วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 27

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

การที่ราชวงศ์ฮั่นเลือกความรู้จากสำนักหญูนั้น ย่อมผิดกับราชวงศ์ฉินที่เลือกจะใช้ความรู้ของสำนักนิตินิยม โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า นับแต่สมัยฮั่นเป็นต้นมา ระบบการศึกษาผ่านความรู้ของสำนักหญูก็ถูกสืบทอดโดยราชวงศ์ในชั้นหลังเรื่อยมา และมั่นคงอยู่เช่นนี้ตราบจนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลาย

อย่างไรก็ตาม นอกจากระบบการปกครองและการศึกษาจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่งานศึกษานี้พึงกล่าวถึงด้วยก็คือ

ระบบวันหยุดและการเกษียณอายุราชการ

 

เริ่มจากระบบวันหยุดที่ในสมัยฉินยังไม่มีความชัดเจนนั้น มาในฮั่นสมัยแรกและฮั่นสมัยหลังก็มีความชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น

โดยทั่วไปแล้วขุนนางจะมีวันหยุดหนึ่งวันต่อการทำงานทุกๆ ห้าวัน วันหยุดนอกนั้นคือวันหยุดตามเทศกาลสำคัญ วันหยุดตามเทศกาลนี้หยุดได้หลายวันเพื่อให้ขุนนางได้ไปประกอบกิจธุระส่วนตัว

นอกจากนี้ ขุนนางยังสามารถลาป่วยได้อีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปลาได้ไม่เกินสามเดือน หากเลยกำหนดแล้วยังไม่กลับมาปฏิบัติงานจะถือว่ามีความผิด และจะถูกให้ออกจากราชการ

แต่ที่น่าสนใจคือ ในกรณีที่บิดาหรือมารดาของขุนนางเสียชีวิต ขุนนางผู้นั้นสามารถลาหยุดได้ 36 วัน แต่หลังฮั่นสมัยแรกไปแล้วการหยุดในกรณีนี้ถูกขยายเวลาไปเป็นสามปี

ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะนโยบายนี้สอดคล้องกับการชูลัทธิขงจื่อมาเป็นหลักในการปกครอง ด้วยว่าลัทธินี้ให้ความสำคัญกับความกตัญญูสูงมาก

 

ส่วนการเกษียณอายุราชการค่อนข้างเป็นระบบทั้งสมัยฉินและฮั่น โดยขุนนางจะเกษียณได้ในกรณีที่ชราภาพหรือเจ็บป่วยจนปฏิบัติงานไม่ได้ และเมื่อเกษียณแล้วก็ยังได้รับเงินบำนาญอีกด้วย เงินบำนาญนี้อาจจะเท่ากับเงินเดือนหรือน้อยกว่าก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจักรพรรดิจะทรงพิจารณา นอกจากนี้ขุนนางบางคนยังอาจได้รับบำเหน็จอีกด้วย บำเหน็จนี้จะได้รับครั้งเดียวซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของตัวเงิน บ้าน หรือม้า เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว แม้การเกษียณอายุราชการของขุนนางจีนจะมิได้กำหนดอายุ และใช้เกณฑ์ความชราและการเจ็บป่วยมาพิจารณาก็ตาม

แต่สังคมจีนก็ดูเหมือนจะคุ้นชินกับเกณฑ์ที่ว่านี้พอสมควร เพราะแม้ในยุคที่จีนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ดังปัจจุบัน เกณฑ์นี้ก็ยังสามารถเห็นได้อยู่

ดังจะเห็นได้จากที่ล่าสุดนี้ได้มีการกฎหมายให้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีพ เป็นต้น

 

จ.เศรษฐกิจกับปฏิสัมพันธ์ต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่น

การที่ฮั่นสมัยหลังเกิดห่างจากฮั่นสมัยแรกนานนับสิบปีโดยถูกคั่นด้วยยุคของหวังหมั่งนั้น เวลาดังกล่าวแม้จะยาวนานก็จริง แต่ก็ไม่ได้ยาวนานเกินกว่าความทรงจำที่มีต่อฮั่นสมัยแรกจะสูญสลายไป

เหตุดังนั้น เมื่อฮั่นสมัยหลังถูกสถาปนาขึ้นมา เศรษฐกิจในยุคนี้จึงมีฐานคิดสองส่วนประกอบกัน

ส่วนหนึ่งคือฐานคิดที่ฮั่นสมัยแรกทิ้งเอาไว้ให้ฮั่นสมัยหลังพึงสานต่อหรือปรับให้เหมาะสม อีกส่วนหนึ่งคือฐานคิดที่ยุคของหวังหมั่งทิ้งเอาไว้ ในส่วนนี้ฮั่นสมัยหลังย่อมนำมาเป็นบทเรียนสำหรับตน อย่างน้อยก็ในแง่ของความล้มเหลวที่นำความล่มสลายมาให้แก่ระบอบหวังหมั่งเอง

แน่นอนว่า บนฐานคิดที่ว่านี้ฮั่นสมัยหลังย่อมที่จะสืบทอดจากสิ่งที่ฮั่นสมัยแรกทิ้งเอาไว้ให้เป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจของฮั่นสมัยหลังจึงถูกอธิบายไม่มากเท่าฮั่นสมัยแรกในฐานะผู้ริเริ่ม

แต่ในขณะเดียวกัน ฮั่นสมัยหลังกลับมีการค้าต่างประเทศที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติที่มิใช่ฮั่นในแง่ของเขตแดนอีกด้วย (ไม่ต่างกับฮั่นสมัยแรก) กรณีหลังมีผลไม่มากก็น้อยต่อเศรษฐกิจของฮั่นสมัยหลังเอง

จากเหตุนี้ การศึกษาประเด็นเศรษฐกิจในที่นี้จึงมีประเด็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นเข้ามาเกี่ยวพันอยู่ด้วย

 

แม้การฟื้นราชวงศ์ฮั่นหรือฮั่นสมัยหลังได้อีกครั้งหนึ่งจะสะท้อนถึงความสำเร็จก็ตาม แต่ก็เป็นความสำเร็จบนซากปรักหักพังจากสงครามที่ดำเนินมายาวนาน จากเหตุนี้ ฮั่นกวางอู่ตี้จึงทรงใช้นโยบายประหยัดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง

วิธีคือ ลดอัตรากำลังคน ปรับโครงสร้างการปกครองให้มีความคล่องตัว ลดจำนวนทาส เพิ่มแรงงานภาคการเกษตร และลดภาษีให้กลับมาอยู่ที่หนึ่งต่อสามสิบเพื่อบรรเทาภาระของราษฎร นโยบายเช่นนี้จึงย่อมสามารถซื้อใจราษฎรได้ในอีกด้านหนึ่ง

กล่าวเฉพาะด้านการเกษตรแล้ว ฮั่นสมัยหลังได้ต่อยอดวิทยาการให้ก้าวหน้าไปจากฮั่นสมัยแรกไปอีกระดับหนึ่ง

นั่นคือ การพัฒนาวิทยาการในการไถหว่านผ่านใบมีดของคันไถเพิ่มเป็นสามใบ กล่องใส่เมล็ดพันธุ์ และเครื่องหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงดิน ทั้งนี้ โดยใช้แรงงานเพียงคนเดียว แต่ใช้วัวลากสองตัวจนทำให้ดินถูกไถได้ลึกกว่าก่อนหน้านี้

ที่สำคัญ วิทยาการดังกล่าวถูกรองรับด้วยการชลประทานที่จ่ายน้ำได้ดีขึ้น เมื่อคลองชลประทานถูกสร้างด้วยอิฐดินเผาที่มีความคงทน จากเหตุนี้ ชาวนาจึงสามารถทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เมื่อเร็วขึ้นก็หมายความว่าที่ดินที่ถูกไถหว่านต่อวันย่อมมีมากขึ้น

นอกจากนี้ยังก็พบอีกว่า ในยุคนี้ได้มีวิธีการย้ายแปลงปลูกเกิดขึ้นแล้วด้วย การย้ายจะมีขึ้นในราวเดือนห้าอันเป็นช่วงที่พระอาทิตย์อยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดไปแล้ว 20 วัน

โดยก่อนที่จะย้ายแปลงปลูกนั้น ชาวนาจะเอาใจใส่กับการคัดเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับเนื้อดินเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อคัดได้แล้วจึงทำการเพาะปลูกและใส่ปุ๋ยลงไป จนเมื่อพืชที่ปลูกเติบโตเป็นต้นกล้า การย้ายแปลงปลูกจึงเกิดขึ้น

วิธีตามที่กล่าวมานี้เป็นวิธีที่ใช้กันในทางภาคเหนือ มิได้ขยายลงมาทางใต้แต่อย่างไร และเป็นวิธีที่ถูกใช้ตลอดฮั่นสมัยหลังและหลังจากนั้นอีกยาวนาน

 

ส่วนลว่อหยังในฐานะเมืองหลวงของฮั่นสมัยหลังนั้น สิ่งหนึ่งที่ถูกสืบต่อจากฮั่นสมัยแรกเรื่องหนึ่งนายตลาด (market chief) ซึ่งมีหน้าที่ตราระเบียบและตั้งเกณฑ์ภาษีการค้า

ตำแหน่งนี้ในฮั่นสมัยแรกจะมีเพียงนายตลาดกับผู้ช่วยอีกหนึ่งคนเท่านั้น แต่ในฮั่นสมัยหลังกลับมีเจ้าหน้าที่ด้านนี้เพิ่มเป็น 36 คน และได้ขยายหน้าที่ไปถึงการตั้งราคาสินค้าต่างๆ อีกด้วย การตั้งราคาที่ว่านี้จะมีเป็นรายเดือนเพื่อประสานให้ผู้ซื้อกับผู้ขายใช้พิจารณาต่อรองกันได้

ถึงตรงนี้ก็ทำให้เข้าใจไปด้วยว่า ในยุคฮั่นสมัยหลังนี้ได้ลดอคติที่มีต่อพ่อค้าลงไปมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับยุคหวังหมั่งที่มีนโยบายกีดกันพ่อค้า จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบอบของเขาล่มสลาย

แต่พอลดอคติลงในสมัยนี้ วิสัยพ่อค้าแบบเดิมๆ ก็กลับมา นั่นคือ ต่างก็ขยันขันแข็งในการแสวงหากำไรให้ถึงที่สุดโดยไม่ไยไพเสถียรภาพของจักรวรรดิ โดยเฉพาะครอบครัวพ่อค้าที่ทรงอิทธิพลนั้นถึงกับขูดรีดชาวนาที่ยากแค้นอย่างหนัก

การขูดรีดจะกระทำผ่านการเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือสิ่งใดก็ตามที่ให้ประโยชน์ไม่ต่างกับดอกเบี้ย

ปัญหานี้เกิดได้อย่างไรเป็นประเด็นที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

 

ในประเด็นปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อต่างชาติหรือชนชาติที่มิใช่ฮั่นนั้น ราชวงศ์ฮั่นได้แยกชนชาติเหล่านี้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ ชนป่าเถื่อนนอก (outer barbarians) กับชนป่าเถื่อนใน (inner barbarians)

ชนป่าเถื่อนนอกเป็นกลุ่มชนที่อยู่นอกเขตแดนจีนออกไป และไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของจีนโดยตรง ในทางตรงข้าม ชนป่าเถื่อนในก็มิใช่กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ภายในจักรวรรดิจีน แต่กลับมีข้อผูกมัดที่จะต้องป้องกันชายแดนให้กับจีน

ซึ่งในสมัยฮั่นจะมีศัพท์คำหนึ่งที่ถูกใช้อยู่บ่อยครั้งคือคำว่าเป่าไซ่ ที่หมายถึง ผู้ปกป้องชายแดน คำคำนี้จะใช้กับชนป่าเถื่อนในโดยตรงจนปรากฏคำเรียกขานว่า เชียงผู้ปกป้องชายแดน อูหวนผู้ปกป้องชายแดน เป็นต้น

เกณฑ์การแบ่งเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจของฮั่นสมัยหลังในระดับที่แตกต่างกัน

 

กล่าวโดยรวมแล้ว เขตแดนด้านเหนือของฮั่นสมัยหลังจะมีกำแพงเมืองจีนที่คอยปกป้องจักรวรรดิเอาไว้ ด้านตะวันตกที่เคยเป็นพื้นที่รกร้างมาก่อนก็ค่อยๆ หมดไป ด้วยการเข้ามาอาศัยของชนชาติทิเบตและพม่าตรงบริเวณชายแดน ด้านใต้ก็คือตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกที่ทอดยาวไปจนถึงเวียดนาม

ในขณะที่ด้านตะวันออกก็คือพื้นที่ต่ำของเกาหลีที่ตั้งเผชิญหน้ากับจีน

แต่เขตแดนตามที่กล่าวมานี้กลับมิได้ถูกควบคุมไว้อย่างมั่นคง เพราะบางที่จีนก็สูญเสียการควบคุมไป หรือไม่ก็ควบคุมแต่ในนามเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้เขตแดนโดยรวมนี้ จักรวรรดิฮั่นสมัยหลังได้มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ของชนชาติที่มิใช่ฮั่นอย่างแตกต่างกันออกไป

แต่ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไร ถึงที่สุดแล้วย่อมตั้งอยู่บนฐานที่ฮั่นต้องเหนือกว่าเสมอ