การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ ตอนที่ 3 “ป่วยทางใจ”

วันที่ 3 ของการอบรมเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างมีสติกับพระอาจารย์ครรชิตและทีมงาน ทีมงานท่านหนึ่งคือพี่เกื้อ

ขอเล่าถึงพี่เกื้อนะคะ

พี่เกื้อเป็นพยาบาล เดินทางไกลมาจากบุรีรัมย์ ท่านเป็นพยาบาลที่เป็นพยาบาลด้วยหัวใจแท้ๆ ไม่สามารถที่จะเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่พี่เกื้อเล่าให้ฟังได้ในพื้นที่นี้ แต่ขอเล่าที่ผู้เขียนประทับใจ

พี่เกื้อแยกประเภทคนไข้ว่ามีป่วยกาย กับป่วยใจ

บางทีกายไม่มีโรค แต่ใจพาป่วย

บางกรณีป่วยที่ใจอย่างเดียวแท้ๆ ส่งเข้าโรงพยาบาลก็ต้องไปรักษาทางจิตเวช ไม่ได้เรียนรู้ถึงการดับทุกข์ ทั้งยาที่กินก็กดประสาท

และต้องกินยาไปตลอดชีวิต

 

มีกรณีหนึ่งที่คนไข้ที่มาโรงพยาบาลบุรีรัมย์ อายุเพียง 20 ผูกคอตาย แต่แม่ช่วยให้รอดมาได้ สมมุติว่าชื่อน้องบุญ

น้องบุญไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทางกาย จึงอยู่ในความดูแลของจิตแพทย์

วันๆ หนึ่งน้องบุญไม่พูดกับใครเลย ในที่สุดทางแผนกนั้นก็ตามพี่เกื้อให้ช่วยไปดูคนไข้ที อาจจะช่วยอะไรได้บ้าง

น้องบุญเป็นหนึ่งในลูกแฝด ตอนที่เกิดนั้นแฝดน้องอ่อนแอมาก ต้องอยู่ตู้อบนาน เมื่อกลับมาบ้าน แม่ก็จะประคบประหงมลูกแฝดคนน้อง แต่บุญซึ่งเป็นแฝดคนพี่แม่ไม่เคยกอดลูกเลย

บุญไม่เคยมีภาพที่ได้รับความรักจากแม่เลย แม่อุ้มแต่น้องคนเล็ก

ครั้นไปโรงเรียน บุญนอกจากต้องถือกระเป๋าของตัวเองแล้วก็ต้องถือกระเป๋าให้น้องด้วย

เมื่อจบ ม.6 บุญไม่อยากเรียนต่อ อยากอยู่บ้าน เริ่มมีอาการซึม ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยงานบ้านเต็มที่ ตี 2 ต้องตื่นขึ้นมารีดนมวัว แล้วเข้าสวนยางไปกรีดยาง

บุญไม่เคยมีเวลาว่าง ต้องทำงานให้ทางบ้านตลอดเวลา เพื่อส่งน้องเรียน น้องแฝดของบุญได้เรียนวิศวะ เวลาที่น้องกลับมาก็เที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ในขณะที่บุญต้องทำงาน

บุญมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น แม่จึงพาไปรักษาทางจิตเวช ส่วนหมอดูพื้นบ้านก็ว่า เป็นเพราะไปปัสสาวะรดต้นไม้ รุกขเทวดาไม่พอใจจึงลงโทษเอา

จนในที่สุดเมื่อบุญไม่มีทางออกจึงเลือกที่จะผูกคอตาย บังเอิญช่วงนั้นแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน แต่สายตายังคงมองเข้ามาดูในบ้าน หน้าต่างห้องของบุญซึ่งปกติเปิดอยู่

แต่เมื่อแม่หันมามอง ปรากฏว่าหน้าต่างบานนั้นปิด แม่นึกเอะใจ รีบเข้ามาดู ทันการณ์ที่จะเอาบุญลงมาทัน

 

ความป่วยของบุญเป็นอาการทางใจที่แห้งแล้งขาดการดูแลจากพ่อแม่ เมื่อทับถมทวีคูณไม่ได้รับการเยียวยาก็ส่งผลให้เป็นเช่นนี้

หลายครอบครัวที่ผู้เขียนรู้จักจะเป็นแบบเดียวกันนี้ เป็นการกระทำของพ่อแม่ ที่ทำให้ลูกน้อยใจ เสียใจ ไม่ได้รับความรัก ไม่ได้รับการใส่ใจ ขณะเดียวกันพ่อแม่ให้ความสนใจกับลูกคนใดคนหนึ่งมากกว่าคนอื่น เรื่องแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่เราเห็นบ่อยๆ ในสังคมรอบตัวเรา

เป็นอาการป่วยทางใจทั้งสิ้น

การดูแลใจจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราพึงทบทวนย้อนมาดูในครอบครัวเราเองว่าเราทอดทิ้งพี่น้องคนใดหรือเปล่า ฟื้นฟูความสัมพันธ์เสียตั้งแต่ตอนนี้ ยังดีกว่าปล่อยให้เหตุการณ์เลยเถิดไปเกินเยียวยา

 

ที่โรงพยาบาลที่พี่เกื้อทำงาน มีโครงการมิตรภาพบำบัด ให้มะเร็งรุ่นพี่ดูแลมะเร็งรุ่นน้อง คราวหนึ่งมีการเลี้ยงสังสรรค์ อาหารที่เค็มหน่อยคนไข้ที่เป็นโรคไตและหัวใจก็กินไม่ได้ ตกลงพวกที่เป็นมะเร็งกินหมด พี่เกื้อจึงสอนคนไข้มะเร็งว่า เป็นโรคที่เป็นได้ หายได้ คนที่จะตายเร็วคือคนที่เป็นแล้วเร่งให้หายเร็วๆ หรือกลัวตาย ก็จะตายเร็วทุกราย

ปัจจัยที่จะช่วยรักษา คือ

หมอดี

ยาดี

คนดูแลดี

จิตใจดี

หมอดี ยาดี ก็ช่วยได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ถ้าคนไข้รักษาจิตใจให้ดีด้วย ส่งผลต่อร่างกายมาก ทำให้หมอรักษาได้ผลเร็วขึ้น

การทำความเข้าใจกับอารมณ์ และอารมณ์ที่ส่งผลต่อปฏิกิริยาทางกายก็เป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเวลาโกรธ การเต้นของหัวใจในเวลาปกติอยู่ที่ 60-80 แต่เวลาโกรธหัวใจจะเต้นแรงมาก ขนาดที่เราพูดกันว่าหัวใจเต้นโครมๆ

ปอดทำงานแรงขึ้น จะสังเกตว่าเวลาโกรธหายใจแรง ตื้น และสั้น เส้นเลือดจะตีบลง หัวใจทำงานเกินกำลัง ก็จะถึงกับหัวใจวายได้ หัวใจวาย คือมันหมดความสามารถที่จะทำงานต่อ

ในขณะโกรธ ภูมิต้านทานลดลงเป็นหมื่นเท่า

นอกจากนั้น เวลาโกรธ กล้ามเนื้อเกร็ง เลือดเป็นกรด อันนี้เป็นอาหารที่มะเร็งชอบเลยค่ะ

 

คนไข้มะเร็งคนหนึ่งนอนป่วยที่โรงพยาบาล สามีอยู่ต่างอำเภอ เวลามาเยี่ยม คนไข้ก็จะเกรี้ยวกราดว่ามาช้า ให้รอ หงุดหงิดสามี น่าจะเป็นคนเดียวที่นางด่าว่าได้

พี่เกื้ออธิบายในนางฟังว่า นางจะหายเร็ว ด้วยการปฏิบัติ 4 ข้อนี้

1. ยิ้ม เวลาสามีมาหา แม้จะมาช้า ต้องรู้สึกขอบคุณที่สามีอุตส่าห์เดินทางข้ามอำเภอมาเยี่ยม ยิ้มรับ เพื่อให้กำลังใจสามี

ยิ้มให้พยาบาลและหมอที่รักษา เพราะพยาบาลหลายคนแต่ละวันเหนื่อยมาก โดยเฉพาะเวลาเวรพยาบาลขาด เพราะป่วยไข้ ต้องอยู่เวรสองกะ เพราะไม่มีคนมารับเวร พยาบาลก็ต้องการกำลังใจจากคนไข้เหมือนกัน

2. อาหาร ตั้งใจกินอาหาร ถูกปากหรือไม่ เป็นคนละเรื่อง เพราะเราไม่ได้อยู่ที่บ้านที่จะสรรหากินได้ตามใจ ตามปาก ตามลิ้น อาหารกินเข้าไปเพื่อสมานแผล ให้ร่างกายแข็งแรงสู้โรคได้

3. อารมณ์ รักษาอารมณ์ไม่ให้โกรธ เพราะถ้าโกรธ มะเร็งชอบ จะให้เราได้ดังใจทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ อบรมวิธีคิดของตัวเองใหม่ ปรับเปลี่ยนนิสัยไปโดยปริยาย

4. สวดมนต์ สารสุขหลั่ง หัวใจเต้นดี การไหลเวียนของโลหิตดี ได้รับออกซิเจนพอเพียง ภูมิต้านทานก็ดี แผลมันก็หาย

พระอาจารย์ท่านแนะนำว่าให้สวดบทบูรพารัสมิงฯ คนไข้ที่เป็นชาวบ้านจะชอบเพราะเป็นภาษาที่คนไข้เข้าใจว่าให้พรว่าอย่างไร

เพราะฉะนั้น เวลาเจ็บไข้ ไม่ต้องไปเร่งให้หาย แต่ในทางตรงกันข้าม รู้จักสร้างเหตุให้ถูกต้อง ผลคือหายเร็ว ก็จะตามมาเอง

 

คุณหมอจูนเป็นนายแพทย์สตรี เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ท่านก็เป็นหนึ่งในทีมงานของพระอาจารย์ครรชิตเหมือนกัน ท่านมาให้ข้อมูลที่ให้ผู้ดูแลเรียนรู้สังเกตผู้ป่วยระยะสุดท้าย

คุณหมออธิบายว่า การตายอย่างสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นอนาคตทางจิตวิญญาณของผู้ใกล้ตาย

หากจิตเศร้าหมอง ก็หวังทุคติ ส่วนการตายดี ย่อมนำไปสู่สุคติ ตายแบบมีสติ ไม่หลงตาย ยิ่งดีขึ้นไป ตายโดยความเข้าใจมีความรู้เข้าถึงไตรลักษณ์

ในจุดที่จิตกำลังจะทิ้งร่าง หากจากไปโดยไม่ยึดติด อาจจะไม่ต้องกลับมาอีก ถือเป็นนาทีทองที่คนไข้จะใช้ประโยชน์สูงสุด

ผู้ดูแลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีองค์ความรู้ที่จะช่วยประคองส่งให้คนเจ็บไปสู่ภพภูมิที่ดี คุณหมอสอนให้สังเกตการเสื่อมสลายของธาตุทั้ง 4 เช่น ถ้าคนไข้เบื่ออาหาร เป็นอาการเสื่อมของธาตุดิน ระบบทางเดินอาหารเสื่อม ย่อยไม่ไหว ท้องอืด หรือท้องผูก กับอาเจียน

หากธาตุน้ำเสื่อม จะมีอาการแห้ง เช่น ตาฝืดหลับไม่ได้ ให้หยอดน้ำตาเทียมช่วย เหตุก็คือ ไตทำงานลดลง ฉี่ไม่ออก คนไข้จึงไม่อยากน้ำ หากเราไม่รู้ไปให้น้ำเกลือช่วย คราวนี้คนไข้ก็เลยบวม

ครั้นธาตุไฟเสื่อม ตับทำงานน้อยลง คนไข้จะมีอาการหนาว ช่วยได้โดยการให้ความอบอุ่น อย่ายัดเยียดอาหาร ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่ร่างกายจะรับอาหารแล้ว

ท่านธัมมนันทาเคยไปเยี่ยมไข้ชายหนุ่มที่เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย มีอาการธาตุน้ำแตกแล้ว เรียกว่าขั้นสุดท้ายจริงๆ แต่มารดาของคนไข้ยังคอยเขย่าตัวเพื่อป้อนอาหาร

แทนที่จะได้จากไปอย่างสงบ กลับถูกรบรวนจากคนดูแลไข้ที่ไม่มีความรู้

 

ธาตุสุดท้ายคือธาตุลม คนไข้จะมีปัญหากับลมหายใจ เฮือก แผ่ว และจะหยุดในท้ายที่สุด หากน้อมนำจิตไปในทางกุศล จะช่วยให้คนไข้หายใจได้เรียบลง สม่ำเสมอขึ้น หากคนไข้ยอมรับอาการของโรค สามารถอยู่กับความปวดได้อย่างเป็นมิตร ผู้ดูแลสามารถจะช่วยให้ผู้ป่วยออกจากความปวดได้ โดยการเฝ้ามองความปวด แทนที่จะเป็นผู้รับอาการปวดเสียเอง

ขั้นตอนที่เราจะมีความฉลาดรู้จักดูแลคนไข้ โดยเฉพาะคนเจ็บวาระสุดท้ายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะอ่านเอาจากหนังสือเท่านั้น แต่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรมที่ท่านอาจารย์ครรชิตและทีมงานท่านนำเข้าสู่กระบวนการที่จะให้เกิดความเข้าใจทีละขั้นตอน เป็นเรื่องที่เราต้องให้เวลา และให้ความสำคัญในการจัดเวลา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว และที่ได้ประโยชน์มากคือ ไม่ใช่ทำให้เราช่วยคนไข้ได้ถูกทาง แต่ตัวของเราเองผ่านกระบวนการเฝ้ามองจิตของตัวเองอย่างตรงที่สุด กับแบบฝึกหัดที่การอบรมจัดให้ เกิดความกระจ่างในพุทธธรรมไปโดยปริยาย

โมทนากับทีมงานทุกคน กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์และหลวงพี่ที่เข้ามาร่วมเป็นกระบวนการ

รวมทั้งคุณหมอและพยาบาลที่อุทิศตนกับงานนี้ค่ะ