ล้านนาคำเมือง : ตำนาน”วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับภาษาล้านนา “หลวง” แปลว่า ใหญ่ ทำให้เห็นภาพว่าวัดนี้ มีเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่มาก ใครก็ตามที่เข้าไปไหว้พระที่วัดเจดีย์หลวงเป็นครั้งแรก มักจะตกตะลึงกับเจดีย์ที่ตั้งสูงตระหง่านอยู่ในเบื้องหน้า
เจดีย์ขนาดใหญ่นี้ สร้างขึ้นสมัยพญาแสนเมืองมา เมื่อพศ. 1928 -1945 รูปทรงเจดีย์เป็นแบบโลหะปราสาทของลังกาเดิมสูง 80 เมตร ซุ้มตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์จำนวน 28 เชือก การสร้างรูปปั้นช้างนั้น เพราะมีความเชื่อว่า จะสามารถส่งเสริมกำลังเมืองให้มีความแข็งแกร่งขึ้น
ต่อมาเกิดเหตุแผ่นดินไหว ยอดเจดีย์พังทรุดลงมา จึงคงเหลือความสูงเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือมีความสูง 40.8 เมตร และฐานกว้างด้านละ 60 เมตร
วัดเจดีย์หลวงแต่เดิม ชื่อ “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรืออีกนัยหนึ่งความหมายของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วง ดูแล้วมีความงดงามอย่างยิ่ง ทั้งยังสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล
วัดเจดีย์หลวง ยังมีสิ่งที่ประชาชนเคารพบูชาอย่างยิ่งอีกสิ่งหนึ่ง คือ เสาหลักเมือง หรือ เสาอินทขิล
ซึ่งชาวเชียงใหม่เชื่อว่าเป็นเสาหลักที่สร้างความมั่นคง การอยู่ดีมีสุขให้คนเชียงใหม่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ทุกๆ ปีจะต้องมีพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลในตอนปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 หรือระหว่างเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน โดยเริ่มในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เรียกว่า วันเข้าอินทขีล การเข้าอินทขีลจะมีไปจนถึงในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ซึ่งเป็นวันออกอินทขีล จึงมีคำกล่าวว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก
ในสมัยโบราณ เมื่อครั้งที่บ้านเมืองยังไร้สิ่งปลูกสร้างสูง ๆ เจดีย์หลวงที่ตั้งตระหง่าน สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาในพุทธศาสนา เป็นสิ่งสักการะบูชาที่ชาวบ้านต่างอบอุ่นใจเมื่อได้มองเห็น เป็นหมุดหมาย อยู่ใจกลางเวียงเชียงใหม่
ลองจินตนาการว่า ในสมัยนั้น เจดีย์หลวงจะสง่างามน่าเกรงขามเพียงใด