เมนูข้อมูล : ฟื้นซากขึ้นมาช่วยอุ้ม

การเมืองเคลื่อนไปในแรงของความพยายามที่จะให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง

วิธีการค่อยๆ ขยับจากความคิดที่ว่าจะต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่า “นักการเมืองกลุ่มเดิม” เป็นพวกเลวร้าย เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เป็นอุปสรรคหรือถึงขั้นเป็นตัวทำลายการพัฒนาประเทศ

พร้อมกันนั้นก็หาทางสร้างนักการเมืองหน้าใหม่ๆเข้ามา เพื่ออวดอ้างว่าเป็นคุณภาพใหม่ ที่จะแทน “นักการเมืองเก่า” ที่ถูกทำลายไปด้วยภาพลักษณ์ที่เลวทราม

ความพยายามเช่นนั้นดำเนินมาระยะหนึ่ง

พอถึงวันนี้ จะพบว่าทิศทางของความพยายามค่อยๆ เปลี่ยนไป แม้ว่าจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ โดยคนใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทจะยังมีอยู่ แต่ความหวังกลับต้องกระจายสู่นักการเมืองหน้าเก่า เริ่มจากกลุ่มที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกัน

ถึงวันนี้ที่อึกทึกครึกโครม เป็นความหวังมากกว่ากลายเป็น “นักการเมืองกลุ่มที่เคยถูกโจมตีว่าเป็นปัญหาของการพัฒนาประเทศ”

กลุ่มนักการเมืองที่ถูกกระทำให้ภาพลักษณ์เสียหายยับเยินในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมาถูกเชิดชูให้เป็นความหวังที่มากกว่านักการเมืองหน้าใหม่ทั้งหลายที่ได้รับการสถาปนาว่าเป็น “คนดี” ในการที่จะอุ้ม “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อไปหลังเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปได้มากที่จะถูกมองว่าเกิดจากผลงานเกือบ 5 ปีที่ผ่านมายังเป็นคำถามในใจประชาชน ที่อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง

และบางทีผลสำรวจของ “นิด้าโพล” อาจจะให้คำตอบบางประการได้พอสมควร

“นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย”

ในเรื่อง “ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น” ร้อยละ 56.64 ตอบว่าไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 38.32 ตอบว่าเชื่อมั่น

น่าสนใจในคำถามเรื่อง “เมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่” ร้อยละ 60.64 ตอบว่าดีขึ้น ร้อยละ 22.40 ตอบว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 2.00 เท่านั้นที่ตอบว่าจะแย่ลง

นั่นย่อมสะท้อนความพอใจในผลงานของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งชุดนี้ต่อปัญหาปากท้องของประชาชน

ขณะที่รัฐบาลพยายามชี้ให้เห็นพัฒนการด้านเศรษฐกิจของประเทศว่าดีขึ้น มีการเติบโตค่อนข้างสูงกว่าที่ผ่านมา และนโยบายที่เน้นการลงทุนทั้งจากภาครัฐที่เทงบประมาณไปมหาศาลกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งจากนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนไทย จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

อันเป็นการให้ความหวังกับประชาชน

แต่กลายเป็นว่าเมื่อถามเรื่อง “ข้อเสนอนโยบายที่อยากให้รัฐบาลนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

คำตอบ ร้อยละ 45.68 ระบุว่า นโยบายรับซื้ออุดหนุนพืชผลทางการเกษตร

รองลงมา ร้อยละ 42.80 ระบุว่า นโยบายควบคุมราคาสินค้า

ร้อยละ 19.84 ระบุว่า นโยบายเพิ่มงานเพิ่มอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน และแรงงานนอกระบบ

ร้อยละ 17.44 ระบุว่า นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยและคงอัตราภาษี

ร้อยละ 17.04 ระบุว่านโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

ร้อยละ 12.64 ระบุว่า นโยบายมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยเพิ่มมากขึ้น

ร้อยละ 11.68 ระบุว่า นโยบายในการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการจัดการเลือกตั้ง

ร้อยละ 8.80 ระบุว่า นโยบายที่สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)

ร้อยละ 7.28 ระบุว่า นโยบายที่ส่งเสริมประสิทธิภาพในการส่งออกของประเทศไทย

ร้อยละ 5.12 ระบุว่า นโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)

และร้อยละ 2.88 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ นโยบายการลดราคาน้ำมัน การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการก็ดีอยู่แล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีนโยบายที่จะนำเสนอ

จะเห็นว่าข้อเสนอที่เกี่ยวกับการสนับสนุนการลงทุนแม้จะมีอยู่ แต่น้อยมาก

ตรงนี้เองที่น่าสนใจ

เมื่อนโยบายที่รัฐบาลทำกับเรื่องที่ประชาชนต้องการเป็นคนละเรื่อง

จะเป็นเรื่องแปลกอะไรที่ผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลจะไม่เป็นความหวังของประชาชน