ท่วงทำนอง เหลือบดู เรื่องของ ภาษาคน ภาษาธรรม กระบวนท่า วิปัสสนา

เหตุใดท่านพุทธทาสภิกขุจึงใช้และเน้นแต่คำว่า “ความว่าง” แทนที่จะใช้และเน้นแต่คำว่า “สุญญตา”

นี่เป็นเรื่องน่าศึกษา น่าทำความเข้าใจ

น่าศึกษาและน่าทำความเข้าใจไม่เพียงแต่บทบาทและความหมายของคำว่า “ความว่าง” หากแต่ยังอยู่ที่รูปของคำ รูปของภาษา

เหมือนท่านใช้คำว่า “เหลือบดู” แทนคำว่า “วิปัสสนา”

เจตนาคงไม่ต้องการให้บทบาทและความหมายของคำว่า “สุญญตา” ความหมายของคำว่า “วิปัสสนา” แปรเปลี่ยนไปสู่กรอบแห่ง “สามานย์” แน่นอน

ตรงกันข้าม เป็นการใช้คำอย่างเป็นเงาสะท้อนในทางความคิด

นั่นก็คือ แปรลักษณะ “นามธรรม” ผ่านกระบวนการอันยุ่งยากของภาษาบาลีและสันสกฤตออกมาเป็นภาษาไทยอย่างมีลักษณะใกล้เคียงกับ “รูปธรรม”

เป็นรูปธรรมแห่งสภาวะของ “ความว่าง”

เป็นรูปธรรมแห่งสภาวะของ “เหลือบดู”

เหล่านี้เมื่อศึกษาเรื่องราวความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่าง “ภาษาธรรม” กับ “ภาษาคน” จะยิ่งเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

เจตนาและเป้าหมายมิได้ต้องการทำให้ “ธรรมะ” กลายเป็นของดาษๆ เหมือนแบกะดิน ตรงกันข้าม กลับเพิ่มความรับรู้ เพิ่มความเข้าใจ ในเชิงปฏิบัติ ในทางความเป็นจริงอย่างแตะต้องสัมผัสได้โดยตรง

ขอให้อ่าน

ข้อสุดท้ายก็คือ ถ้าได้เผลอไปบ้างในบางครั้งบางคราวแล้วก็ต้องเอามาละลายให้มาก เอามากลัวให้มาก เอามาคิดนึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างยิ่ง นี่เรียกว่ามี “หิริ”

เอามาคิดนึกดูว่า ในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง นี่เรียกมี “โอตตัปปะ”

“หิริโอตตัปปะ” นี้มากขึ้นเท่าไรแล้ว เราจะเผลออยากขึ้นเท่านั้น

ให้เปรียบเทียบกันดูกับเรื่องทางวัตถุที่เราไม่เผลอ เช่น ทำไมเราไม่เดินตกร่อง นี่เพราะเข็ดขยาดที่หน้าแข้งถลอก เจ็บ เราก็ไม่เดินตกร่อง

แต่ทำไมเราจึงตกร่องชนิดนี้

นี่ก็เพราะเราไม่ระวังให้มากเหมือนอย่างนั้นมันจึงตกร่องบ่อยๆ คือ เกิดราคะ โทสะ โมหะ บ่อยๆ

หรือว่าเพราะเราไม่กลัวให้มากพอ หรือเหมือนอย่างว่าเราไม่ไปทำอะไรที่น่าละอายกลางถนนหนทางอย่างเด็ดขาด นั่นก็เพราะเราละอายมาก

ทีเรื่องอย่างนี้ทำไมเราไม่ละอายให้มาก เรื่องไปมีจิตหลงรัก หลงเกลียด หลงใหล มัวเมา ทำไมเราจึงไม่ละอายให้มากเหมือนอย่างนั้น เหตุผลมันง่ายๆ เพราะเราไม่กลัวให้มาก ไม่ละอายให้มาก และเพราะเราสนใจต่อเรื่องนี้น้อยเกินไป

เราไปสนใจเรื่องอื่นเสียหมด เรื่องนี้จึงไม่ได้รับโอกาส ไม่ได้รับความเป็นธรรมพอ

ฉะนั้น เราต้องให้เวลาให้โอกาสแก่เรื่องนี้บ้าง คือแบ่งเวลาแบ่งโอกาสมาทำ “วิปัสสนา” คือเหลือบตาดูโลกในลักษณะที่เป็นของว่างอยู่บ่อยๆ ให้มากพอกัน มันก็จะกลายเป็นของง่าย

ไม่ยากเหมือนที่เคยนึกกัน

โดยที่แท้นั้นพระพุทธเจ้าทรงหวังว่า การหาเงินหาทองหรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นั้นอย่าได้มีความทุกข์เลย ก็คือให้เอาธรรมะผนวกเข้าไปด้วย

ให้ธรรมะเป็นเครื่องควบคุมชีวิตจิตใจอยู่ตลอดเวลา

ในขณะพักผ่อนก็ดี ทำการงานดีก็ดี ฯลฯ ให้มี “สติสัมปชัญญะ” ว่า โลกเป็นของว่างควบคุมอยู่ตลอดเวลา คือมีธรรมะควบคุมอยู่ตลอดเวลา มันก็จะได้รับแต่ส่วนที่ “ว่าง” ของโลก คือไม่เป็นทุกข์

ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็จะได้รับแต่ส่วนที่ “ไม่ว่าง” มาก คือ มันปรุงเป็นความ “ไม่ว่าง” แล้วก็เป็นทุกข์ เหมือนกับกินปลาโดยไม่ระวัง กินก้างเข้าไปก้างก็ติดคอแล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าฉลาดและมี “สติสัมปชัญญะ” พอก็กินแต่เนื้อปลาไม่กินก้าง ก็ไม่เกิดความทุกข์

ฉะนั้น ถ้าเรารู้จักข้อที่โลกนี้เป็น “ของว่าง” จิตนี้เป็น “ของว่าง” อยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรมัน “ว่าง” อยู่แล้ว ระวังแต่ให้มัน “ว่าง” อยู่ตามเดิม ด้วย “สติสัมปชัญญะ” และ “ความรู้” ที่ถูกต้อง

ทีนี้ ประกอบการงานก็ยิ่งสนุกสนาน ไม่มีทุกข์ มีเงินเก็บไว้ก็ไม่เป็นทุกข์เพราะความห่วง ความกังวลจนนอนไม่หลับ หรืออะไรทำนองนี้ ทุกอย่างจะไม่มีความทุกข์เลยถ้าธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้อง ธรรมะก็คือ “ว่าง” ที่เรียกว่าธรรมะคือธรรมชาติ 4 อย่างนั้นเป็น “ของว่าง” อยู่แล้ว

สิ่งที่เรียกว่า “ว่าง” ก็คือ “ธรรมะ” ธรรมะคือ “ว่าง” ว่างคือ “ธรรมะ” ถ้ามี “ธรรมะ” ก็คือ “ว่าง”

ขอให้จำไว้ด้วยว่า คำพูดคำเดียวแท้ๆ พยางค์เดียวแท้ๆ นี้แสดงความจริงหรือสัจธรรมทั้งหมด

คำคำนี้คือคำว่า “ว่าง”

จากนี้จึงน่าจะเห็นตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุสำแดงความห่วงใยและเรียกร้องให้ “เหลือบดู” อยู่จนเป็นจิตสำนึก

เพราะเมื่อ “เหลือบดู” ก็ย่อมจะ “รู้”

และเมื่อ “รู้” ก็ย่อมดำรงอยู่อย่างมี “สติ”