กรองกระแส / อำนาจ ไม่เสถียร กระบวนการ สืบทอดอำนาจ ผ่านกลไก รัฐประหาร

กรองกระแส

 

อำนาจ ไม่เสถียร

กระบวนการ สืบทอดอำนาจ

ผ่านกลไก รัฐประหาร

 

ไม่ว่ายุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ไม่ว่ายุคของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 หนทางแห่งการสืบทอดอำนาจมีเพียง 2 วิธีการเท่านั้น

1 คือการรัฐประหาร “ซ้ำ”

ขณะเดียวกัน 1 คือการจัดตั้งพรรคการเมือง

หากศึกษาสภาพการณ์ทางการเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา ไม่ว่ายุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ว่ายุคจอมพล ส. ธนะรัชต์ ไม่ว่ายุคจอมพล ถ. กิตติขจร อันถือว่าเป็นต้นแบบ

ไม่ว่ายุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่ายุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ล้วนดำเนินกระบวนการสืบทอดอำนาจของตนเพียง 2 แนวทางนี้เท่านั้น ไม่มีหนทางอื่น เพียงแต่จะใช้วิธีการใดก่อน วิธีการใดหลัง

น่าสนใจก็ตรงที่ทั้ง 2 วิธีการล้วนนำไปสู่จุดจบเหมือนๆ กัน

เป็นจุดจบที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องหนีออกนอกประเทศ เป็นจุดจบที่จอมพล ส. ธนะรัชต์ ถูกยึดทรัพย์ด้วยคำสั่งมาตรา 17 เป็นจุดจบที่จอมพล ถ. กิตติขจร ถูกบีบให้ออกนอกประเทศและถูกยึดทรัพย์

เป็นจุดจบที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องอำลา เป็นจุดจบที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องอำลา

 

รัฐประหารซ้ำ

เพื่อสืบทอดอำนาจ

 

ในยคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีรัฐประหารซ้ำ 2 ครั้ง คือรัฐประหารเงียบด้วยการจี้บังคับนายควง อภัยวงศ์ ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2491 และรัฐประหารซ้ำในเดือนพฤศจิกายน 2492 เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญและนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 กลับมา

จากนั้นก็นำไปสู่การจัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 อันถือกันว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกและเป็นชนวนไปสู่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500

รัฐประหารเดือนกันยายน 2500 นำอำนาจมาอยู่ในมือจอมพล ส. ธนะรัชต์

ระยะแรกอาจให้นายพจน์ สารสิน พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่สุดก็ทำรัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2501 และครองอำนาจจนอสัญกรรมในเดือนธันวาคม 2506 คล้ายกับอำนาจมั่นคงอย่างยิ่งในมือจนวาระสุดท้าย

แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า จอมพล ส. ธนะรัชต์ ถูกคำสั่งมาตรา 17 ให้ยึดทรัพย์โดยจอมพล ถ. กิตติขจร

จอมพล ถ. กิตติขจร อาจถือได้ว่าเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากยุคจอมพล ส. ธนะรัชต์ กระทั่งประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 แล้วสืบทอดอำนาจต่อไปแล้วก็ก่อรัฐประหารซ้ำอีกในเดือนพฤศจิกายน 2514

 

จัดตั้งพรรคการเมือง

ปฏิบัติการ “พลังดูด”

 

จากยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงยุคจอมพล ถ. กิตติขจร ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์” วนเวียนซ้ำซากอยู่ 2 แนวทางดังได้กล่าวข้างต้น

1 คือการรัฐประหาร “ซ้ำ” 1 คือการจัดตั้งพรรคการเมือง

ภายหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 การรัฐประหาร “ซ้ำ” เพื่อสืบทอดอำนาจกระทำได้ยากยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องเดินแนวทางจัดตั้งพรรคการเมืองอาศัยกลไกของรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือสำคัญ

เหมือนพรรคเสรีมนังคศิลา เหมือนพรรคชาติสังคม เหมือนพรรคสหประชาไทย

ภายหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกัน ก็จัดตั้งพรรคการเมืองอย่างพรรคเสรีธรรมขึ้นมาเป็นองค์ประกอบ สามารถสืบทอดอำนาจไปได้แม้ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก นั่นก็เพราะอาศัยการเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ

ภายหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกัน ก็จัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมมาเป็นองค์ประกอบ สามารถสืบทอดอำนาจไปได้

แต่ก็อยู่ในอำนาจได้ไม่นานก็ต้องถูกกดดันให้ต้องออกไป

 

การเมืองยุคใหม่

การเมืองเลือกตั้ง

 

กระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นมาต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจ แต่อำนาจก็อยู่ในมือได้ไม่นาน

ไม่ว่ายุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ว่ายุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญที่สร้างความได้เปรียบนั้นดำรงอยู่ในกระบวนการสร้างพรรคการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน มาเป็นพลังในการดูดเอานักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์มาเป็นเครื่องมือ นักการเมืองเหล่านี้ย่อมใช้เงื่อนไขเหล่านี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ ที่สุดก็ถูกต่อต้านคัดค้านจากประชาชน

การสืบทอดอำนาจด้วย 2 วิธีการนี้จึงไม่จีรังและยั่งยืนตามความปรารถนา