ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]
เหรียญอุปเท่ห์ปืนไขว้
รุ่นแรก ‘หลวงพ่อแช่ม’
วัดตาก้อง นครปฐม
“หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต” พระเกจิผู้ทรงวิทยาคมและพุทธาคมเข้มขลังแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง
เป็นพระเกจิสมัยเดียวกับหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เป็นต้น
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้าง ล้วนทรงพุทธคุณเป็นที่ปรากฏ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก” ซึ่งสร้างในราวปี พ.ศ.2484-2485 เพื่อแจกทหารในสงครามอินโดจีน ว่ากันว่ามีพุทธคุณล้ำเลิศ
ได้รับการขนานนามว่า “เหรียญปืนไขว้” ซึ่งได้จากการออกแบบเหรียญที่หลวงพ่อแช่มไม่ได้นั่งเหนืออาสนะ แต่นั่งอยู่บนรูปปืนไขว้ อันเป็นอุปเท่ห์อย่างหนึ่ง เรียกกันว่า ข่มอาวุธ หรือเป็นการตัดไม้ข่มนาม จนกลายมาเป็นฉายาของหลวงพ่อแช่ม
ด้วยรูปทรงของเหรียญที่แปลกกว่าเหรียญอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่นิยมสร้างเป็นเหรียญรูปไข่หรือเหรียญรูปทรงเสมา แต่เหรียญนี้ขอบโดยรอบจะหยักเป็นมุมแหลม 16 หยัก เท่ากับอัตราโสฬสมงคล “พระเจ้าสิบหกพระองค์”
ทำให้ถูกเรียกขานกันเป็นเหรียญรูปพัดพุดตาน หรือเหรียญกงจักร
เหรียญนี้จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง มีทั้งแบบรมดำและไม่รมดำ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบหยัก มีหูในตัว
ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มเต็มองค์ ครองจีวรแบบห่มคลุม นั่งเหนือปืนไขว้ มือข้างซ้ายยกขึ้น ที่ฝ่ามือมีอักขระขอม “ตัวนะ” ตรงบริเวณอกหลวงพ่อ มีอักขระขอม “ตัวอะ” รอบองค์เป็น “นะ โม พุท ธา ยะ” มีอักษรไทยด้านซ้าย-ขวาว่า “หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง” อักขระขอมในหยักทั้ง 16 หยัก เป็นพระนามย่อ “พระเจ้าสิบหกพระองค์”
ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปหนุมานอมพลับพลา ตอน ศึกไมยราพณ์สะกดทัพ
เหรียญปืนไขว้ แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หูเดียวและพิมพ์สองหู มีความแตกต่างกันที่พิมพ์ด้านหน้า ที่ “หูหลวงพ่อแช่ม”
ถ้าเป็นพิมพ์หูเดียว รูปเหมือนจะมีเพียงหูข้างขวาของท่านเท่านั้น
ส่วนพิมพ์สองหู จะปรากฏหู 2 หู ตามปกติ
ทั้งนี้ พิมพ์หูเดียว จะมีจำนวนน้อยกว่า จึงเล่นหาได้ยากกว่า สนนราคาเช่าหาจึงสูงกว่า
ถือเป็นสุดยอดวัตถุมงคลหลวงพ่อแช่มที่หายาก
หลวงพ่อแช่ม เป็นชาวบ้าน ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม (สมัยนั้นคือ อ.พระปฐมเจดีย์) โดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2405
เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาอักขระทั้งภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ ผู้เรืองวิทยาคม พร้อมทั้งประสิทธิ์ประสาทวิชาและเคล็ดลับต่างๆ จนแตกฉาน
พออายุครบบวช จึงเดินทางกลับมาอุปสมบทที่วัดตาก้อง บ้านเกิด โดยมีหลวงพ่อทา เจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “อินทโชโต”
จากนั้นติดตามพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ต.มาบแค
พระอุปัชฌาย์นับเป็นพระเกจินักปฏิบัติผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ศรัทธาของจังหวัดรูปหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน และมีพลังทางจิตกล้าแข็ง ท่านสร้างเครื่องรางของขลังไว้แจกแก่ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แสวงหาอย่างกว้างขวาง
เมื่อหลวงพ่อแช่มมาอยู่กับหลวงพ่อทา ด้วยความตั้งใจแน่วแน่และใฝ่ใจศึกษาของท่าน จึงสามารถสำเร็จในทุกแขนงวิชาที่พระอุปัชฌาย์ถ่ายทอดให้ และตัวท่านเองก็มุ่งมั่นศึกษาด้านคันถธุระ วิปัสสนาธุระ และฝึกฝนวิทยาการจนเกิดความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ยังฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาเพิ่มเติมจาก หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว พระเกจิผู้มีชื่อเสียงของ จ.นครปฐม ในสมัยนั้นอีกรูปด้วย
จากนั้นท่านขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ออกธุดงค์แสวงหาความรู้เพิ่มเติมไปจนข้ามไปถึงฝั่งพม่า และศึกษาศาสตร์ต่างๆ จากอาจารย์พม่า
เดินทางกลับผ่านทางเมืองกาญจน์ เข้าสุพรรณบุรี แล้ววกกลับมา จ.นครปฐม โดยการเดินทางเท้าทั้งสิ้น ไม่ได้ขึ้นรถลงเรือ อาศัยเกวียนหรือช้างม้าแต่อย่างใด
เมื่อถึงวัดพะเนียงแตก เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อทากล่าวปรารภว่า “เกิดเป็นคนก็ยาก บวชเป็นพระก็ยาก บวชแล้วได้เดินธุดงค์ก็ยาก ไม่เสียทีที่เกิดหรอกชาตินี้ พระศาสนาของเราได้พระภิกษุอย่างคุณ พระศาสนาไม่ตกอับหรอก”
หลวงพ่อแช่มจึงกราบเรียนว่า “กลับมาครั้งนี้ก็คิดจะกราบลาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง เพื่ออยู่ใกล้ญาติโยมทางโน้น”
ครั้นเมื่อมาอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง หลวงพ่อแช่มถูกพระภิกษุบางกลุ่มเพ่งโทษคอยจับผิดท่าน นินทาว่าร้ายท่านว่าเป็นพระภิกษุพิเรนทร์ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในวัด ไม่สวดมนต์ทำวัตรเย็นเช้า ไม่ลงฟังสวดพระปาฏิโมกข์ในวันพระ ไม่บิณฑบาตโปรดสัตว์ ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ไม่อยู่ในปกครองของเจ้าอาวาส และหุงข้าวทำครัวกินเหมือนชาวบ้าน
จนในที่สุดมีหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษถึงเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เมื่อเจ้าคณะจังหวัดสอบสวนอธิกรณ์นี้ หลวงพ่อแช่มสามารถแก้ข้อกล่าวหาแต่ละข้อได้ด้วยถ้อยคำฉะฉาน
ยิ่งทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งไปขึ้น
บำเพ็ญกิจช่วยเหลือญาติโยมตามกำลังสติปัญญาและวิชาความรู้ จนกระทั่งชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนชาวนครปฐมและใกล้เคียง รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไป
จนมรณภาพในปี พ.ศ.2490 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65