การศึกษา / ‘กม.สงฆ์’ บังคับใช้แล้ว ถวายพระราชอำนาจ ‘แต่งตั้ง-ถอด’ กก.มส.

การศึกษา

 

‘กม.สงฆ์’ บังคับใช้แล้ว

ถวายพระราชอำนาจ ‘แต่งตั้ง-ถอด’ กก.มส.

 

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ โดยได้พิจารณา 3 วาระรวด และให้ความเห็นชอบไปในคราวเดียวกัน
ใจความ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สนช. ทำหน้าที่รัฐสภา พร้อมกันนั้นในท้าย พ.ร.บ. ระบุว่า
“โดยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และตามโบราณราชประเพณี ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญมั่นคงเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อยตลอดมา เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม มีความร่มเย็นผาสุกแก่ประชาชนและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรบัญญัติกฎหมายให้เป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ. นี้”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ในวันประชุม สนช. ว่า การจัดทำร่างกฎหมายได้มีการเตรียมการตั้งแต่เมื่อครั้งมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดระเบียบการปกครอง ตอนแรกได้คิดกันหลายวิธีว่าจะใช้กลไกอย่างไร แต่สุดท้ายมาคิดว่าฆราวาสคิดจะไปปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ ฆราวาสมีความชอบธรรมเพียงใด มีความรู้ความเข้าใจเพียงใด ที่สุดได้ข้อยุติว่าสิ่งที่ควรจะทำคือ ฆราวาสนั้นคงได้แต่เพียงเป็นผู้เสนอแนะ แต่ผู้ที่จะขับเคลื่อนและนำไปปฏิบัติและสั่งการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริงคงต้องเป็นคณะสงฆ์เอง
โดยคณะสงฆ์ไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.คณะสงฆ์ไทย คือฝ่ายเถรวาททั้งธรรมยุตหรือมหานิกาย 2.คณะสงฆ์อื่น ซึ่งกฎหมายรับรองเฉพาะคณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกาย
รัฐบาลคิดว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ต้องอยู่ที่มหาเถรสมาคม ซึ่งในอดีตมีจุดอ่อนคือ การที่มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีความเหมาะสมตามหลักอาวุโส แต่ในระยะหลังกว่าที่พระภิกษุจะขึ้นไปถึงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชา ก็จะมีอายุมากและอาพาธ ทำให้ไม่สามารถประชุมมหาเถรสมาคมได้ ดังนั้น ถ้ามุ่งหวังจะให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้นำในการปฏิรูปนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและที่มาใหม่
เดิมทีไม่ได้คิดเรื่องที่มา คิดถึงเรื่องคุณสมบัติ แต่ในระยะหลังมานี้ก็เริ่มเกิดปัญหาขึ้น กรรมการมหาเถรสมาคมบางรูปมีปัญหาต้องคดีและถูกกล่าวหา สั่นสะเทือนความรู้สึกความเลื่อมใสศรัทธาที่ประชาชนมีต่อการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบปัจจุบันพอสมควรทีเดียว ดังนั้น ในที่สุดก็คิดกันว่ากลับไปดูรูปแบบใน พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้กันมาถึงรัชกาลที่ 8 ทั้งนี้ ดูโบราณราชประเพณี ดูรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบันที่กำหนดว่า
*”พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และถอดถอนจากฐานันดรศักดิ์ ซึ่งหมายถึงฐานันดรศักดิ์พระและฐานันดรศักดิ์เจ้า ซึ่งหมายถึงกรณีสถาปนาอิสริยยศ จึงควรให้มีองค์ปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อถือจะได้มาจากพรรษายุกาล หรืออายุ จริยวัตร และควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ จึงควรย้อนกลับไปสู่การให้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต จนทำมาเป็นร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว”*
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องเร่งเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการให้ทันกับกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 2 เดือน ขณะเดียวกันการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยเป็นการกำหนดให้มหาเถรสมาคมไปทำหน้าที่ในเชิงปฏิรูปและขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไปในอนาคต

สําหรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ มาตรา 3 บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จะคงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม
ขณะที่องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้
สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้น นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก
ส่วนการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการไปตามพระราชดำรินั้น สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตาม พ.ร.บ. นี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น
ทั้งนี้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดำรตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. นี้