การศึกษา / ปฏิญญามหาสารคาม บ่อนทำลาย… ‘ครูไทย’??

การศึกษา

 

ปฏิญญามหาสารคาม

บ่อนทำลาย… ‘ครูไทย’??

 

ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงพูดคุยกัน สำหรับ “ปฏิญญามหาสารคาม”
หรือที่เรียกกันแบบเข้าใจง่ายๆ คือ “ปฏิญญาครูเบี้ยวหนี้”
ที่เกิดจากครูที่เกษียณอายุราชการแล้วกลุ่มหนึ่งกว่า 100 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหา “หนี้ครู” เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยข้อเรียกร้องมี 2 ข้อหลักๆ ได้แก่
1. ขอให้รัฐบาล และธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
และ 2. ให้ลูกหนี้ ช.พ.ค. จำนวน 4.5 แสนคน ยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ครูกลุ่มนี้อย่างหนัก โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ให้ครูซึ่งเป็นลูกหนี้ ช.พ.ค. เกือบ 5 แสนคน “หยุด” จ่ายหนี้ธนาคารออมสิน

หลังเกิดปฏิญญามหาสารคาม ทางตัวแทนครูภาคใต้อย่างนายสมพงศ์ ปานเกล้า ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูภาคใต้ ยืนยันว่ากรรมการสมาพันธ์ครูภาคใต้ และครูภาคใต้ ถึง 90% ไม่เห็นด้วยกับปฏิญญามหาสารคาม และจะไม่เข้าร่วมเด็ดขาด
นายสมพงษ์ระบุว่า มีเพียงครูกลุ่มน้อยประมาณ 20% ของครูที่กู้เงิน ช.พ.ค. ทั้งหมด 450,000 คน ที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ต้องใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนพิเศษกว่า 1 หมื่นล้านบาท ชดใช้เงินแทนครูที่เบี้ยวหนี้ 3 เดือนติดต่อกัน
ขณะที่ครูส่วนใหญ่อีก 80% ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่ได้เห็นด้วยกับกลุ่มครูที่ออกมาเคลื่อนไหวเบี้ยวหนี้
ส่วนนายคำพันธ์ พระเอก นายกสมาคมชาวมัธยมศึกษาอาวุโสแห่งอุดรธานีและหนองบัวลำภู (องค์กรสาธารณประโยชน์) หรือ สมออน. ได้ประชุมคณะกรรมการ และสมาชิกสมาคมเป็นการด่วน ก่อนที่จะออกแถลงการณ์คัดค้านปฏิญญามหาสารคามเช่นกัน
โดยประกาศปฏิญญาว่า “ชาวมัธยมศึกษาอาวุโสแห่งอุดรธานี และหนองบัวลำภู เราจะชำระหนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม”

ทั้งนี้ หากย้อนดูข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 พบว่า มีผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.1-7 จากธนาคารออมสิน และ สกสค. มีดังนี้
โครงการ ช.พ.ค.1 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 10,519 บัญชี เป็นเงิน 2,030.89 ล้านบาท
โครงการ ช.พ.ค.2-3 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 23,404 บัญชี เป็นเงิน 2,623.49 ล้านบาท
โครงการ ช.พ.ค.4 วงเงิน 2 แสนบาท จำนวน 4,803 บัญชี เป็นเงิน 624.04 ล้านบาท
โครงการ ช.พ.ค.5 วงเงิน 6 แสนบาท จำนวน 45,573 บัญชี เป็นเงิน 20,113.65 ล้านบาท
โครงการ ช.พ.ค.6 วงเงิน 1.2 ล้านบาท จำนวน 175,780 บัญชี เป็นเงิน 146,943.87 ล้านบาท
และโครงการ ช.พ.ค.7 วงเงิน 3 ล้านบาท จำนวน 223,499 บัญชี เป็นเงิน 238,586.99 ล้านบาท
รวมโครงการ ช.พ.ค. ทั้ง 7 โครงการ มีผู้กู้ 483,578 บัญชี คิดเป็นวงเงินกู้ถึง 410,923 ล้านบาท!!

หลังกลุ่มครูใน จ.มหาสารคาม ประกาศปฏิญญาเบี้ยวหนี้ ก็เกิดปฏิบัติการ “ดัดหลัง” จากธนาคารออมสินแทบจะในทันที
เมื่อนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีหนังสือ “ด่วน” ที่ บก. 4856/2561 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ส่งถึงกรรมการผู้จัดการ หรือหัวหน้าสำนักงาน ขอให้เร่งดำเนินการฟ้องคดีกับลูกหนี้สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ภายในเดือนสิงหาคมนี้
แม้ทางผู้บริหารจะออกตัวว่า เป็นการออกหนังสือปกติของธนาคารก็ตาม
โดยหนังสือดังกล่าวอ้างอิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้ค้างชำระ และไม่เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับการแก้ไขหนี้สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือไม่ติดต่อชำระหนี้กับธนาคาร โดยธนาคารได้แบ่งลูกหนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้เขตมอบหมายให้บอกกล่าวทวงถาม หรือบอกเลิกสัญญาเรียบร้อยแล้ว ให้เร่งดำเนินการฟ้องคดี แบ่งเป็น 1.ตรวจสอบคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ และประสานกับศูนย์ควบคุมฯ เพื่อขออนุมัติ และฟ้องคดีให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และ 2.กรณีลูกหนี้รายใดที่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาใหม่ ให้เร่งบอกเลิกสัญญา และฟ้องคดีให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนกลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่ศูนย์ควบคุมฯ อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือแจ้งให้บอกกล่าวทวงถาม หรือบอกเลิกสัญญา ขอให้เร่งกระบวนการฟ้องคดี
โดยตรวจสอบเอกสารประกอบการฟ้องคดีให้ครบถ้วน ถ้าพบว่าศูนย์ควบคุมฯ เจ้าของบัญชียังไม่ได้จัดส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระหนี้เงินกู้ของผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน ขอให้กรรมการผู้จัดการ หรือหัวหน้าสำนักงานธนาคารออมสิน ประสานเพื่อขอรับหนังสือมาประกอบการฟ้องคดี พร้อมกับตรวจสอบภูมิลำเนาของผู้กู้ และผู้กู้ร่วม
หากพบว่าผู้กู้ และผู้กู้ร่วมมีภูมิลำเนาอยู่ต่างพื้นที่ จนสาขาไม่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ ให้ส่งเรื่องคืนศูนย์ควบคุมฯ เจ้าของบัญชี เพื่อส่งให้สำนักงานทนายความในพื้นที่ดำเนินการโดยด่วน

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีหลายมาตรการช่วยเหลือครู โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูที่ชำระหนี้ดี ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย 1-2% ทำให้ภาระการชำระหนี้ต่องวดลดลง รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูที่มีปัญหา ด้วยการพักชำระเงินต้นให้ 3 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยให้น้อยลง ตามความสามารถในการผ่อนชำระของครู
ดังนั้น หากลูกหนี้รายใดมีปัญหา ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ก็จะถูกดำเนินคดี แม้ว่ากระทรวงการคลังไม่ต้องการจะฟ้องร้องครู เพราะจะทำให้ครูเสียสภาพการเป็นข้าราชการ ส่วนครูที่ออกมาเรียกร้องส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ไม่น่ากระทบกับการฟ้องร้องของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารออมสินมีข้อมูลครูที่เป็นลูกหนี้ประมาณ 4.5 แสนราย ผ่อนชำระดี 4 แสนราย และมีหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ หรือเอ็นพีแอล 2-3 หมื่นราย ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า เป็นไปได้ว่ากลุ่มครูที่ออกมาเรียกร้อง อาจจะยังไม่รู้มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งธนาคารออมสินมีหน้าที่ดูแลลูกค้าทุกรายที่มีปัญหาให้ผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติให้เร็วที่สุด!!

ล่าสุด สกสค. ได้แจ้งผลการแก้ไขหนี้สินครูในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.2-7 มีผู้กู้ 483,587 ราย เป็นเงิน 410,923 ล้านบาท โดยร่วมกับธนาคารออมสินลดดอกเบี้ย 0.5-1% ให้กับครูที่มีวินัยทางการเงินดีไปแล้วกว่า 3.7 แสนราย ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ถึงปีละ 2.5 พันล้านบาท
มีครูเพียง 6.5 หมื่นราย ที่ไม่ได้ลดดอกเบี้ย เพราะมียอดหนี้ค้างชำระ ไม่มาปรับโครงสร้าง หรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้างอีกกว่า 20,000 ราย ซึ่งยังตามตัวไม่ได้
โดยครูส่วนใหญ่ 99% มีวินัย มีการผ่อนชำระดี ส่วนครูที่มีปัญหา และไม่อยากผ่อนชำระหนี้ มีไม่ถึง 1% และเชื่อว่าหลังวันที่ 1 สิงหาคม ครูที่เป็นลูกหนี้ส่วนใหญ่ จะยังคงผ่อนชำระหนี้เป็นปกติอยู่
ต้องติดตามว่า เมื่อกระแสสังคมไม่มีใครเห็นด้วยกับแนวทางที่กลุ่มครูเกษียณอายุฯ ประกาศ “เบี้ยวหนี้” ครั้งนี้
ครูกลุ่มนี้ จะยังคงเดินหน้าไม่จ่ายหนี้ตาม “ปฏิญญามหาสารคาม” ต่อไป
หรือตัดสินใจ “ฉีก” ปฏิญญาฉาว…ทิ้งเสีย!!