เมนูข้อมูล : “ความเชื่อ” กับ “ความหวัง”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากระบอบอะไร ควรจะมีหน้าที่ “ทำให้ประชาชนมีความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น”

เงื่อนไขหรือปัจจัยที่จะทำให้มีความหวังคือ มีความเชื่อว่าความปรารถนาจะเป็นจริงได้

ชีวิตที่ “สิ้นหวัง” คือ มีความปรารถนา ไม่มีสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่าความปรารถนานั้นจะเป็นจริงขึ้นมาได้

ชีวิตประชาชนไทยในช่วงเวลานี้ เป็นที่รู้กันว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามบอกว่าความหวังจะเป็นจริงเพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจสะท้อนในทางที่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่มีความเชื่อไปในทางที่รัฐบาลบอก

เพราะแต่ละคนต่างรับรู้ความเป็นจริงที่สะท้อนมาจากแนวโน้มชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง

ตัวเลขเศรษฐกิจที่เข้าใจยากดีขึ้น แต่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ หางานทำยาก ขณะที่ข้าวปลาอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นสูงขึ้น

ความหวังที่รัฐบาลพยายามให้ จึงทำให้เกิดความเชื่อไม่ได้

ซึ่งดูจะเป็นไปในทางนี้เสียทุกเรื่อง ไม่เว้นแต่ความหวังในเรื่อง “การเมือง”

เมื่อเร็วๆ นี้ “สวนดุสิตโพล” สำรวจเรื่อง “มาช่วยกันคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2562”

ในส่วนของ “ความหวัง” สะท้อนจากคำตอบในคำถามที่ว่า “คิดอย่างไรกับการกำหนดวันเลือกตั้งในปี 2562” มากที่สุดคือร้อยละ 54.17 บอกว่าเห็นด้วย เป็นข่าวดี อยากให้มีการเลือกตั้ง

ซึ่ง “ผลดีของการมีเลือกตั้ง” นั้น ร้อยละ 43.15 บอกว่าจะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ร้อยละ 37.23 เห็นว่าต่างชาติจะเชื่อมั่น มีการลงทุน เศรษฐกิจจะดีขึ้น ร้อยละ 30.78 บอกว่าบ้านเมืองจะพัฒนา ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ร้อยละ 22.04 บอกมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ร้อยละ 11.96 เห็นว่าสถานการณ์การเมืองจะดีขึ้น

นั่นเป็นในส่วนของ “ความหวัง”

แต่เมื่อกลับมาดูในส่วนของความเชื่อ

ในคำถามที่ว่า “เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 มากน้อยเพียงใด” มากที่สุดคือร้อยละ 38.88 บอกว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น มีร้อยละ 25.09 ที่ตอบว่าค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 20.86 บอกไม่เชื่อมั่นเลย ที่ตอบว่าเชื่อมั่นแน่นอนมีแค่ร้อยละ 17.17

นั่นย่อมแปลว่า แม้การเลือกตั้งจะเป็น “ความหวังว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น” แต่ความเชื่อต่อความหวังนั้นกลับมีน้อยมาก คน “ส่วนใหญ่ไม่เชื่อ”

ความไม่เชื่อในสิ่งที่หวัง ย่อมสะท้อนถึง “ความสิ้นหวัง” อันตามมาด้วยความวิตกกังวล

ในคำถามที่ว่า “ผลเสียถ้าไม่มีการเลือกตั้งในปี 2562” คือ ร้อยละ 51.52 ตอบว่าเศรษฐกิจแย่ลงกว่าเดิม ต่างชาติไม่เชื่อมั่น ไม่มาลงทุน ร้อยละ 29.41 เห็นว่าจะเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหว บ้านเมืองไม่สงบ ร้อยละ 19.07 เห็นว่าประชาชนจะไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่น ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ร้อยละ 16.58 บอกว่าการเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดการตรวจสอบและคานอำนาจ

นี่คือสภาวะที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน

ในส่วนที่เป็น “ความหวัง” ที่ว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง อะไรต่ออะไรจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่อันมีผลจากภาวะเศรษฐกิจ หรือสิทธิเสรีภาพ การมีสิทธิมีเสียง

แต่กลับไม่สามารถเชื่อได้ว่าจะเป็นอย่างที่หวัง

“หวัง” อยู่ แต่ “ไม่เชื่อ” หรือ “เชื่อไม่ได้” ว่าจะเป็นอย่างที่หวัง

สภาวะของชีวิตเช่นนี้ ย่อมหดหู่รันทด

เป็นสภาพที่ทำให้นึกถึงเพลงที่เปิดกรอกหูประชาชนยาวนานมาเกือบ 5 ปี ว่า “จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” จะ “คืนความสุขให้เธอประชาชน”

แล้วได้แต่ “อ่อนใจ” ว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อว่า “ความหวังจะเป็นจริงได้”