มนัส สัตยารักษ์ : มาทำไม-มาทำงาน

วิกฤต “13 หมูป่า” ณ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำเอาคนไทยทั้งประเทศแทบจะวางมือจากกิจวัตรประจำวัน (รวมทั้งฟุตบอลโลก) คอยเฝ้าลุ้นอยู่หน้าจอติดตามข่าวความคืบหน้าความพยายามของบรรดา “ฮีโร่ตัวจริง” ที่จะฝ่าอุปสรรคเพื่อช่วยชีวิตพวกเขา

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศเราเหมือนไม่มีกฎหมายหรือไม่มีหน่วยงานไว้รองรับปัญหาทำนองนี้ไว้เป็นการเฉพาะ จึงทำให้ค่อนข้างสับสนอลหม่านเมื่อเกิดเหตุขึ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุแห่งความเสียหายและวินาศภัย (disaster) แต่ละเหตุแทบจะไม่คล้ายกันเลย ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว เพลิงไหม้รายใหญ่ เครื่องบินตก เรือล่ม น้ำท่วม หมอกควัน ดินสไลด์ แล้งและร้อนจัด ฯลฯ รวมทั้งโรคระบาด

ผมเข้าใจว่าทุกองค์กรมี “แผนหลัก” ที่ร่างไว้ด้วยการคาดการณ์ล่วงหน้า เช่น ถ้าไฟไม้หรือน้ำท่วม ให้ขนย้ายสิ่งของตามหมายเลขลำดับความสำคัญ 1, 2 และ 3 …เป็นต้น

กองทัพเรือจะมีหน่วย “ซีล” (SEA Air Land) ซึ่งฝึกไว้สำหรับปฏิบัติการลับ แต่พร้อมที่จะเผชิญกับภัยไม่ว่าจะในทะเล กลางอากาศ และภาคพื้นดิน

ตำรวจในยุคที่ผมยังรับราชการเคยมีหน่วยบรรเทาสาธารณภัย แล้วโอนไปให้หน่วยอื่น แต่ 191 และกองปราบปรามฝึกชุดที่พร้อมจะเป็นกำลังสนับสนุนทดแทน ตำรวจเหมือนเป็ดต้องรับภารกิจได้หลายอย่าง

ทุกหน่วยปฏิบัติการจะมีชุดแบบ “อรินทราช” สำหรับหยุดยั้งการก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็พร้อมบรรเทาภัยและช่วยเหลือประชาชน

ในยุคถัดมาตำรวจต้องเน้นภารกิจความมั่นคง มีหน่วย “ควบคุมฝูงชน” ซึ่งปฏิบัติการแต่ละครั้งจะไม่เป็นไปตามแผน เป็นเหตุให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ถูกฟ้องร้องคดีคาราคาซังกันหลายชุด ชุดละหลายปี

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการ “13 หมูป่าถ้ำหลวง” ผ่านไปด้วยดี ส่วนหลักมาจากการบริหารอย่างมืออาชีพของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

AFP PHOTO / Ye Aung THU

กรณีน้ำท่วมปิดทางถ้ำหลวงครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับสึนามิ แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมในพื้นที่ราบ ไม่ใช่เกิดจากอาชญากรรม ไม่ได้เป็นความผิดพลาดบกพร่องของใคร

แต่บังเอิญว่ามีทีมนักฟุตบอลเยาวชน “หมูป่าอะคาเดมี” กับโค้ช รวม 13 คนติดอยู่ในถ้ำ ชีวิตและความปลอดภัยของพวกเขาเป็นเดิมพัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าเราได้ไปเห็นที่เกิดเหตุจริง แม้แต่ดูภาพ-ไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 3 มิติก็ตาม-ความยาวเป็นสิบกิโลเมตร ความลึก สูง ต่ำ คดเคี้ยวและซับซ้อน รวมถึงความมืด เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญทั้งสิ้น

มิหนำซ้ำวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว 9-10 วัน ท่ามกลางสายฝน แถมด้วยเสียงค่อนแคะของผู้มีเจตนาร้าย ทำให้ประสาทเสียเอาง่ายๆ

แต่ในที่สุดกลายเป็นเรื่องน่าประทับใจอย่างมาก ที่ทั้งคนไทยและต่างชาติซึ่งมีศักยภาพสูงและจิตใจเปี่ยมด้วยความเสียสละ ได้ระดมความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถจนกระทั่งพบหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตปลอดภัยอย่างอิดโรยอยู่ในถ้ำ

เราได้หลายสิ่งหลายอย่างที่คุ้มค่ามากกว่าเงินทองและแรงงานที่เสียไป สิ่งที่เราได้มากมายเกินกว่าจะบรรยายได้หมด ณ ที่นี้

ในฐานะที่เป็นอดีตตำรวจ ผมคอยติดตามเฝ้าดูการทำงานของตำรวจที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ และชื่นใจเมื่อพบว่าตำรวจทุกท่านต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะ พล.ต.อ. 3 ท่าน ทั้งนี้เพราะเป็นบิ๊กตำรวจระดับ “หัว” เป็นตัวอย่างนำลูกน้องทั้งประเทศ

ผมไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวจริง ได้แต่ดูประวัติจากกูเกิล

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. นรต.36 ปริญญาตรี สาขารัฐศาตร์ รร.นรต. ปริญญาโท สาขาบริหารรัฐกิจ สหรัฐ หลักสูตรต่อต้านการก่อการร้าย เก็บกู้ระเบิด FBI สหรัฐ สืบสวนสอบสวนโดยใช้เทคโนโลยี

เป็นนักกีฬามาตั้งแต่เรียนวชิราวุธวิทยาลัย วิ่งเร็ว เป็นแชมป์วิ่งกระโดดข้ามรั้ว 110 เมตร เป็นนักรักบี้ รร.นรต.ชุดที่ชนะเลิศ

ภาพจำของบิ๊กแป๊ะเมื่อครั้งเป็นรอง ผบช.น. ครั้งสลายการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรฯ คือถอดเสื้อของตนเองเข้าพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. นรต.35 ปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เคยเป็นนายเวร พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล (อดีตรอง ผบ.ตร.) ครั้งเป็น ผบก.ปม. มีความรู้และเชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ป่าสงวนฯ พันธุ์พืชและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นพิเศษ

ผมเดาว่าท่านต้องมีความรอบรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น เรื่องบาดาล แหล่งต้นน้ำในป่าหรือบนเขา ตลอดจนเรื่องอ่อนไหวของอุทยานฯ

พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. นรต.37 ปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ ปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาฯ ปริญญาเอก สาขาการบริหารการพัฒนา (ภาคภาษาอังกฤษ) จากนิด้า

ทั้ง 3 พล.ต.อ. ต่างเหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ที่ถ้ำหลวง อย่างที่เรียกว่า put the right man on the right job ตรงตามความรู้ความสามารถของแต่ละคน เช่น หาช่องทางเข้าถ้ำจากด้านอื่น ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในการเจาะผนังถ้ำหรือตรวจภาพจากโดรน และประสานงานกับอาสาสมัครจากต่างประเทศ

เพียงแต่ว่าสื่อเลือกเสนอภาพของคนทำงาน-จักรทิพย์และวิระชัย-ออกมาเผยแพร่ ยกย่องชมเชย

ส่วนศรีวราห์ คลิปภาพการทำงานถูกตัดต่อ เลือกเอาภาพเชิงลบของคน “ดาวพุธเสีย” มาประจานในสื่อโซเชียล

แล้วบานปลายไปยังสื่อหลักและสื่อต่างประเทศ บานปลายไปจนกระทั่งมีการแชร์เรียกร้องให้ปลดศรีวราห์

และคนที่แชร์เมื่อได้ดูและฟังคลิปอย่างยาวมาแต่เริ่ม ก็ลบแชร์ข้อเรียกร้องออก และมาขอโทษ แต่ก็สายเสียแล้วกับความรวดเร็วของการสื่อสารสมัยใหม่

นอกจากนี้ยังมีภาพชวนขำของคนทำงานในภารกิจนี้หลายภาพพร้อมคำบรรยายว่า “มาทำงาน” ตบท้ายด้วยภาพศรีวราห์พร้อมคำบรรยายว่า “มาทำไม” (ฮา)

“ดาวพุธเสีย” เป็นภาษาโหราศาสตร์ หมายความว่าเป็นลักษณะของคนที่เสียหายเพราะคำพูด หรือปากเป็นเภทภัย

“ไอ้โจ้…โดรนมึงอยู่ไหน เอามาให้กูดูตรงนี้…แล้วมึงมีใบอนุญาตหรือเปล่าเนี่ย… ถ้าใบอนุญาตไม่มี โดนนะมึง” นี่คือส่วนหนึ่งของคำพูดในคลิป เป็นคำพูดของศรีวราห์กระเซ้าชวนหัวเราะแท้ๆ แต่ถูกตัดต่อแล้วนำเสนอในเชิงประจานว่าลงโทษคนทำงาน

อย่าว่าแต่คนที่ไม่ชอบศรีวราห์จะเห็นเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรง แม้แต่โฆษกทีวีชื่อดังซึ่งควรจะตรวจสอบข่าวก่อน ยังพลอยเชื่อว่าเป็นการเล่นงานลูกน้อง

อย่าว่าแต่โฆษกทีวี แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังมองภาพศรีวราห์ผิด และด้วยความที่เป็นคน “ดาวพุธเสีย” เหมือนกัน ท่านทักศรีวราห์ว่า

“มาทำไม มาจับใครเหรอ” (ฮา)

ผมไม่ใช่โหร แต่ที่ทายลักษณะนายกฯ ตู่ว่าเป็นคนพุธเสีย ก็เพราะว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมชมชอบ ผบ.ทบ. ท่านนี้มาก แต่หลังจากได้ฟังท่านพูดอ้อแอ้เจืออารมณ์บูดในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวีหรือให้สัมภาษณ์… ผมไม่ชอบท่านอีกเลย!!