเธอในเพลงนี้ อีกอย่างเพลงแบบนี้มีความเป็นการเมืองอยู่ข้างใน มันพูดถึงความล่มสลายของสังคม, ธรรมชาติ และยุคสมัย ผมก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีเพลงแบบนี้มากขึ้นสำหรับหน้ามรสุมที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ทั้งมรสุมจริงๆ และมรสุมที่เป็นคำเปรียบเปรยถึงช่วงวิกฤตของสังคมในปัจจุบัน”

ก่อนที่จะเข้าไปในห้องแสดงงานหลักของหอศิลป์ เราแวะเข้าไปดูงานในห้องแสดงงานเล็กก่อน ในนั้นมีภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบชิ้นเล็กกะทัดรัดแขวนอยู่ มันเป็นภาพวาดเส้นสายสนุกสนาน (บางภาพมีสีสันสดใส) คล้ายกับภาพวาดของเด็ก

 

We are the Wind Turbine 2

ตัวละครที่อยู่ในภาพวาดดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนตัวการ์ตูนฮิตของญี่ปุ่นในยุค 80, 90 อย่างคินนิคุแมนอยู่ไม่หยอก ซึ่งศิลปินก็เฉลยให้เราฟังว่า

“คินนิคุแมนเป็นการ์ตูนที่ผมชอบดูและชอบวาดรูปมันมาตั้งแต่เด็กๆ ผมว่าหน้ามันตลกดี บนหน้าผากของคินนิคุแมนก็จะมีตัวหนังสือญี่ปุ่นที่แปลว่า “เนื้อ” เขียนเอาไว้ ภาพวาดรอบครัวคินนิคุแมนพวกนี้เป็นเหมือนภาพแทนตัวเรา, เมียและลูกเรา ว่าเป็นคินนิคุแมน เป็นมนุษย์กินเนื้อด้วยกันทั้งหมด แล้วฉากหลังของตัวละครเหล่านี้บางภาพก็อยู่ในป่า บางภาพก็อยู่ในกังหันลมผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมันก็มีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะภาพพวกนี้เราใช้สีน้ำมันวาด ซึ่ง “น้ำมัน” ที่เป็นพลังงานยุคเก่า กับ “ไฟฟ้า” ที่เป็นพลังงานยุคใหม่ นั้นเป็นพลังงานคนละขั้วกัน”

“ส่วนเรื่องราวในภาพวาดพวกนี้เป็นเรื่องราวที่ผมประสบพบเจอมาตั้งแต่เด็กๆ และที่ทำในขนาดเล็ก ก็ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ เพราะสตูดิโอเราเล็กและเราก็ย้ายบ้านบ่อย ภาพวาดขนาดเล็กแบบนี้เราทำที่ไหนก็ได้”

เมื่อเข้าไปในห้องแสดงงานใหญ่ สิ่งแรกที่เราเห็นบนผนังทางซ้ายมือ เป็นภาพแขวนในกรอบไม้เรียงรายเป็นทิวแถว มองจากระยะไกลดูเหมือนเป็นภาพถ่ายวัตถุโบราณ

แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ถึงได้รู้ว่ามันไม่ใช่ภาพถ่าย หากแต่เป็นภาพวาดลายเส้นแบบไฮเปอร์เรียลลิสม์* ที่ (โคตร) เหมือนจริงต่างหาก!

โดยภาพวาดเหล่านี้เป็นภาพของกำไลโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคบ้านเชียง ที่มีอายุกว่า 3,000 ปี ที่ได้แบบมาจากกำไลตัวจริงที่อยู่ในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Los Angeles County (LACMA) ในลอสแองเจลิส, สหรัฐอเมริกานั่นเอง

“ต้นแบบของภาพกำไลบ้านเชียงพวกนี้ผมได้มาจากไฟล์ภาพของ LACMA ที่เปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดแบบสาธารณะ ผมสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับกำไลเหล่านี้ของพวกมันตรงที่อารยธรรมบ้านเชียงเป็นสังคมเพาะปลูกสังคมแรกๆ ของโลก และกำไลเหล่านี้ก็เป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้บอกสถานภาพและตัวตนของผู้สวมใส่ว่าคุณเป็นใคร และด้วยความที่กำไลเหล่านี้เป็นงานฝีมือที่ถูกช่างฝีมือในยุคนั้นทำขึ้นมา เราก็เอามันมาทำซ้ำด้วยวิธีการเชิงช่างที่ต่างกัน ซึ่งก็คือการเอาภาพเหล่านี้มาให้คนวาดขึ้นใหม่ และทำให้มันกลายเป็นวัตถุร่วมสมัยที่มีชีวิตอยู่ได้ในสมัยปัจจุบันด้วยตัวมันเอง”

ถัดจากผลงานดรอว์อิ้งกำไลบ้านเชียง บนผนังกลางของห้องแสดงงาน แขวนเรียงรายด้วยชุดภาพถ่าย (ที่ดูเหมือนจะย้อนยุค) ของเหล่าบรรดาผู้หญิงตะวันตกที่สวมชุดบิกินี่นอนทอดกายอย่างผ่อนคลายบนชายหาด ที่ถูกถ่ายโดยบุคคลไม่ทราบชื่อ ภาพถ่ายเหล่านี้ ดุษฎีบังเอิญค้นพบภาพถ่ายเหล่านี้ในลิ้นชักของตู้เก่าในร้านขายของมือสองบนถนน Wilshire Boulevard

“ภาพชุดนี้ผมตั้งชื่อว่า Artifacts (2007) ผมมองว่ามันเป็นเหมือนวัตถุโบราณบางอย่างที่สามารถบอกถึงวัฒนธรรมและสภาพสังคมและความเป็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งของคนในพื้นที่นั้นได้ ผมดูภาพพวกนี้แล้วจินตนาการว่าผู้หญิงพวกนี้กำลังนอนอาบแดดอยู่ แล้วอยู่ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งถ่ายภาพพวกเธอ ด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่สุด เราสามารถมองเห็นวิธีการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ในยุคหนึ่งผ่านเลนส์ของผู้ชายคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นของชุดว่ายน้ำ, ทรงผม, รองเท้า, เก้าอี้, ผ้าห่ม ฯลฯ ซึ่งการอาบแดดแบบนี้ก็เป็นวัฒนธรรมในสังคมของคนตะวันตกผิวขาวซึ่งคนไทยทั่วๆ ไปไม่ค่อยรับมาใช้ (นอกจากคนที่เคยไปอยู่เมืองนอกมา) ผมก็เอารูปถ่ายพวกนี้มาสแกนและปริ๊นต์ออกมาแจกในนิทรรศการของผมในปี 2010 ภาพชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ ผมก็เลยเอามาแสดงในนิทรรศการนี้”

ผลงานที่หยิบฉวยเอาวัตถุในประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าวิถีชีวิตของคนต่างยุคสมัยมาจำลองขึ้นใหม่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันสองชิ้นนี้ ต่างก็ทำการสะท้อนตัวตนของกันและกันและก่อให้เกิดบทสนทนาอันน่าสนใจขึ้นมา

ถัดมาอีกผนัง เป็นชุดภาพวาดลายเส้นบนกระดาษขนาดใหญ่จำนวนเจ็ดภาพ ที่มีลายเส้นสนุกสนานอิสรเสรีราวกับเป็นภาพวาดของเด็กๆ แต่ดูๆ ไปก็ทำให้เรานึกไปถึงภาพวาดของศิลปินนามธรรมชื่อก้องอย่างไซ ทวอมบลี (Cy Twombly) ด้วยเหมือนกัน

โดยทั้งเจ็ดภาพมีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป

บางภาพลายเส้นหนักหน่วง ฉับไว

บางภาพดูโปร่งเบาสบายตา

บางภาพดูสับสนขมุกขมัวยุ่งเหยิง

บางภาพดูมืดครึ้มหม่นมัว แต่ก็แฝงไว้ด้วยอารมณ์สนุกสนานไร้เดียงสา

บางภาพมีสีสันแต่เพียงน้อย

แต่บางภาพก็เต็มไปด้วยสีสันสดใสฉูดฉาด

“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยกล้าวาดภาพแบบนี้ เพราะเราคิดว่ามันดูเหมือนงานของเด็กไม่เดียงสา แต่ความจริงผมอยากวาดอะไรแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะผมชอบงานแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ชอบงานของไซ ทวอมบลี แต่ในสมัยเรียนงานแบบแอ็บสแตรกมันไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ พอมันกลับมาอีกครั้ง เราก็รู้สึกว่าอยากลองทำอะไรแบบนี้ดูบ้าง”

“ประจวบกับการที่น้องชายของผมเสียชีวิต ผมก็กลับมาคิดว่าเราอยากจะทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองมากกว่าเดิม อยากทำงานที่เราทำแล้วมีความสุข มันก็เลยออกมาเป็นงานชุดนี้ เรื่องราวก็เป็นอะไรที่ธรรมดามากๆ เป็นเรื่องที่ผ่านมาในชีวิต เรื่องลูก เรื่องครอบครัว บางคนอาจเขียนเรื่องพวกนี้ลงไดอารี่ใช่ไหม? ผมก็เขียนไดอารี่ด้วยภาพ เพื่อย้ำเตือนว่าช่วงเวลาหนึ่งเราเคยผ่านเรื่องราวเหล่านี้มา”

ภาพวาดลายเส้นจากความทรงจำที่เต็มไปด้วยความอิสระไร้กฎเกณฑ์เหล่านี้เอง ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนคู่เปรียบและภาพสะท้อนในมุมกลับของภาพวาดลายเส้น (โคตร) เหมือนจริงของกำไลบ้านเชียงบนกำแพงฝั่งตรงข้าม และสร้างบทสนทนาอันน่าสนใจขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ตั้งอยู่กลางห้องแสดงงาน เป็นผลงานประติมากรรมจัดวางที่ดุษฎีทำร่วมกับนรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบแห่งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Flo

โดยดุษฎีทำประติมากรรมดินเผารูปทรงอิสระ สนุกสนาน ไร้กฎเกณฑ์ ดูคล้ายกับตุ๊กตาดินปั้นของเด็กๆ วางอยู่บนแท่นวางหน้าตาโมเดิร์นแปลกตาที่ประกอบขึ้นจากแท่งไม้หกเหลี่ยมที่มีลักษณะคล้ายกับดินสอ (ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการวาดภาพ) ซึ่งนรุตม์ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากคอลเล็กชั่นเฟอร์นิเจอร์ชุด “ดินสอ” ของเขา

ประติมากรรมดินเผาของดุษฎีบนแท่นวางของนรุตม์ นอกจากจะกระตุ้นให้เราสัมผัสกับความแตกต่างสุดขั้วระหว่างวัตถุสองประเภทแล้ว ผลงานชุดนี้ยังทำให้เรานึกไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันและสะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเฟอร์นิเจอร์ออกมาได้ นี่ยังไม่นับรวมวัตถุสำเร็จรูปอย่างชั้นวางของยี่ห้อมูจิที่ดุษฎีหยิบมาเป็นฐานวางประติมากรรมของเขาอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย

ผลงานในนิทรรศการนี้ นับเป็นการจับคู่เปรียบระหว่างวัตถุในประวัติศาสตร์และความทรงจำ ความเหมือนและไม่เหมือนจริง ความประณีตจริงจังและความอิสรเสรี ได้อย่างสนุกสนานและน่าสนใจ จนไม่อยากให้พลาดที่จะไปชมงานของเขาจริงๆ อะไรจริง!

นิทรรศการ There are More Monsoon Songs Elsewhere จัดแสดงที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ซอยต้นสน, ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม โดยเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน – 23 กันยายน 2018 ทุกวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น.

ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามข้อมูลได้ที่ อีเมล : [email protected], เฟซบุ๊ก @100tonsongallery, โทรศัพท์ 0-2010-5813

ขอบคุณภาพจาก 100 ต้นสน แกลเลอรี่

*อ่านเกี่ยวกับไฮเปอร์เรียลลิสม์ ได้ที่นี่ https://bit.ly/2LNtden