มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/ ชีวิตมนุษย์ ชีวิตอาคาร

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ชีวิตมนุษย์  ชีวิตอาคาร

 

เมื่อพูดถึงชีวิตมนุษย์ ทุกคนรู้ดีว่าเป็นอย่างไร รู้ว่าชีวิตคนเราจะยาวนานเท่าไหร่ รู้ว่าวงจรชีวิตนั้นเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ เกิด ทารก เด็กน้อย วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย และตาย

เมื่อพูดถึงอาคารสิ่งก่อสร้าง ทุกคนรู้ดีเพราะปรากฏอยู่ทั่วไป รู้ว่าอาคารนั้นสร้างจากอิฐ หิน ปูน ทราย กระจก ฯลฯ จึงเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ทว่า แม้อาคารไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่ก็มีวงจรชีวิตเช่นกัน

ทั้งอาคารสิ่งก่อสร้าง หรือแม้แต่เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ล้วนมีวงจรชีวิต เพราะมีอายุหรือระยะเวลาในการใช้งาน จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับตัววัสดุ ส่วนประกอบ กระบวนการผลิตและวิธีการใช้งาน

ชนกลุ่มน้อย ผีตองเหลือง จะอพยพย้ายถิ่นทันทีเมื่อใบตองที่ใช้สร้างเพิงพักอาศัยเริ่มแห้งเหลือง นั่นหมายความว่า ช่วงชีวิตของเพิงพักนั้นสั้น ระยะเวลาการใช้งานนั้นแค่ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี

บ้านพักอาศัยของผู้คนในแต่ละภูมิภาคจึงมีระยะเวลาการใช้งานต่างกัน ตามวัสดุที่ใช้ ความแข็งแรงโครงสร้าง และสภาพดินฟ้าอากาศ จึงมีบ้านที่ผุพังรวดเร็ว หรืออยู่ถาวรนานหลายสิบปี

ยิ่งในปัจจุบันการก่อสร้างด้วยวัสดุที่ดัดแปลงจากธรรมชาติ หรือสังเคราะห์ในระบบอุตสาหกรรม จึงมีความคงทน อายุการใช้งานยาวนาน อีกทั้งมีเทคโนโลยีระบบอาคารที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้อาคารและการดำรงชีวิต

สิ่งก่อสร้างจึงมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับวัสดุก่อสร้าง เทคโนโลยีการก่อสร้าง และระบบประกอบอาคาร รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่อาคารตั้งอยู่

 

วงจรชีวิตอาคารจึงซับซ้อนมากขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ การรวบรวมข้อมูล การจัดทำโครงการ การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้งาน ไปสิ้นสุดเมื่อถูกรื้อทิ้งหรือพังทลาย

ในขณะที่มนุษย์มีอาการเจ็บป่วย ต้องรักษา รวมทั้งมีการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ปัจจุบันยังมีความก้าวหน้า สามารถปรับเปลี่ยนอวัยวะที่บกพร่องได้ อาคารสิ่งก่อสร้างก็เช่นกัน แม้จะมีความมั่นคงถาวร แต่ก็มีต้องมีการบำรุงรักษา ไปจนถึงการเปลี่ยนทดแทนเมื่อจำเป็น

ไม่เพียงแต่ชีวิตมนุษย์ที่ยาวนานมากขึ้น ชีวิตอาคารก็เช่นกัน ความก้าวหน้าทางการบริหารกายภาพ ทำให้อาคารรองรับการใช้งานได้ยาวนานขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชีวิตมนุษย์มีแค่อายุขัยของร่างกาย แต่ชีวิตอาคารนั้นมีทั้งอายุตามสภาพ อายุการใช้งาน อายุทางเทคโนโลยี และอายุทางเศรษฐกิจ

เราจะพบอาคารสิ่งก่อสร้าง ที่แม้สภาพยังมั่นคงแข็งแรง แต่เมื่อวิถีชีวิตผู้ใช้และวิธีการใช้งานแปรเปลี่ยนไป หรือแม้แต่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น อาคารก็ใช้การไม่ได้ เช่นเดียวกับอาคารที่ยังทันสมัย อาคารที่ยังมั่นคงแข็งแรง อาคารที่ยังใช้การได้ดี หากไม่คุ้มค่ากับราคาที่ดินที่ตั้งอยู่ ชีวิตอาคารก็จบลง

ด้วยเหตุนี้ วงจรชีวิตของอาคารจึงซับซ้อนกว่าวงจรชีวิตมนุษย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องคำนึงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การก่อสร้าง การใช้งาน การซ่อมบำรุง หรือการใช้สอย เพื่อให้อาคารสิ่งก่อสร้างนั้นมีสภาพเหมาะสมกับการใช้งาน สอดคล้องกับมูลค่าทางเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมือง

 

ทุกวันนี้สถาปนิกส่วนใหญ่มุ่งที่จะคิดสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมให้สวยงามตามจินตนาการ โดยไม่คำนึงถึงการใช้งาน และสภาพอาคารต่อไปในอนาคต

วิศวกรมุ่งที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยไม่คำนึงถึงการซ่อมบำรุง

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มุ่งหวังเพียงความเป็นไปได้ทางการเงิน และความสำเร็จทางการตลาด โดยไม่คำนึงถึงสภาพอาคารในระยะยาว นักการเงิน มุ่งเพียงความเหมาะสมทางการลงทุน ณ เวลานั้น โดยไม่คำนึงถึงสภาพอาคารและการใช้งานในอนาคต ย่อมนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย โดยที่ผู้ใช้อาคารไม่ทราบสาเหตุ

ยิ่งอาคารสิ่งก่อสร้างมีช่วงชีวิตยืนยาว ปัญหาอาคารก็จะทวีคูณขึ้นไป จนนำไปสู่การรื้อทำลายโดยไม่จำเป็น

จึงมีความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับอาคาร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป อีกทั้งแนวคิด หลักการ รวมทั้งการเรียนการสอนในวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตอาคาร

 

สถาปนิกต้องคำนึงถึงการออกแบบที่สอดคล้องกับวงจรชีวิตอาคาร ทั้งสภาพทางกายภาพ การใช้งาน เทคโนโลยีอาคาร และคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรมที่รองรับความต้องการตลอดช่วงชีวิตมนุษย์และชีวิตอาคารนั้น

เช่นเดียวกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คงต้องคิดคำนึงเกินกว่าความสำเร็จทางการเงินและการตลาด หากมุ่งหวังให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานอาคาร และมีชีวิตอย่างสะดวกสบายยาวนานตลอดช่วงชีวิตมนุษย์และอาคาร

คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องบริหารจัดการกายภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้อาคารตลอดอายุขัย และการใช้ประโยชน์อาคารตลอดอายุอาคาร