โขน มาจากคำเขมร และคำทมิฬ อินเดียใต้ : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

โขน มาจากคำเขมร และคำทมิฬ อินเดียใต้

สุจิตต์ วงษ์เทศ

โขน ในภาษาไทย (เป็นการแสดงใส่หน้ากากเล่นเรื่องรามเกียรติ์) กลายจากคำเขมรว่า โขล โดยเขมรรับอีกทอดหนึ่งจากคำทมิฬอินเดียใต้ ว่า โขละ หรือ โขฬะ
เพิ่งตาสว่างว่าโขนในคำดั้งเดิมหมายถึงการแต่งหน้าหรือสวมหน้ากาก ที่จะเกี่ยวข้องถึงอะไรต่อมิอะไรอีกมาก หลังจากผมได้อ่านบทความของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เรื่อง “ทรงเจ้าเข้าผี” ไทย-อินเดีย? : ทบทวนความเข้าใจ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 มิถุนายน 2561 หน้า 85) จะคัดมาดังนี้
“การเข้าทรงในวัฒนธรรมอินเดียยังมีลักษณะที่เป็นกึ่ง ‘นาฏกรรม’ หรือกึ่งการแสดง”
“ยังมีการแต่งหน้าหรือสวมหน้ากาก เช่นการเล่นรำทรงที่เรียกว่า Teyyam ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นการแสดงใส่หน้ากากหรือเขียนหน้าอย่าง ‘โขละ’ หรือโขนโบราณของแขกเขา”
ธนิต อยู่โพธิ์ เคยอธิบายไว้นานแล้วในหนังสือโขน (คุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2508 หน้า 38-52) ว่า โขน มาจากภาษาเบงกาลีว่า โขละ หรือ โขฬะ ตรงกับภาษาทมิฬ ว่า โกล หรือโกลัม หมายถึงการแต่งตัว รวมถึง “กิริยาที่เอาแป้งโรยแต่งตามหน้าบ้าน” (หน้า 41)
สอดคล้องการแต่งหน้าหรือพอกหน้าของผู้แสดงกถักฬิ ว่าใช้เวลานานเป็นชั่วโมงๆเอาเครื่องแต่งพอกหน้าหนามากหลายชั้นหลายครั้ง มีคำอธิบายจำได้ว่าเป็นต้นทางพัฒนาการเป็นหน้ากากรูปต่างๆ

โขนเรือ, โขนระนาด, ผีตาโขน
โขน ยังใช้เรียกอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวกับส่วนหัว เช่น โขนเรือ, โขนระนาด, ผีตาโขน
โขนเรือ หมายถึง หัวเรือส่วนเสริมต่อยาวยื่นออกไป แล้วประดับประดาด้วยเครื่องต่างๆ หรือแกะสลักเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ เช่น หงส์, ครุฑ ฯลฯ
โขนระนาด หมายถึงแผ่นไม้แกะสลักลวดลาย หรือไม่มีแกะสลักก็ได้ ใช้ปิดหัวและท้ายรางของระนาด
ผีตาโขน หมายถึง หน้ากากสวมหัวคนเล่นในพิธีกรรม (เหมือนหัวโขน)