เขื่อนแตกที่ลาวใต้ สะเทือนถึงไทย

อุบัติภัยใดๆ ที่เกิดขึ้นกับเขื่อนขนาดใหญ่ย่อมน่าสะพรึงกลัวเสมอ

กรณี 1 ในระบบเขื่อนกั้นลำน้ำ เซเปียน-เซน้ำน้อย บนที่ราบสูงโบลาเวน ในแขวงอัตตะปือ ตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็พังทลายเพราะทานรับปริมาณน้ำไม่ไหวก็เป็นเช่นเดียวกัน

เบื้องต้นนั้น สำนักงานสหประชาชาติแถลงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 19 ราย ส่วนที่หายสาบสูญไปอีกหลายร้อย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเฉียบพลัน มีมากถึงกว่า 10,000 คน

รายงานของบลูมเบิร์ก และสำนักข่าวต่างประเทศอีกหลายสำนัก ระบุตรงกันว่า วิศวกรประจำเขื่อน (ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นวิศวกรชาวเกาหลีใต้ ที่ประจำอยู่ในโครงการนี้ 53 คน เนื่องจากบริษัท เอสเค วิศวกรรมและก่อสร้างแห่งเกาหลีใต้เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างเขื่อนในโครงการนี้) ตรวจพบปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุเกือบ 24 ชั่วโมง และพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดวิบัติภัยครั้งนี้ขึ้น

พนักงานของเอสเคฯ พบว่าบางส่วนของเขื่อนย่อยเขื่อนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบของเขื่อนหลัก 2 เขื่อน มีน้ำเหนือเขื่อนมากเกินความสามารถที่จะรองรับ จนเกิดรอยปริร้าวที่สันเขื่อน เมื่อราว 21.00 น. ของคืนวันอาทิตย์ แล้วแจ้งเหตุต่อผู้รับผิดชอบตามลำดับ

แต่กว่าเครื่องมือหนักและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการซ่อมแซมและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะเดินทางมาถึงเขื่อนที่เกิดเหตุได้ก็ล่าช้าและต้องเป็นไปเกือบทั้งคืน

สาเหตุเป็นเพราะเส้นทางไปยังเขื่อนเสียหายจากภาวะฝนกระหน่ำหนักทั้งก่อนหน้าและในช่วงเวลาเกิดเหตุ

พอถึงตี 3 ก็มีความพยายามเปิดวาล์วฉุกเฉินของเขื่อนหลัก เพื่อระบายระดับน้ำให้ลดต่ำลง แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล

 

ตามข้อมูลของเอสเคฯ ทางการลาวเพิ่งตัดสินใจอพยพผู้คนเมื่อราวเที่ยงของวันจันทร์ อีกราว 6 ชั่วโมงต่อมา น้ำในปริมาณมหาศาลก็ทะลักออกมาจากสันเขื่อนที่เสียหายโดยปราศจากการควบคุมโดยสิ้นเชิง

มีหมู่บ้านราว 12 หมู่บ้านอยู่บริเวณลาดเนินของที่ราบสูงโบลาเวน และเป็นพื้นที่รับน้ำเหล่านี้โดยตรง รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า มี 6 หมู่บ้านในเขตเมืองสะหนามไซที่อยู่ในสภาพถูกน้ำท่วมเฉียบพลันจนมิดหลังคา คนที่รอดตายคือคนที่หนีขึ้นไปอยู่บนหลังคาได้ทันท่วงที

โชคดีไม่น้อยที่เขื่อนที่พังทลายเป็นเพียงเขื่อนย่อย หรือเรียกกันว่าเขื่อนซัพพอร์ต ซึ่งมีอยู่กันหลายเขื่อน สร้างขึ้นเพื่อควบคุมทิศทางน้ำเหนือเขื่อนหลัก 2 เขื่อนให้ไหลไปในทิศทางที่ต้องการ

กระนั้นปริมาณน้ำที่ทะลักลงมาด้านท้ายเขื่อนก็มีมากถึง 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ซีเอ็นเอ็นเปรียบเทียบให้เห็นภาพของปริมาณน้ำทั้งหมดนั้นว่า เท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก (ยาว 50 เมตร กว้าง 25 เมตร ลึก 3 เมตร) รวม 2 ล้านสระ เทพรวดออกมาในคราวเดียวกัน

 

อุบัติภัยไม่คาดฝันครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อไทยไม่น้อย ในทางหนึ่งเป็นเพราะ 1 ใน 4 หุ้นส่วนหลักของโครงการมูลค่า 102,000 ล้านดอลลาร์นี้คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ของไทย ถือหุ้นอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ ลาว โฮลดิ้ง สเตต เอ็นเทอร์ไพรส์ รัฐวิสาหกิจของลาวถืออยู่ 24 เปอร์เซ็นต์ เอสเคฯ 26 เปอร์เซ็นต์ และโคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ บริษัทเกาหลีใต้อีกบริษัท ถือหุ้นส่วนที่เหลือ

และตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก โครงสร้างทางการเงินของโครงการ เป็นเงินกู้เสีย 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออยู่ในรูปของหุ้น ผู้ปล่อยกู้ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นบรรดาธนาคารในประเทศไทย ตั้งแต่ ธ.กรุงไทย, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ เรื่อยไปจนถึง ธ.ธนชาต

การก่อสร้างเริ่มต้นเมื่อปี 2013 เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,879 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์จะขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เหลือจึงจ่ายให้กับท้องถิ่น

เขื่อนขนาดยักษ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนนับสิบในลาวซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาโดยตลอด ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านในตอนล่างของลุ่มน้ำโขง และจากบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ลำน้ำ อนุรักษ์ธรรมชาติ ระหว่างประเทศทั้งหลาย และไม่ใช่เหตุการณ์เขื่อนแตกครั้งแรกในประเทศ

แต่เมื่อปีที่แล้วเขื่อนกั้นลำน้ำอูก็เคยพังระหว่างการก่อสร้างมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่โด่งดังมากเท่าเพราะไม่มีผู้ใดเสียชีวิต

 

คนที่ต่อต้านเขื่อนเหล่านี้บอกว่า เขื่อนจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่เพียงทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของลำน้ำ ทำให้การประมงสูญเสียไป ยังทำลายพื้นที่เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ปลายน้ำ ที่จำเป็นต้องอาศัยตะกอนที่พัดพามากับกระแสน้ำอำนวยให้เกิดขึ้น

อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ลำน้ำของสหรัฐอเมริการะบุว่า ถ้าโครงการทั้งหมดสร้างแล้วเสร็จ สารพัดเขื่อนในลาวจะเปลี่ยนระบบแม่น้ำที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดของโลกของลาวซึ่งถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับที่ 2 ของโลก กลายเป็นอ่างเก็บน้ำเป็นตอนๆ ทั่วประเทศไป

อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ ยังชี้ให้เห็นว่า ระบบบริหารจัดการและระบบการพัฒนาลุ่มน้ำในลาวยังไม่ดีพอ ชาวบ้านยังได้รับคำเตือนไม่ทันท่วงทีสำหรับการอพยพไปสู่ที่ปลอดภัย

ทำให้ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยึดถือเอากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาในอนาคต

ภาวะภูมิอากาศแบบสุดโต่งที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ เหมือนเช่นฝนที่กระหน่ำหนักไม่หยุดหย่อน ยิ่งทำให้เขื่อนทั้งหลายเป็นมหันตภัยขึ้นมาได้ทุกเมื่อครับ