กรองกระแส / เส้นทางคดเคี้ยว ภายในกระบวนการเลือกตั้ง ประยุทธ์ คสช.

กรองกระแส

 

เส้นทางคดเคี้ยว

ภายในกระบวนการเลือกตั้ง

ประยุทธ์ คสช.

 

ไม่ว่ากระบวนการยื้อ ถ่วง หน่วง การเลือกตั้ง จากปี 2558 มายังปี 2561 และทอดเวลาไปยังปี 2562 มาจากความไม่แน่ใจว่าจะเอาชนะได้

นั่นก็คือ ไม่ว่าจะทำอย่างไรหากมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็จะต้องชนะ

เป็นชัยชนะที่แม้ว่ากฎกติกาอันกำหนดผ่านกระบวนการของรัฐธรรมนูญจะพยายามสกัดขัดขวางในทุกวิถีทางอันเข้มข้นอย่างไรก็ตาม

ตรงนี้เองจึงจำเป็นต้อง “ยื้อ” จำเป็นต้อง “ถ่วง” จำเป็นต้อง “หน่วง”

ขณะเดียวกัน เมื่อย่างเข้าห้วงสุดท้ายซึ่งยากต่อการยื้อ ทางหนึ่งจึงจำเป็นต้องจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น และเปิดยุทธการ “พลังดูด”

เป้าหมายการดูดจึงอยู่ที่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นด้านหลัก

การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็เพื่อ 1 บั่นทอนกำลังภายในพรรคเพื่อไทย และ 1 เพื่อนำเอากำลังของอดีต ส.ส. ที่ได้จากพรรคเพื่อไทยไปเสริมความแข็งแกร่ง มั่นคงให้กับพรรคพลังประชารัฐ

เป้าหมายแม้ไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ แต่อย่างน้อยระยะห่างระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคคู่ต่อสู้อื่นในทางการเมืองก็จะลดน้อยลงไปตามความสำเร็จของการดูด

 

เพื่อไทย ชนะแน่

แต่จะเป็น ฝ่ายค้าน

 

ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของ คสช. ไม่ว่าจะมองจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมองจากพรรคการเมืองอื่นทั้งใหม่และเก่า ล้วนเห็นไปในทางเดียวกันว่า

ในสนามการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะได้ชัยชนะมาเป็นอันดับ 1

เพียงแต่ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะเป็นชัยชนะอย่างไร ชัยชนะอย่างชนิดถล่มทลาย หรือเป็นชัยชนะที่มิได้ถล่มทลาย

ชัยชนะอย่างถล่มทลายนั้นมิได้หมายความว่าได้มากกว่า 250 หรือเกินครึ่งหากต้องถึง 300

กระนั้น หากพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงของกระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายการเลือกตั้งมีความเป็นได้น้อยมาก ขณะเดียวกัน หากดูตามการจัดวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าของ คสช. แม้จะได้ชัยชนะก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย

แนวโน้มและความเป็นไปได้ก็อย่างที่พรรคเพื่อไทยประเมินเอาไว้แล้วก่อนการเลือกตั้ง นั่นก็คือ แนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นฝ่ายค้าน

โอกาสที่จะมีการสืบทอดอำนาจโดย คสช. มีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง

 

ชัยชนะของ คสช.

กับรัฐบาล คสช.

 

มีความเชื่อค่อนข้างสูงว่าในที่สุดแล้วกระบวนการเลือกตั้งจะเปิดทางให้กับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ค่อนข้างสูง

ไม่เพียงแต่มี 250 ส.ว. เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

หากการผนึกตัวรวมพลังระหว่างพรรค คสช. กับพันธมิตรจะดำเนินไปท่ามกลางแรงเสียดทานจากการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งอาจก่อความลังเลในเบื้องต้น นั่นก็ขึ้นอยู่กับชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรในทางความคิด ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าพรรคประชาชาติ จะเป็นอย่างไร

แต่การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย จะเป็นปัจจัยชี้ขาด

นั่นหมายถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือแม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนา จะไปร่วมกับพรรคของ คสช. อันได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย แล้วเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมีค่อนข้างสูง เพียงแต่โอกาสนี้มิได้เป็นการเสวยสุข หากแต่มีความโน้มเอียงที่จะเป็น “ทุกขลาภ” ในทางการเมืองมากกว่า

 

ปัญหา คสช.

มิใช่ ฝ่ายค้าน

 

หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการหนุนเสริมจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย แม้จะมี 250 ส.ว. แม้จะมีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นฐาน และมีกลไกตามรัฐธรรมนูญคอยเกื้อหนุน ก็มิได้หมายความว่าจะบริหารราชการแผ่นดินได้โดยราบรื่น

ปัญหามิได้มาจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ

ตรงกันข้าม ปัญหาจะมีจุดเริ่มมาจากภายในรัฐบาลผสม ไม่ว่าจะจากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา

เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ก็ล้วนแต่มี “วาระ” ที่แน่นอนอันเป็นของตน เริ่มจากผลประโยชน์ในเรื่องตำแหน่ง และผลประโยชน์อันเนื่องแต่นโยบายเฉพาะของพรรค

ยิ่งกว่านั้น บรรดา “กับดัก” ที่ซ่อนอยู่ภายใน “รัฐธรรมนูญ” ก็สาหัส

ยิ่งกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มี “อำนาจพิเศษ” อยู่ในมือเหมือนกับที่เคยมีในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

โอกาสที่รัฐบาลจะดำรงอยู่อย่างขาดเสถียรภาพ ง่อนแง่นจากปัญหาภายในมีสูงอย่างสูงยิ่ง