บทวิเคราะห์ / ดูด ‘แดง’ ทลาย ‘พื้นฐาน’

บทวิเคราะห์

ดูด ‘แดง’

ทลาย ‘พื้นฐาน

กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองไปแล้ว
สำหรับกลุ่ม “สามมิตร”
เพราะนอกเหนือจากเดินหน้าดูดนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยแล้ว
นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขาฯ กลุ่มสามมิตร ได้ออกมาเปิดเกมล่าสุด
นั่นคือ ประกาศเดินสายพูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
เป็นที่ทราบกันดี นปช. เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย
แม้หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีความพยายามจากทหาร โดยเฉพาะกลไกของ กอ.รมน. ย่อยสลาย นปช. หรือคนเสื้อแดง
ตั้งแต่ใช้วิธีละมุนละม่อม เชิญมาพูดคุย จนถึงขนาดเข้มข้น ฟื้นคดีเก่าขึ้นมาเล่นงาน
จนบัดนี้ มี นปช.หลายคนถูกจำคุกในเรือนจำ ซึ่งรวมถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ ด้วย
แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

นปช. และคนเสื้อแดงยังคงเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ
ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงมือไม้และกลไกที่เคลื่อนไหวเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” เกิดภาวะไม่แน่ใจในอนาคตของตนเอง
เพราะหากไม่สามารถตีมวลชน นปช. หรือคนเสื้อแดงแตก
โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งก็มีไม่มาก
แม้จะพยายาม “ดูด” เอานักการเมืองฝ่ายเพื่อไทยมาร่วมกับฝ่ายตน
แต่ก็ไม่ได้มีความมั่นใจว่านักการเมืองเหล่านี้จะเอาชนะการเลือกตั้งได้
ด้วยเหตุนี้เอง พรรคเพื่อไทยจึงพยายามโชว์ให้เห็นว่า ใครจะถูกดูด หรือย้ายพรรคไป ก็ไม่มีผล เพราะประชาชนจะไม่เลือก
และพร้อมจะให้บทเรียนสำคัญแก่นักการเมืองเหล่านี้ด้วย
นี่จึงนำมาสู่บันไดขั้นที่ 2 ของกลุ่ม “สามมิตร”

ทั้งนี้ ตามคำแถลงของนายภิรมย์ พลวิเศษ เลขาฯ กลุ่มสามมิตรระบุ เนื่องจากบ้านเมืองในอดีตแตกแยกทางความคิด แบ่งเป็นสีๆ การเลือกตั้งจะสมบูรณ์แบบไม่ได้เลยถ้าหากว่าเรายังมีความคิดเห็นที่แตกแยกออกเป็นหลากสีเหมือนเช่นในอดีต
ดังนั้น กลุ่มสามมิตรจึงได้พยายามเดินสายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหลายกลุ่ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่ม นปช. ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในภาคอีสาน
หากว่าเราได้หลอมรวมความคิดในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาได้
ก็จะเป็นแนวทางการปรองดองเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ซึ่งจะส่งผลให้บ้านเมืองสามารถเดินต่อไปได้ดี
ดังนั้น แนวทางของกลุ่มสามมิตรจะสนับสนุนและช่วยทำให้การปรองดองได้ดีขึ้น
จึงได้เดินสายเชิญชวนพี่น้องคนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน เช่น นปช. มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
โดยจะมีการนัดคุยกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ซึ่งการเดินทางไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่ม นปช. นี้ไม่ได้เป็นการไปดูดทางการเมือง
แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อที่จะทำอย่างไรให้พี่น้องชาวอีสานได้ประโยชน์สูงสุดจากการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดต่อไป
และยืนยันว่าทุกคนที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเป็น นปช.ตัวจริงทั้งหมด
เพราะมีบัตร นปช. มายืนยันตัวตนทุกคน
โดยจุดยืนสามมิตรที่จะพูดคุยกับ นปช. คือการยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเดินหน้าให้ประชาชนทั้งประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

นายภิรมย์สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการเปิดรายชื่อ นปช. ที่จะร่วมพูดคุย เหมือนกับเปิดรายชื่อนักการเมืองที่เปลี่ยนใจมาร่วมกับกลุ่มสามมิตร
ประกอบไปด้วย
1. นปช. จ.สกลนคร นายศักดิ์ธนภูมิ มหิทธิสินโสภณ, ดร.ดิษย์ชัย แก่นท้าว, นายรัตนรัตน์ ถิ่นปัญจา และนายทรงเดช กลณีย์
2. นปช. จ.มุกดาหาร นายจิตรกรรม เชื้อคำฮด, นายสมชัย เจริญไกร
3. นปช. จ.อำนาจเจริญ นายสมบัติ วันทอง, นายโชคสมัย โชคชัย, นายอนุภาพ วงจร
4. นปช. จ.สุรินทร์ นายธีระสิทธิ์ สังขาว, นายธีระชาติ สังขาว, นายพรหมพัฒน์ ธันกรกุลพิพัฒน์
5. นปช. จ.บุรีรัมย์ ดร.กฤชเทพ อุปจันแพงวงศ์, นายณัฐนนท์ อะพรรัมย์, นายวิยะ ศรีพร
6. นปช. จ.นครราชสีมา นายเสนอ นันธนกุล
7. นปช. จ.ขอนแก่น นายคำบง ศิริ, นายวินัย สิงหาด, นายณัฏฐกฤตา พิจารโต, นายบุญจันทร์ เช้าวันดี, พ.ท.สรวิชญ์ จันทลือชา, ร.ต.ต.รับเสด็จ ยศติณเธียร
8. นปช. จ.ศรีสะเกษ นายสมบัติ ศรีเลิศ
9. นปช. จ.ชัยภูมิ นางพรทิพย์ ปราชญ์นาม
10. นปช. จ.มหาสารคาม นางสมศรี อินทวงศ์
11. นปช. จ.ร้อยเอ็ด นายทุย ครูรา
12. นปช.จ.หนองบัวลำภู ร.ต.ต.เกษม บุญวิจิตร (ประธาน นปช.หนองบัวลำภู), นายสังคม อิ่มนาง, นายสมาน นวลไชยดี
13. นปช. จ.บึงกาฬ นายธนพล สำราญรม, นายศรัทธาวุฒิ ทองสำริด, นายเจริญสุข ทวยจันทร์
14. นปช. จ.หนองคาย นางจุไรรัตน์ บุทเสน, นางสงบ โลหะปาน และ ร.ต.ท.สมพร บุทเสน

นี่ถือเป็น “ยุทธวิธีใหม่เอี่ยมอ่อง” ในท่วงทำนอง “ยืมหอกคืนสนอง” ของกลุ่มสามมิตร
ที่พยายามลงไปให้ถึง “ฐานราก” ของมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
เพื่อดึงมาเป็นพวก หรือไม่ก็ตอกลิ่มทำลายลงเสีย
ซึ่งน่าจับตามองยุทธวิธีนี้อย่างยิ่ง
เพราะหากทำสำเร็จ หรือแม้แต่ทำได้บางส่วน
ความปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้นกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงยาก
เพราะการทำ “สงครามแย่งชิงมวลชน” ถือเป็นหัวใจชี้ขาดการแพ้-ชนะทางการเมืองเลยทีเดียว
ซึ่งต้องจับตาดูว่า กลุ่มสามมิตรจะทุ่มเทในการเคลื่อนไหวนี้มากแค่ไหน
และแน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย่อมยืนยันถึงการไม่รู้ไม่เห็น
เหมือนการยืนยันว่าการเดินทางไปประชุม ครม.สัญจรที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม ไม่มีนัยยะทางการเมือง
แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นเหมือนกับการส่งสัญญาณทำสงครามแย่งชิงมวลชนอย่างเต็มตัว

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะแกนนำ นปช. กล่าวถึงการรับมือเกมนี้ว่า ได้หารือกับแกนนำ นปช. แล้ว
โดยมีข้อสรุปตรงกันว่า การร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมืองใด หรือจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ถือเป็นเสรีภาพ
ตราบเท่าที่ยังยืนยันหลักการประชาธิปไตยถือว่าความเป็น นปช. ยังคงอยู่
แต่หากละทิ้งจุดยืนนี้ก็เท่ากับสิ้นสภาพ ไม่เหลือความเป็น นปช. อีกต่อไป
ที่กลุ่มสามมิตรอ้างว่าจะเดินสายพูดคุยกับแนวร่วม นปช. เพื่อสร้างความปรองดองนั้น
เป็นเรื่องที่ทำได้
แต่ถ้าคาดหวังว่าประชาชนที่เคยร่วมต่อสู้ในนาม นปช. จะไปร่วมมือในแผนสืบทอดอำนาจคงต้องคิดใหม่
เพราะกว่า 10 ปีในสนามการต่อสู้ พี่น้อง นปช. เอาชีวิตกับอิสรภาพเข้าแลก
และยังคงแบกความอยุติธรรมร่วมกันในคดี 99 ศพ จนถึงวันนี้
“ไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองบางประเภทในกลุ่มสามมิตรที่ประชาชนรู้ไส้รู้พุง จะย่อยสลายแล้วดูดลงคอได้ง่ายๆ” นายณัฐวุฒิกล่าวอย่างมั่นใจ
ส่วนอดีตแกนนำ นปช.บางคนไปเปิดตัวร่วมงานกับกลุ่มสามมิตรบ้างแล้วนั้น นายณัฐวุฒิบอกว่า ก็ขอให้โชคดี
“ความเป็นเพื่อนยังอยู่ แต่ทางการเมืองถือว่าเราปล่อยมือแล้วแยกทางกันตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดจะโจมตีหรือต่อว่าใดๆ เพราะการผละจากขบวนการประชาธิปไตยไปอยู่ในกลไกสืบทอดอำนาจ มีบทเรียนที่เจ็บปวดซึ่งประชาชนรอมอบให้อยู่แล้ว”
พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า
“ไม่แน่ใจว่าที่กลุ่มสามมิตรเดินอยู่เป็นการทำตามโรดแม็ปของผู้มีอำนาจหรือเปล่า เพราะดูแล้วคล้ายเป็นการปั่นราคา สร้างมหกรรมต้มคนใหญ่คนโตครั้งสำคัญหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสุ่มเข้าไปยังกลุ่ม นปช.ในพื้นที่ต่างๆ
ได้พบความเห็นต่างกันอยู่
อย่างนายเทพพนม นามลี แกนนำ นปช.สุรินทร์ รับว่าเป็นฝ่ายเข้าไปหานายภิรมย์ พลวิเศษ เลขาฯ กลุ่มสามมิตรเอง
เพราะเห็นว่ากลุ่มสามมิตรมีแนวความคิดที่ดี คือการสร้างความปรองดองของคนในชาติ และทำประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนรวม
ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เป็นเพียงอดีต และยังคงเป็นนายกฯ ในดวงใจของคนเสื้อแดง รวมทั้งกลุ่ม นปช.ทั่วประเทศ ซึ่งพวกตนไม่เคยทิ้งท่านเลย
แต่พี่น้องสมาชิกเสื้อแดง และ นปช. ต้องเดินหน้าเพื่อหากินเลี้ยงครอบครัวต่อไป
“ผมนั้นเป็นแกนนำ นปช.สุรินทร์ ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก นปช.สุรินทร์กว่า 20,000 คน จึงเป็น นปช.เทียมได้อย่างไร” นายเทพพนมกล่าว
และว่า
“สิ่งที่พวกผมเสียใจที่สุด คือการสูญเสียชีวิตของพี่น้องคนเสื้อแดง และ นปช. 99 ศพ ที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับปากว่าจะเร่งดำเนินการเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว แต่ผ่านไปกว่า 3 ปีก็ยังไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้เลย นปช. ก็ไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ ถามว่าผมจะทิ้งนายกฯ ทักษิณหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่ทิ้งแน่นอน โดยได้ตกลงกับนายภิรมย์ว่า ถ้าพวกผมมาร่วมกับกลุ่มสามมิตรแล้ว ขอได้ไหม 2 เรื่องคือ เรื่องแรก อย่าให้พวกผมเปลี่ยนอุดมการณ์ของคนเสื้อแดง และ นปช. เรื่องที่ 2 อย่าให้พวกผมไปด่านายกฯ ทักษิณ ซึ่งนายภิรมย์ก็รับปาก”
ขณะที่นายจำรูญศักดิ์ จันทรมัย อดีตประธาน นปช.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นต้นแบบ “แดงกลับใจ”
เพราะเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี นายจำรูญศักดิ์ ในฐานะประธาน นปช.อุบลราชธานี ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ขอพบพูดคุยกับนายกฯ และเสนอตนเข้าร่วมพัฒนาประเทศ
ทำให้ปัจจุบันเปลี่ยนบทบาทจากแกนนำแดงฮาร์ดคอร์ กลายเป็น “มือปราบทุจริต” เป็นประธานภาคีเครือข่ายตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นภาคอีสาน

ภาวะที่หลากหลายในแนวทางของ นปช.เช่นนี้เอง ทำให้กลุ่มสามมิตรใช้เป็นช่องเจาะเข้ามา ซึ่งก็เริ่มได้ผลในหลายที่
แต่ที่ยังเจาะไม่เข้าก็มี
อย่าง ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำกลุ่ม นปช.เชียงใหม่ ในฐานะผู้ประสานงาน นปช.ภาคเหนือ 17 จังหวัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า นปช. หรือคนเสื้อแดงทั่วประเทศไม่เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว เพราะมีอุดมการณ์และจุดยืนแนวทางที่ชัดเจน ไม่สนับสนุนผู้นำประเทศที่มาจากการยึดอำนาจหรือทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชน ซึ่ง นปช.ภาคเหนือ 17 จังหวัด ยังไม่เห็น หรือทราบข่าวว่ามีใครไปร่วมกลุ่มดังกล่าว
เช่นเดียวกับนายองอาจ ตันธนสิน แกนนำกลุ่มรักประชาธิปไตยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เคยถูกทาบทามเข้าร่วมกลุ่มสามมิตร ข่าวที่ออกมาเชื่อว่าเป็นการโยนหินถามทาง หรือขุดหลุมพรางเพื่อล่อเหยื่อเท่านั้น ส่วนตัวยืนยันไม่ไปร่วมแน่นอน เพราะมีจุดยืนและอุดมการณ์ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจกลุ่มคนที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากประชาชน ถ้ามีใครไปร่วมถือว่าไม่มีจุดยืนของตนเอง
ความหลากหลายของ นปช.และคนเสื้อแดงข้างต้น จึงเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ากลุ่มสามมิตรจะแทรกเข้ามาได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่เพียงอดีตนักการเมืองเท่านั้นที่เป็นเป้าหมาย “ดูด”
แต่มวลชนพื้นฐานได้กลายเป็นเป้าหมายแห่งการแย่งชิงอีกกลุ่มหนึ่งด้วย
น่าจับตายิ่งว่าจะทลายฐานที่มั่นพื้นฐานนี้ลงได้หรือไม่