เดินเล่นไปดูแสตมป์ไทยที่เนปาล

ตั้งหัวข้อให้มันตื่นเต้นไปยังงั้นแหละ ปรากฏว่าเรื่องตื่นเต้นกว่า เล่าค้างไว้เมื่ออาทิตย์ก่อนว่าที่มหาวิหารอักเษศวรที่เราไปจัดงานประชุมนั้น มีงานนิทรรศการแสตมป์ควบคู่กันไป

เฉพาะโปสเตอร์ที่เขาติดโฆษณางานก็น่าสนใจแล้วค่ะ แสตมป์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 13×18 ซ.ม. จากมองโกเลียค่ะ จริงๆ แล้วแสตมป์นี้เป็นรูปทังก้าดีๆ นี่เอง ตรงกลางเป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนี องค์ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี โดยรอบเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน เห็นแล้วขนลุกด้วยความปีติค่ะ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ อยู่ในแสตมป์ดวงเดียว ดวงที่ใหญ่ที่สุดในโลก อื้อฮือ

ที่เนปาลมีชาวเนปาลที่เล่นแสตมป์ระดับนานาชาติ 5 คนค่ะ เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน

คนที่เราพบนี้เป็นหนึ่งในสามที่เหลืออยู่ อัธยาศัยดีมาก ทำงานกับสหประชาชาติมาตลอดชีวิตจนเกษียณ

ท่านชื่อ คุณวิโนด (Binod) (ว กับ พ แผลงกันได้) นามสกุลเศรษฐะ ก็รวยน่ะซี เป็นวรรณะพราหมณ์ค่ะ

หน้าตาดี มารยาทดี พูดภาษาอังกฤษชัดและเป็นกันเอง

 

ทันทีที่ท่านธัมมนันทาไปถึงมหาวิหาร คุณวิโนดกำลังจัดแสตมป์เตรียมงานอยู่ ก็พาภรรยามาทักทายทำความรู้จัก โดยบุคลิกที่น่าประทับใจ ก็ทำให้เราเริ่มสนใจงานของคุณวิโนด

และเพราะทราบว่าเรามาจากประเทศไทย คุณวิโนดให้ข้อมูลว่า แสตมป์ทางฝ่ายเถรวาทที่มีเรื่องราวศาสนาพุทธปรากฏบนแสตมป์มากที่สุดคือ ประเทศศรีลังกาและประเทศไทย

ส่วนมหายานนั้น ประเทศที่มีเรื่องราวพุทธศาสนาอยู่บนแสตมป์มากที่สุดคือ ประเทศมองโกเลียและภูฐานค่ะ ผิดความคาดเดาของเราไปนะ

เดาอย่างคนที่ไม่รู้นึกว่าจะเป็นญี่ปุ่นกับเกาหลี

คุณวิโนดเล่าว่า แสตมป์ที่ท่านสะสมไว้นั้น น่าจะมีมูลค่าโขอยู่ ลูกหลานจะสนใจดูแลอย่างไรหรือไม่ก็ไม่สามารถจะคาดเดาได้

วิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาองค์ความรู้ไว้ให้ยาวนานคือพิมพ์เป็นหนังสือ

ท่านลงทุนพิมพ์แสตมป์ที่สะสมทั้งหมด พร้อมประวัติที่มาของแสตมป์ เป็นความคิดที่แยบยลมาก มีหนังสือที่พิมพ์ออกเผยแพร่แล้วด้วยคุณภาพเยี่ยมสี่สี พร้อมการจัดวาง แยกประเภทที่น่าสนใจ

 

วันนี้ เล่าถึงแสตมป์ไทยก่อน แสตมป์ไทยที่เก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 และแสตมป์ไทยที่มีเรื่องราวของศาสนาพุทธปรากฏก็อยู่ในสมัยนี้ เป็นแสตมป์ที่มีรูปของรัชกาลที่ 5 ข้างใต้เป็นรูปลายเส้นละเอียดมากของวัดอรุณค่ะ

ที่ตื่นเต้นแปลกใจคือ แสตมป์ที่มีพระพุทธรูปรุ่นแรก ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เป็นแสตมป์จากปากีสถาน รูปพระพุทธรูปยืนที่ใหญ่ที่สุด สูงถึง 55 เมตร ที่บามิยัน ที่ทาลิบันระเบิดทำลายไปในสมัยต่อมานั่นแหละค่ะ

ตั้งใจจะพูดถึงแสตมป์ไทย แต่เฉไฉออกนอกเรื่องไป

เมื่อเปรียบเทียบกับแสตมป์ประเทศอื่นๆ ที่ปรากฏเรื่องราวของพุทธศาสนา ประเทศไทยโดดเด่นเรื่องการนำเสนอพระเครื่องบนแสตมป์ค่ะ เยอะมาก และครอบคลุมไปถึงกระทั่งจตุคามรามเทพที่ฮือฮากันอยู่พักหนึ่ง

เมื่อศึกษาโดยดูจากการเปรียบเทียบแล้วก็เลยเข้าใจไปถึงวัฒนธรรมของไทยด้วย ดูว่าน่าจะเป็นชาติเดียวที่เล่นพระเครื่องกันเป็นล่ำเป็นสัน

ในสมัย 50-60 ปีก่อนนั้น (ตอนนี้ 2561) ก็ยังเน้นรูปพระพุทธเจ้าเป็นหลัก อย่างเช่น พระเครื่องของสมเด็จโตที่นิยมกันมากนั้น ก็เป็นรูปพระพุทธเจ้า แต่สร้างโดยสมเด็จโต

แต่ในสมัยต่อมากลายเป็นรูปของหลวงปู่ต่างๆ เอง ออกมาปรากฏโดยเฉพาะถ้าเป็นเหรียญห้อยคอ ที่ปรากฏบนแสตมป์ มีหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่สุข เป็นต้น

แสดงถึงการย้ายความสำคัญจากพระพุทธเจ้ามาสู่พระอาจารย์ต่างๆ ผู้เขียนเองคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง หรือบางทีอาจจะเป็นลูกศิษย์ที่ทำถวาย แต่เราไม่ควรไปไกลจากพระพุทธเจ้า

ตรงนี้อาจจะอ่านได้ว่า เราเลื่อนความสำคัญจากพระพุทธมาเป็นพระสงฆ์ ในศรีลังกาไม่นิยมเลย

พระมหายานรูปหนึ่งอาจจะได้ค่านิยมไปจากพระไทย ท่านก็มีเหรียญแจก แต่เหรียญของท่านเป็นรูปธรรมจักร

นั่นก็คือการขยับสัญลักษณ์จากพระพุทธมาเป็นพระธรรม

 

ลองดูแสตมป์เครื่องรางนะคะ

ใน พ.ศ.2554 กรมไปรษณีย์ของไทยได้ผลิตแสตมป์ชุดพระเครื่อง อย่างละ 5 ดวง ดวงละ 9 บาท ออกมา 2 ชุด

ชุดหนึ่งเป็นเบญจภาคี ที่คนไทยนิยม เวลาห้อยคอก็ต้องมีทั้ง 5 องค์ ตั้งแต่พระนางพญา ซึ่งดั้งเดิมมาจากวัดนางพญา จ.พิษณุโลก เชื่อกันว่า พระนางวิสุทธิกษัตริย์โปรดให้สร้างขึ้น และพบใน พ.ศ.2444 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงประกอบพิธีที่วัดนางพญา

พระกำแพงซุ้มกอ ได้มาจากจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อสมเด็จโตไปเยี่ยมญาติใน พ.ศ.2392 ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม

พระสมเด็จ ที่นิยมที่สุดคือสมเด็จวัดระฆัง ผลิตในช่วง พ.ศ.2409-2414 สมเด็จโต วัดระฆังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พ.ศ.2415

พระรอดพิมพ์ใหญ่ ได้มาจากพระเจดีย์วัดมหาวันในจังหวัดลำพูน สร้างใน พ.ศ.1766 ทั้งนี้เพราะรูปร่างเหมือนกับพระรอดหลวงซึ่งเป็นพระประธานที่วัดนั้น

พระผงสุพรรณ ได้มาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี พบครั้งแรก พ.ศ.2456 โดยชาวจีนที่ทำนาในบริเวณนั้น

นี่เป็นชุดเบญจภาคีที่ปรากฏในแสตมป์

 

อีกชุดหนึ่ง 5 องค์เหมือนกัน แต่คราวนี้เป็นพระยอดขุนพล เป็นที่นิยมในหมู่ทหารหาญ พระยอดชุนพลเนื้อชิน มีประวัติความเป็นมาระหว่าง 500-800 ปีมาแล้ว

มีพระร่วงรางปืน พบที่จังหวัดสุโขทัย พระหูยาน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี พระชินราชใบสีมา พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่พิษณุโลก พระมเหศวร ได้จากพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี

ท่านผู้อ่านที่เป็นนักเล่นพระเครื่องจะตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลของคุณวิโนดที่ผู้เขียนนำมาเสนอนี้มีความถูกต้องประการใด

คุณวิโนดสะสมแสตมป์ ไม่ใช่นักสะสมพระเครื่อง ส่วนผู้เขียนไม่รู้ทั้งเรื่องแสตมป์และพระเครื่อง

หลวงปู่ทิม วัดวิหารไร่ (พ.ศ.2422-2518) ท่านเป็นพระกัมมัฏฐาน บวชอยู่นานถึง 72 พรรษา พระที่ท่านสร้างมีชื่อเสียงจนปรากฏบนแสตมป์ไม่เข้าชุดกับคนอื่นๆ เป็นพระกริ่งชินบัญชร ที่ปรากฏบนแสตมป์ เป็นอิทธิพลเขมร แบบเดียวกับพระไภษัชยคุรุที่ทางรัฐบาลนำออกมาให้สักการะทุกวันปีใหม่ พระกริ่งที่ชาวไทยรู้จักเป็นองค์เดียวกับพระไภษัชยคุรุนั่นแหละค่ะ

ในบรรดาพระเกจิทั้งหลาย ผู้เขียนต้องยกให้หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เป็นที่ 1 น่าจะเป็นพระเกจิรูปเดียวที่มีพระผงพิมพ์เป็นตัวท่านมากที่สุด

ตอนที่ท่านธัมมนันทาไปทำงานที่สามจังหวัดภาคใต้ ชาวท้องถิ่นต่างศาสนาก็นิยมพระพิมพ์หลวงปู่ทวดค่ะ

 

หลวงปู่ทวดในประวัติของท่าน เกิด พ.ศ.2125 อ.สทิงพระ จ.สงขลา มีประวัติความอัศจรรย์ตั้งแต่ตอนที่มารดาคลอดท่านทีเดียว หลายอำเภอในสงขลามีชื่ออำเภอ หรือชื่อสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติของหลวงปู่ทวด

แม้กระทั่งอำเภอสทิงพระในปัจจุบันนั้น เดิมชื่อว่า จะทิ้งพระ เพราะหลวงปู่เดินทางไปกับเรือเดินทะเล เมื่อประสบภัย นายเรือเห็นว่าหลวงปู่ซึ่งเป็นพระภิกษุที่อาศัยมาในเรือนั้นน่าจะเป็นกาลกิณี เพราะท่านผิวคล้ำมาก จึงคิดจะทิ้งท่าน จึงได้ชื่อว่า จะทิ้งพระ

ชาวเรือขาดแคลนน้ำจืด หลวงปู่ก็เอาเท้าเหยียบลงไปในน้ำ ให้ชาวเรือตักขึ้นมาปรากฏว่าเป็นน้ำจืดไว้ดื่มกินได้ เขาจึงเรียกท่านว่า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประวัติของท่านน่าสนใจมาก พระผงของท่านเป็นที่นิยมในเรื่องให้ความคุ้มครองเมื่อมีภัย

พระพิมพ์หลวงปู่ทวดปรากฏบนแสตมป์ราคา 9 บาท ผลิตเมื่อ 2505

หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เป็นพระเกจิที่มีชื่อในสมัยรัชกาลที่ 2 (เกิด พ.ศ.2353) ท่านมาจากจังหวัดพิจิตร เป็นศิษย์ของหลวงพ่อสมเด็จโต พรหมรังสี เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีอายุยืนยาวถึง 111 ปี เครื่องรางของท่านเป็นรูปหล่อองค์ท่านขนาดเล็กไว้เป็นเครื่องรางห้อยคอ นักเล่นพระเครื่องจะชื่นชมมากเป็นพิเศษ

อีกองค์หนึ่งที่ต้องกล่าวถึง คือครูบาศรีวิชัย เกิด พ.ศ.2421 ในจังหวัดลำพูน เป็นพระที่มีชื่อเสียงได้รับความเคารพมากที่สุดในล้านนา มีความขัดแย้งกับฝ่ายปกครองสงฆ์ส่วนกลาง ถูกเรียกตัวลงมากรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้ง ท่านเป็นผู้รวบรวมศรัทธาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เสียดายที่ท่านมรณภาพอายุเพียง 59 ปี

เหรียญห้อยคอรูปตัวท่าน ปรากฏในแสตมป์ราคา 9 บาท เข้าใจว่าชุดแสตมป์ที่สร้างเกี่ยวกับพระเครื่อง พระเกจิ จะราคาเดียวกันทั้งหมด

 

ในขณะที่ชาวไทยให้ความสนใจในพระเครื่อง ก็มีสมัยหนึ่งไม่นานมานี้ ช่วง พ.ศ.2530 ที่ชาวไทยให้ความสนใจจตุคามรามเทพ ที่เริ่มต้นมาจากนครศรีธรรมราช จำได้ว่ามีการขึ้นไปเททองกันบนเครื่องบินก็มี

การไปรษณีย์ของไทยก็บันทึกประวัติศาสตร์ไว้ให้ โดยการออกแสตมป์ชุดจตุคามรามเทพ เป็นชุด 6 ดวง ดวงละ 9 บาทเหมือนกัน

เรื่องแสตมป์ ถ้าเราจะศึกษากันจริงจัง ก็เป็นการศึกษาเรื่องพุทธศาสนาได้จากเรื่องราวที่ปรากฏบนแสตมป์ข้ามประเทศ

ผู้เขียนก็เข้าใจผิดว่า ถ้าเป็นแสตมป์พุทธ ก็น่าจะมาจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนา หามิได้เลยค่ะ เพิ่งเห็นแสตมป์เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ มาจากแกมเบียค่ะ

คราวหน้าจะชวนดูแสตมป์จากเลนส์ของสตรีศึกษาค่ะ