แพทย์ พิจิตร : ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการทำรัฐประหารทั้งสิ้นกี่ครั้ง? (2)

ตอน 1

จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่วัยกว่าแปดสิบท่านหนึ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ทราบว่า ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีการทำรัฐประหารซ้อนกันมากกว่าหนึ่งครั้ง

เริ่มต้นจากการที่ คุณสมัคร สุนทรเวช และนายทหารยศพันเอกท่านหนึ่งได้เข้าไปจี้บังคับให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงนามหนังสือลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เท่ากับทำให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพไปในเวลาเดียวกัน

ซึ่งการการกระทำของคุณสมัครและพันเอกท่านนั้นถือว่าเป็นการทำรัฐประหารกลายๆ ไปแล้ว 1 ครั้ง

แต่เมื่อคุณสมัครและพันเอกท่านนั้นเดินออกมาจากห้อง ก็บังเอิญพบกับ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ กำลังเดินเข้ามาเพื่อจะรายงานสถานการณ์ความวุ่นวายให้นายกรัฐมนตรี คุณสงัดมารายงานในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ขณะเดียวกันท่านก็ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรืออีกด้วย คุณสงัดเองก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมมาได้เพียงวันเดียว นั่นคือ เพิ่งได้รับแต่งตั้งวันที่ 5 ตุลาคม 2519

เมื่อคุณสมัครเกิดบังเอิญป๊ะกับคุณสงัด และทราบว่าคุณสงัดจะมารายงานสถานการณ์ให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ คุณสมัครก็เลยบอกคุณสงัดไปว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะเพิ่งลงนามหนังสือลาออกไป

คุณสมัครก็เลยชวนคุณสงัดเข้ากลุ่มรัฐประหารของคุณสมัคร

ซึ่งกลุ่มที่ว่านี้ ตัวคุณสมัครเองไม่น่าจะเป็นผู้นำ โดยคุณสมัครบอกว่า ยังขาดผู้นำ เลยขอให้คุณสงัดเป็น

คุณสงัดก็ยอมเป็นเสียง่ายๆ ซึ่งท่านผู้ใหญ่ที่เล่าให้ฟังกล่าวว่า “ซึ่งสงัดก็ต้องเอา ดีกว่าไม่เอา สมัครก็เลยต้องยอมรับ”

ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ น่าจะแปลความได้ว่า ทั้งคุณสงัดและคุณสมัครต่างอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นทั้งคู่ นั่นคือ คุณสมัครจำเป็นต้องชวน และคุณสงัดก็จำเป็นต้องรับ!!

 

การที่คุณสงัดรับเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารให้คุณสมัคร จะถือได้ว่า รัฐประหารที่คุณสมัครและพันเอกท่านนั้นเริ่มต้นได้โอนย้ายมาอยู่ที่คุณสงัดและเครือข่ายของคุณสงัดหรือไม่? ถ้าใช่ ก็หมายความว่า ก็เกิดรัฐประหารครั้งที่สองแล้ว

แต่ต่อมา คุณสงัดและเครือข่ายยังไม่สามารถจะควบคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะยังมีปัญหาด้านกำลังพลอยู่

ในวันรุ่งขึ้น ในขณะที่คุณสงัดและเครือข่ายกำลังประชุมเครียดอยู่ ก็มีนายทหารกองทัพบกยศพันโทสองนายมาจี้นายทหารผู้ใหญ่ด้วยปืนพก

ประดานายทหารผู้ใหญ่ที่กำลังประชุมอยู่ก็เอ่ยไปว่า “พวกนั้นก็บอก มึงเป็นแค่พันโทพันเอกมาจี้ผู้ใหญ่ได้ไง?”

นายทหารบกสองนาย ยศพันโทคนหนึ่ง และพันเอกคนหนึ่ง ก็ตอบกลับไปว่า “มันไม่สำคัญครับ ตอนนี้ปฏิวัติแล้ว”

น่าเสียดายที่ผู้เล่าไม่ได้บอกเสียด้วยว่า ใครในสองคนนี้เป็นคนตอบ และก็น่าเสียดายซ้ำสองอีกที่ผู้สัมภาษณ์ก็ดันปากหนัก ไม่ได้ถามท่านเสียด้วย (คงต้องกลับไปสัมภาษณ์อีก!)

รู้แต่เพียงว่า นายทหารสองท่านนั้นปัจจุบันคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี

 

นายทหารยศนายพันสองท่านนี้กระทำการ “จี้” ซ้ำสอง หลังจากคุณสมัครกับพันเอกท่านนั้น “จี้” ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ดังนั้น การกระทำของนายทหารทั้งสองท่านนี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่สามในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ผู้ใหญ่ท่านนั้น เล่าให้ฟังต่อไปว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ประชุมอยู่ขณะนั้นมีทั้งสิ้น 22 คน ได้แก่ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พลเอกเสริม ณ นคร ซึ่งท่านบอกว่ารายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือที่พลเอกมนูญกฤตเขียน และรวมของพลเอกพัลลภด้วย ซึ่งท่านคิดว่า เรื่องที่อยู่ในหนังสือก็น่าจะเป็นความจริง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นตามที่ท่านเล่าก็คือ พันเอกมนูญ (พลตรีมนูญกฤตในปัจจุบัน) ได้นำรถถังเข้ามา เกิดความชิงไหวชิงพริบกัน ความไม่สงบเกิดขึ้นหลายซับหลายซ้อน

ในบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ 22 คนนั้น มีนายทหารที่ยศน้อยที่สุดขณะนั้น คือ พลโทเปรม ติณสูลานนท์ และก็พลโทเปรมนี่แหละที่มาช่วยไกล่เกลี่ยกับพวกนายทหารยศนายพันหรือ “ยังเติร์ก”

ผู้เล่าได้ใช้ประโยคว่า พลโทเปรมไกล่เกลี่ยโดยกล่าวแก่บรรดายังเติร์กว่า “จะเอาอะไรลูก ใจเย็นๆ ลูก ในขณะที่พวกพลเอกยศ พวกอะไรด่าพวกนี้ จนหวุดหวิดต้องซัดกัน ก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ให้ (พลเรือเอก/ผู้เขียน) สงัดเป็นนายกฯ ต้องเปลี่ยนรูปแบบ ตกลงกันได้เพราะพันเอกมนูญเข้ามา รถถังเข้ามา”

และอย่างที่ทราบและเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารคือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร

ผู้เขียนได้ถามท่านว่า แล้วคุณธานินทร์ท่านเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร?

คำตอบที่ได้คือ “ไม่รู้ ไม่มีใครรู้!”

 

การที่คุณธานินทร์มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคุณสมัคร และก็นึกถึงการที่คุณสมัครไปจี้นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ และเมื่อเจอพลเรือเอกสงัด ก็ทำไขสือเชิญพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ ผู้เขียนเลยให้ข้อมูลเชิงเป็นคำถามไปในตัวกับท่านผู้เล่าว่า “แต่ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีรายการสนทนาประชาธิปไตยทางโทรทัศน์ และผู้ร่วมสนทนามีคุณสมัคร คุณธานินทร์ มีความเชื่อมโยงอะไรกันได้บ้างไหมขอรับ?”

ท่านตอบว่า “ไม่ๆ สมัครเป็นแขก ส่วนใหญ่มีธานินทร์กับอาจารย์นิพนธ์ ศศิธร กับ ดุสิต ศิริวรรณ”

ผู้เขียนถามต่อว่า แล้วต่อมาคุณสมัครก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มันมีอะไรเกี่ยวข้องกันไหมกับการที่คุณธานินทร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี?

ท่านตอบเพียงว่า “มาได้ทีหลัง”

ผู้ร่วมสัมภาษณ์อีกท่านหนึ่งได้ถามว่า “แต่ว่ารัฐมนตรีที่กดดันอาจารย์เสนีย์ในตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยใช่ไหมครับ?”

ท่านโบกมือและตอบว่า “ไม่ ที่กดดันให้เสนีย์ออก กับฝ่ายที่กดดันให้สมัครกับสมบูรณ์ออกเป็นฝ่าย ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์…”

ผู้ร่วมสัมภาษณ์คนนั้นก็ยังเพียรถามต่ออีกว่า “แต่คนที่กดดันอาจารย์เสนีย์วันนั้น เข้าใจว่าเป็นคุณชาติชาย คุณประมาณ ว่าแย่แล้ว นักศึกษาอะไรแบบนั้น เข้าใจว่าแบบนั้น”

สิ่งที่ผู้ร่วมสัมภาษณ์ถามนั้น ผู้เขียนมองออก เข้าทำนอง “อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” เข้าใจได้ทันทีว่า ผู้ร่วมสัมภาษณ์ต้องการโยงพรรคชาติไทยเข้ากับการสร้างสถานการณ์ให้สับสนวุ่นวายและกดดันนายกรัฐมนตรีให้ลาออก

แต่คำตอบที่ได้จากท่านผู้ใหญ่วัยแปดสิบกว่าก็คือ

“มันเกิดม็อบไง ม็อบที่เกิด ธรรมนูญเป็นคนจัด ม็อบเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเขาก็เกณฑ์พวกลูกเสือชาวบ้านเข้ามาสวมรอย”

 

สําหรับท่านผู้ใหญ่ท่านนี้ ท่านรับรู้มาว่า “ม็อบไม่ได้เกิดจากทางฝั่งพรรคชาติไทย แต่เกิดจากทางฝั่งประชาธิปัตย์ แต่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ในสภาผู้แทนราษฎร แต่มาจากประชาธิปัตย์ที่คุมกรุงเทพมหานครอยู่ “ธรรมนูญ” ที่ว่านี้ก็คือ คุณธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อม็อบมาจากคุณธรรมนูญ ผู้เขียนก็นึกขึ้นได้ว่า คุณธรรมนูญในฐานะที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ดูแลกิจกรรมของ “ลูกเสือชาวบ้าน” อยู่ด้วย และจากเงื่อนไขนี้นี่เองหรือไม่ ที่ลูกเสือชาวบ้านได้กลายมาเป็นม็อบ?!

ท่านตอบว่า “ส่วนหนึ่ง แก (คุณธรรมนูญ/ผู้เขียน) คุมอยู่ส่วนหนึ่ง แกเกณฑ์เข้ามาสวมรอยมวลชน ธรรมนูญเองก็คิดว่าตัวเองจะได้เป็นนายกฯ ช่วงที่สมัครไปจี้ ระหว่างนั้น”

ถ้าเช่นนั้น ก็แปลว่าในขณะที่คุณสมัครกับนายทหารยศพันเอกไปจี้ ม.ร.ว.เสนีย์ คนที่รู้เรื่องด้วย อย่างน้อยก็ต้องมี คุณธรรมนูญ เทียนเงิน แน่นอน

แต่จริงหรือที่คุณธรรมนูญคิดว่าตัวเองจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากฝีมือคุณสมัคร??!!

“โอ้ ขนาดนั้นเลยหรือครับ?” ในบรรดาผู้ร่วมสัมภาษณ์ มีผู้เขียนคนเดียวอุทานออกมา