โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญกลมรูปเหมือน มงคล ‘หลวงปู่สร้อย’ วัดทรงศิลา มหาสารคาม

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

 

เหรียญกลมรูปเหมือน

มงคล ‘หลวงปู่สร้อย’

วัดทรงศิลา มหาสารคาม

 

หลวงปู่สร้อย จิตตทันโต อดีตเจ้าอาวาสวัดทรงศิลา ต.สันป่าตอง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังร่วมสมัยกับหลวงพ่อสา วัดบ้านเหล่า อ.พยัคฆภูมิพิสัย, หลวงปู่ป้อ วัดโพธิ์ศรีบ้านเอียด เป็นต้น

วัตถุมงคลที่โด่งดัง เป็นสุดยอดปราถนาของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่อง

หลังจากมรณภาพครบรอบ 30 ปี ในปี พ.ศ.2515 คณะศิษยานุศิษย์ นำโดยพระศรีวชิรโมลี ซึ่งเคยบรรพชาอยู่ที่วัดบ้านปลาขาว และเคยรับใช้อุปัฏฐาก จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนในวันมาฆบูชา เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของหลวงปู่สร้อย และนำรายได้จากการเช่าบูชาไปพัฒนาเสนาสนะภายในวัด

ลักษณะเป็นเหรียญกลม มีหู

ด้านหน้าเหรียญ ใต้ห่วงเป็นอักขระ เขียนว่า “นะโมตัสสะ” จากด้านขวาของเหรียญโค้งลงไปด้านล่างวนขึ้นไปทางด้านซ้ายเขียนว่า “พระอุปัชฌาย์สร้อย จิตฺตทันโต” บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่สร้อยครึ่งองค์

ด้านหลังเหรียญ เป็นเหรียญยกขอบ ใต้ห่วงเขียนว่า “วัดทรงศิลา จ.มหาสารคาม” ตรงกลางเหรียญเป็นรูปพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ ด้านล่างแถวแรก เขียนว่า “๒๕๑๕” เป็นปี พ.ศ. ที่จัดสร้าง และแถวที่สองมีตัวหนังสือเขียนว่า “มาฆบูชา”

สำหรับเหรียญรุ่นนี้ จำนวนการสร้างไม่แน่นอน แต่ไม่น่าจะเกิน 2,000 เหรียญ มีเนื้อทองแดงอย่างเดียว

พิธีพุทธาภิเษก พระศรีวชิรโมลี อดีตเจ้าคณะอำเภอนาเชือก พร้อมพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของมหาสารคาม ในยุคนั้นหลายรูป อาทิ หลวงปู่มี กันตสีโล ได้จัดพิธีพุทธาภิเษก ที่วัดทรงศิลา บ้านปลาขาว

ภายหลังเสร็จพิธี เปิดให้เช่าบูชาเหรียญละ 19 บาท

ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย สร้างหลังจากหลวงปู่สร้อยมรณภาพแล้ว แต่เหรียญรุ่นนี้ก็เชื่อว่ามีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน ทำให้เหรียญที่จัดสร้างขึ้นถูกเช่าบูชาหมดไปอย่างรวดเร็ว

จัดเป็นเหรียญดีราคาถูกเหรียญหนึ่งที่ค่อนข้างจะหายาก

เหรียญหลวงปู่สร้อย พ.ศ.2515 (หน้า)
เหรียญหลวงปู่สร้อย พ.ศ.2515 (หลัง)

 

ทั้งนี้ การสืบค้นประวัติจากปากคำของพระศรีวชิรโมลี ได้ข้อมูลพอสังเขปเท่านั้น

เนื่องเพราะไม่มีการบันทึกไว้แต่อย่างใด แม้แต่ภาพถ่ายที่วัดบ้านปลาขาว ทราบเพียงว่า นามเดิมชื่อ สร้อย กันยาวรณ์ เกิดในปี พ.ศ.2428 ณ บ้านหนองบัวชุม อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ไม่ทราบชื่อบิดา-มารดา ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเด็ก ช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง เมื่ออายุย่าง 15 ปี ออกเรือนแต่งงานมีครอบครัว อยู่กินกับภรรยานาน 5 ปี มีบุตร 2 คน

กระทั่งอายุ 20 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบ้านแก่นท้าว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โดยมีพระครูสีหราช เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังอุปสมบทแล้ว เดินทางไปจำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ สำนักเรียนวัดบ้านหนองโพธิ์ อ.นาเชือก มุมานะศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก นอกจากนี้ ยังไปเรียนวิชาสมุนไพร การทำบั้งไฟ ตะไล กับหลวงปู่บัว บ้านกุดอ้อ อ.วาปีปทุม อีกทั้งให้ความสนใจด้านวิทยาคม จึงไปจำพรรษาที่วัดบ้านแก่นท้าว ขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคมกับพระครูสีหราช พระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งเมตตาถ่ายทอดสรรพวิชาสายเขมรให้จนหมดสิ้น

หลังจำพรรษาอยู่วัดบ้านแก่นท้าว 2 พรรษา กราบลาพระครูสีหราช ออกธุดงค์ไปหลายแห่ง

 

ช่วงนั้นวัดบ้านปลาขาว อ.นาเชือก ขาดแคลนพระผู้ใหญ่ ชาวบ้านเห็นว่าท่านเป็นพระหนุ่มที่มีความรู้ความสามรถ วัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้มาจำพรรษาที่วัดบ้านปลาขาว สร้างความเจริญให้กับวัดแห่งนี้

หลังจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านปลาขาว วัตรปฏิบัติยังคงเหมือนเดิม คือ ช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี จะออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสานและป่าประเทศกัมพูชา เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น

มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติจำเริญรอยตามพระครูสีหราช ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา นักการศึกษา เนื่องเพราะท่านทราบดีว่าพระภิกษุสามเณรที่มาบวชเรียนล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน ท่านจึงเปิดสำนักเรียนปริยัติธรรมขึ้นหลวงปู่เป็นครูสอนเอง ส่วนปัจจัยที่ได้จากจากการบริจาคได้นำมาสนับสนุนการเรียนของพระภิกษุ-สามเณร หากรูปใดเรียนเก่ง มุมานะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จะมีทุนการศึกษาให้ทุกปี

ส่วนความรู้ด้านสมุนไพรสามารถช่วยชีวิตชาวบ้านได้มาก เพราะยุคสมัยนั้นการสาธารณสุขยังไม่เจริญ โดยไม่ได้เรียกร้องค่ารักษา

สำหรับตำแหน่งงานปกครอง ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านปลาขาว พระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะหมวด

ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบใน ปี พ.ศ.2484 สิริอายุ 56 ปี พรรษา 36