เลือกตั้งกัมพูชา ชัยชนะของฮุน เซน และจีน

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศชัยชนะการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาที่มีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

พร้อมทั้งระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “เสรี เป็นธรรม และถูกต้องตามกฎหมาย”

แม้ว่าจะเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกก็ตาม

ชัยชนะดังกล่าวจะยืดระยะเวลาของฮุน เซน หัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) วัย 65 ปี ที่ปกครองประเทศเพื่อนบ้านของไทยแห่งนี้มายาวนาน 33 ปี ให้มีต่อเนื่องออกไปอีก 5 ปี

ชัยชนะของซีพีพี เป็นที่คาดหมายเอาไว้แล้ว ผลจากความพยายามของรัฐบาลกัมพูชาในการกวาดล้างพรรคฝ่ายค้าน สื่อมวลชน กลุ่มประชาสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคคู่แข่งสำคัญที่เคยท้าทายซีพีพี ด้วยคะแนนสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2013

แม้ว่าจะต้องรอผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้อีกครั้ง

แต่ สก อีสาน โฆษกพรรคซีพีพี ได้ประกาศชัยชนะพร้อมกับระบุว่าสามารถคว้าเก้าอี้ได้เกือบทั้งหมดในสภาที่มีอยู่จำนวน 125 ที่นั่ง

หลังจากผลนับคะแนนเบื้องต้นพบว่าพรรคซีพีพีได้คะแนนเสียงไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึง 82 เปอร์เซ็นต์

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา หรือแม้แต่ออสเตรเลีย

ทั้งหมดประสานเสียงกับพรรคฝ่ายค้านพลัดถิ่นอย่างซีเอ็นอาร์พี ที่เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า “ประชาธิปไตยในกัมพูชาได้ตายไปแล้ว” และเป็นการเปิดยุคแห่งความมืดมนในหน้าประวัติศาสตร์กัมพูชา นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกดำเนินการคว่ำบาตรอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการทำเพียงแค่ประณามการเลือกตั้ง

มีเพียงจีนเท่านั้นที่แถลงการณ์ “แสดงความยินดี” กับชัยชนะของฮุน เซน ในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ภายใต้การปกครองของฮุน เซน การลงทุนของรัฐบาลจีนมูลค่ามหาศาลส่งให้กัมพูชากลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นับตั้งแต่ปี 1994 จีนลงทุนในกัมพูชาเป็นมูลค่าสูงถึง 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของจีนช่วงชิงอิทธิพลในกัมพูชาที่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐในแบบลุ่มๆ ดอนๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จนกระทั่งในปี 2017 จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชาได้ ด้วยมูลค่าการค้า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 22 เปอร์เซ็นต์

จีนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาล หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งครั้งนี้ จีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินและอุปกรณ์สำหรับการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงพนมเปญร่วมเดินขบวนหาเสียงร่วมกับพรรคซีพีพีด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองผู้เชี่ยวชาญ การสนับสนุนทางเศรษฐกิจของจีนนั้นมีผลดีสำหรับประชาชนกัมพูชาเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะส่งผลเสียในบางกรณี

“บริษัทจีนที่มาลงทุนในกัมพูชานั้นมักจะนำแรงงานมาเองเพื่อสร้างถนน เขื่อน หรือสะพาน ขณะที่ชาวบ้านนั้นสูญเสียที่ดินให้กับโครงการก่อสร้างเหล่านั้น” เซบาสเตีย สแตรนจิโอ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Hun Sen”s Cambodia” ระบุ และว่า หนี้ครัวเรือนของกัมพูชาก็กลับสูงขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

บทวิเคราะห์ของเว็บไซต์ “ไฟแนนเชียลไทม์ ระบุถึงภาพสะท้อนที่กว้างออกไปว่า ความล้มเหลวของประชาธิปไตยในกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงเสรีภาพที่เริ่มมีรอยร้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่า นั่นเป็นอะไรที่สมเหตุสมผล เมื่อพูดถึงการสร้างอิทธิพลในภูมิภาคของจีน โดยเฉพาะเมื่อกัมพูชาเป็นประเทศแหล่งการลงทุนใหญ่ของจีน

ขณะที่กัมพูชาเองทำหน้าที่ในฐานะเป็นปากเป็นเสียงให้กับจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน ป้องกันไม่ให้อาเซียนสร้างเอกภาพในการต่อต้านการอ้างสิทธิของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนจีนก็ตอบแทนกัมพูชาด้วยการสนับสนุนทั้งทางการเงินและทางการเมืองต่อรัฐบาลฮุน เซน อย่างเต็มที่

จากนี้ไปในแง่การเมืองระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคคงจะได้เห็นการขยายอิทธิพลของจีนในกัมพูชามากยิ่งขึ้นเมื่อกัมพูชาหันหลังให้ชาติตะวันตกอย่างเต็มตัว

 

ขณะที่การเมืองภายในเอง คำถามสำคัญก็คือ พรรคซีพีพีภายใต้การนำของฮุน เซน จะนำประเทศให้เติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหนในบรรยากาศทางการเมืองที่เอื้อให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิด และคอร์รัปชั่นได้อย่างง่ายดาย

ขณะที่พรรคเล็กๆ ที่เหลือบางพรรคอย่างสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่เคยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วถึง 2 ครั้งจะสามารถเติบโตเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้มากน้อยเพียงใด

หรือบางที “การแข่งขันทางการเมืองอย่างเป็นธรรม” ในกัมพูชานั้นอาจไม่มีวันเกิดอีกเลยก็เป็นได้