สมชัย ศรีสุทธิยากร : ไมล์สโตนกำเนิดพรรค

การเกิดใหม่ของพรรคการเมืองในไทย น่าจะเป็นความหวังสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่หวังจะเห็นพรรคใหม่ที่มีนโยบายหรือแนวทางการบริหารแตกต่างไปจากพรรคเดิมที่มีอยู่

ในขณะเดียวกันก็เป็นความหวังของกลุ่มบุคคลที่อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไม่อยากพึ่งพาพรรคเดิม โดยเห็นการจัดตั้งพรรคใหม่เป็นโอกาสของการเกิดทางการเมือง

เมื่อ คสช.ผ่อนคลายให้เริ่มมีการจดแจ้งจองชื่อพรรคการเมือง เราจึงเห็นปรากฏการณ์ของความตื่นตัวของคนการเมืองที่แห่แหนกันเข้าไปจดชื่อพรรคการเมืองใหม่ๆ ต่อ กกต. ในจำนวนเกินกว่าร้อยพรรค

เห็นความสดใหม่ เห็นความกระตือรือร้นในการแสดงออกซึ่งความตั้งใจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เตรียมการทั้งในด้านเอกสารที่ซับซ้อนการสร้างสรรค์นโยบายที่แตกต่าง และการสรรหาบุคลากรคุณภาพที่จะมาประชันขันแข่งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้า

เมื่อพลิกดูคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งกำหนดกรอบกติกาการทำงานของพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน 2561 คือวันเริ่มต้นของกิจกรรมทั้งปวง

แถมยังได้กำหนดไมล์สโตน (Milestone) หรือเส้นตายเวลาที่สำคัญๆ อีกหลายเรื่องให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการ

ภายใต้แนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันอย่างแท้จริง

มิใช่พรรคเฉพาะกิจหรือพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อฉวยโอกาสทางการเมืองในช่วงเวลาสั้นๆ

พรรคการเมืองที่จะเข้มแข็งย่อมต้องประกอบด้วยรากฐานสำคัญหรือเสาค้ำหลัก (pillars) 4 เสา คือ หนึ่ง สมาชิก สอง เงินทุน สาม การบริหารจัดการ และสี่ นโยบายที่ดี

ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งแก่พรรคการเมืองภายใต้การออกแบบใหม่จึงมุ่งเน้นให้มีความพรั่งพร้อมในเรื่องทั้ง 4 ประการข้างต้น

และมีกรอบเวลาของการดำเนินการที่เป็นภาคบังคับหรือเป็นเส้นตายไมล์สโตนให้พรรคทุกพรรคท่องจำเป็นคัมภีร์ในการจัดตั้งพรรคการเมือง

ประการแรก ในด้านสมาชิก ความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหมายถึงความผูกพันที่เพิ่มขึ้นมาอีกระดับมากกว่าการเป็นผู้เลือกตั้ง สมาชิกย่อมผูกพันและมีส่วนในการสนับสนุนการรณรงค์ของพรรคการเมือง มีกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนเป็นผู้เลือกพรรค สมาชิกพรรคคือคนที่ไม่เพียงแต่เลือก แต่ยังจะรณรงค์ให้คนอื่นๆ มาช่วยเลือกด้วย พรรคการเมืองที่มีรากฐานจำนวนสมาชิกที่เข้มแข็งจึงมีความเป็นสถาบันยิ่งกว่าพรรคที่ขาดสมาชิก

ห้าร้อยคนคือจำนวนสมาชิกเริ่มต้น และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองขั้นต่ำ 1,000 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 50,000 บาท

โดยไมล์สโตนตามกฎหมายกำหนดไว้คือ ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นั่นคือ วันที่ 27 กันยายน 2561 เป็นวันสุดท้ายที่ต้องมีครบ

ห้าพันคนคือสมาชิกที่ต้องหาให้ได้ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นั่นคือ วันที่ 31 มีนาคม 2562

กำหนดการดังกล่าวค่อนข้างท้าทายและหวุดหวิดว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน 31 มีนาคม 2562 เงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นปัญหาในการส่งผู้สมัคร แต่หากการเลือกตั้งล่าช้าออกไปหลังวันที่ 31 มีนาคม 2562 เราจะเห็นความวุ่นวายอีกระลอก หากพรรคใดหาสมาชิกได้ไม่ถึง 5,000 คน ย่อมไม่สามารถส่งคนเลือกตั้งได้

หนึ่งหมื่นคนคือสมาชิกที่ต้องหาให้ได้ภายในสี่ปี อันนั้นหนทางยังยาวไกล อาจยังไม่จำเป็นต้องใส่ใจนัก รอหลังเลือกตั้ง พรรคที่ชนะ พรรคที่เป็นรัฐบาล หรือพรรคที่มี ส.ส. ในสภาอยู่บ้าง คงมีโอกาสและเวลาไปดำเนินการตามเงื่อนไขในไมล์สโตนนี้ได้โดยไม่ยาก

ประการที่สอง คือเงินทุน

พรรคที่เข้มแข็งคือพรรคที่ต้องมีเงินทุนในระดับหนึ่งในการดำเนินการ ไม่ใช่รอคอยแต่นายทุนพรรคหรือการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

เงินทุนส่วนหนึ่งจึงมาจากสมาชิกที่ถูกกำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกเป็นรายปีหรือตลอดชีพตามแต่ข้อบังคับของพรรค แต่ต้องไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปี

เงินทุนอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการรณรงค์หาทุน ซึ่งผู้สนับสนุนพรรคที่เป็นนักธุรกิจต่างๆ อาจช่วยกันลงขันบริจาคในช่วงใกล้เลือกตั้ง

และแหล่งที่สามคือจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งจะคำนวณจากสัดส่วนของ ส.ส. ที่ได้ และองค์ประกอบด้านจำนวนสมาชิกและสาขาพรรค และจ่ายให้หลังการเลือกตั้งแล้ว

ทุนประเดิมหนึ่งล้านบาทคือยอดเงินที่ทุกพรรคต้องหามาจากสมาชิกห้าร้อยคนแรก โดยมีขั้นต่ำคือคนละ 1,000 บาท ขั้นสูงไม่เกิน 50,000 บาท

โดยวันสุดท้ายที่ต้องหาให้ครบเป็นไมล์สโตนสำคัญคือ 27 กันยายน 2561 มิฉะนั้นไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้

(กรณีขอขยายเวลาสามารถทำได้อีก 180 วัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวหากยังหาได้ไม่ครบ ก็ไม่มีสิทธิส่งคนลงเลือกตั้ง)

ประการที่สาม ในด้านการบริหารจัดการพรรค

การจัดตั้งสาขาพรรคถือเป็นการจัดองค์การที่ทำให้พรรคการเมืองมีโครงสร้างการบริหารกระจายลงไปในภูมิภาคต่างๆ ไม่เป็นพรรคที่อยู่แต่ในเมืองหลวง หรือเป็นพรรคจังหวัดพรรคภูมิภาคแบบที่เป็นมาในอดีต

หรือหากในระดับจังหวัดที่พรรคยังไม่พร้อมมีสาขา พรรคอาจแต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้หากมีสมาชิกในเขตใดเขตหนึ่งเกินหนึ่งร้อยคนขึ้นไป

เมื่อหนึ่งสาขา กำหนดตัวเลข 500 คน คือจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ ตัวเลข 2,000 คนใน 4 ภาค จึงกลายเป็นตัวเลขขั้นต่ำตัวที่หนึ่งที่จะต้องมีให้ได้ก่อนการจัดประชุมกรรมการบริหารพรรค และการคัดเลือกตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง

เมื่อหนึ่งตัวแทนจังหวัดจะจัดตั้งได้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 100 คนในเขตเลือกตั้งใดเขตหนึ่งในจังหวัด จึงจะสามารถประชุมคัดสรรผู้สมัครตามรูปแบบที่เรียกว่าไพรมารีโหวตได้ ตัวเลข 7,700 คนที่มาจาก 77 จังหวัดจึงกลายเป็นตัวเลขขั้นต่ำ หากพรรคใดประสงค์จะส่งผู้สมัครครบทุกเขตหรือครบทุกจังหวัด

ไมล์สโตนที่สามนี้ ไม่ได้เขียนเวลาไว้แน่นอน เพียงแต่ว่า หากทำไม่ได้ก่อนการรับสมัครเลือกตั้ง พรรคก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครได้

ดังนั้น หากการเลือกตั้งจะมีจริงในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า สี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 คือเส้นตายที่ต้องทำให้สำเร็จในเรื่องนี้

ประการที่สี่ เรื่องของนโยบายพรรคที่ตรงกับการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง โครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อใช้ในการหาเสียงเพื่อจูงใจประชาชน การกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง กำหนดตัวบุคคลและวิธีการหาเสียง การเตรียมพร้อมในด้านองค์การและงบประมาณในการดำเนินการ

เป็นเรื่องที่แม้ไม่มีไมล์สโตนกำหนดเส้นตายตามกฎหมาย

แต่พรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อม

มิใช่พอถึงเลือกตั้ง ก็เที่ยวหยิบนโยบายของคู่แข่งมาแต่งเติมเกทับกันในเชิงตัวเลขอย่างที่เห็น

การคิดวิเคราะห์และเตรียมการอย่างเป็นระบบ

รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อให้เกิดการสร้างนโยบายที่ดีเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองคุณภาพควรเตรียมการดำเนินการ

วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งก็ผ่านไปหนึ่งวัน เส้นตายไมล์สโตนเริ่มกระชับเข้ามาทุกที

วันนี้คงต้องถามความจริงใจของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองว่า ปรารถนาจะปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นพรรคที่มีรากฐานจากประชาชน มีการพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ สร้างพรรคการเมืองให้มีคุณภาพหรือไม่ เพราะการที่ไม่ยอมปลดล็อกไม่ให้เขาทำสิ่งใดเลย และบอกว่าพอถึงเวลาก็ยังทำทันเหลือเฟือนั้น

การต้องทำในเวลาจำกัด รีบเร่ง เพียงเพื่อให้ครบตามเงื่อนไข เขาเรียกทำแบบชุ่ยๆ ไม่สามารถสร้างการเมืองคุณภาพได้