“บ้าน(โคตร)อัจฉริยะ” สั่งได้ทุกอย่างอย่างน่าทึ่ง! เพียงแค่มีระบบนี้

Home Entertainment กับ Home Automation

คอลัมน์เครื่องเสียง

หลังจากเทคโนโลยีดิจิตอลเดินทางสู่จุดหมายปลายทางอันสมบูรณ์พร้อม ซึ่งน่าจะสักประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา สังเกตความเคลื่อนไหวในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์ได้ว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมามีผลิตภัณฑ์อันน่าทึ่งนานาประเภทหลั่งไหลออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และจากนั้นอีกไม่นาน เมื่อก้าวล่วงมาถึงยุคของการควบรวมทางด้านดิจิตอล หรือ Digital Convergence ผลิตภัณฑ์อันน่าทึ่งนานาที่ว่า ยิ่งสามารถทำงานได้หลายหลากมากประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอีก

ทำให้เมื่อมาถึงวันนี้ ดูเหมือนจะไม่มีอะไรในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกแล้วกระมังที่มิอาจเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

และระบบ Home Automation ก็เป็นอีกหนึ่งผลพวงของวิวัฒน์แห่งเทคโนโลยี ที่ทำให้เราสามารถจัดการกับระบบต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างเบ็ดเสร็จเพียงปลายนิ้วสัมผัส ชนิดที่เรียกบ้านหลังนั้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าคือบ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home

เพราะเราสามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่อยู่ภายในบ้านผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนหน้าจอของ Tablet หรือ Smart Phone ได้อย่างสะดวก แม้ว่าตัวเราจะไม่ได้อยู่ในบ้านก็ตาม


เป็นต้นว่าก่อนออกจากที่ทำงานหลังเสร็จงานตอนเย็น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงบ้าน เราสามารถตั้งเวลาล่วงหน้าได้ ว่าจะให้เครื่องปรับอากาศในโถงกลางของบ้านเปิดตอนไหน ตั้งอุณหภูมิเอาไว้ที่ระดับใด ขณะเดียวกันก็เลือกเปิดไฟแสงสว่างที่จุดใด เวลาไหน ทั้งนอกบ้านและในบ้าน ก็ทำได้อย่างสะดวกเช่นกัน จึงเมื่อกลับถึงบ้านทุกอย่างก็พร้อมตามต้องการเรียบร้อยแล้ว

หรือขณะอยู่บ้านตอนกลางวัน แดดส่องเข้าบ้านมาทางด้านไหน ก็สามารถสั่งให้ผ้าม่านด้านนั้นปิดได้เองโดยที่มิพักต้องเดินไปจัดการด้วยตนเอง หรือในยามค่ำคืนจะปรับแสงสว่างภายในห้องให้สลัวรางหรือสว่างมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะเลือกสีแสงให้ออกไปตาม Mood & Tone ที่ต้องการให้เป็นแบบใด ณ เวลานั้น ก็ทำได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอแบบ Touch Screen ดังว่าแค่นั้นเอง

ระบบต่างๆ ภายในบ้านอัจฉริยะในปัจจุบัน นอกจากสามารถใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังทำงานผสมผสานกับระบบรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย อีกทั้งยังแจ้งเตือนการบุกรุกให้ทราบได้ในทันทีที่เกิดเหตุ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดในโลก หากว่าการสื่อสารโทรคมนาคมสามารถติดต่อกันถึงแล้ว ระบบจะแจ้งให้รู้ถึงจุดเกิดเหตุบนหน้าจออุปกรณ์ควบคุมได้แบบ Real Time

ไม่เพียงแต่สามารถป้องกันการบุกรุกจากภายนอก แม้การรุกล้ำก้าวล่วงจากภายในเองก็ยังแจ้งเตือนให้รู้ได้ เช่น เราปิดห้องเอาไว้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด แล้วมีใครในบ้านเปิดห้องเข้าไปภายใน ระบบที่ติดตั้งอยู่ในห้องอย่าง IP Camera ซึ่งนอกจากทำหน้าที่บันทึกแล้ว ยังสามารถตั้งค่าให้แจ้งเตือนได้เมื่อมีความเคลื่อนไหวภายในห้อง ก็จะเตือนให้รู้พร้อมแสดงภาพผ่านหน้าจอให้เห็นได้ในทันทีว่ามีใครกำลังอยู่ในห้องของเรา

หากจะแยกออกมาให้เห็นกันชัดๆ ระบบ Home Automation ก็คงแยกเป็นประเภทต่างๆ ได้ประมาณนี้

ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่าง ทั้งภายนอกและภายในตัวบ้าน โดยสามารถสั่งการให้เปิด/ปิด รวมทั้งปรับระดับความสว่างได้

ระบบควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ เปิด/ปิดเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งสามารถปรับอุณหภูมิได้ ควบคุมการทำงานเปิด/ปิดผ้าม่าน เป็นต้น

ระบบบริหารพลังงานและพลังงานสำรอง เช่น การสั่งให้เปิด/ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เอง โดยให้สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนด อาทิ ไฟแสงสว่างหน้าบ้านจะปิดเองเมื่อฟ้าสว่าง หรือเครื่องปรับอากาศจะทำงานเมื่ออุณหภูมิภายในห้องสูงถึงระดับที่กำหนดเอาไว้ เป็นต้น

ระบบความบันเทิงภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังหรือฟังเพลงแบบ Streaming ก็ให้เล่นได้อย่างสะดวก

สุดท้ายคือระบบรักษาความปลอดภัย ที่นอกจากจะแจ้งเตือนให้รับรู้ได้ทันทีที่เกิดเหตุแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อระบบไปยังเจ้าหน้าที่ หรือบริษัทที่ให้บริการด้านรักษาความปลอดภัยได้อีกด้วย

หากจะเปรียบหลักการทำงานของระบบบ้านอัจฉริยะแล้วก็สามารถเปรียบได้ง่ายๆ กับร่างกายของคนเรา ที่มีสมองเป็นศูนย์กลางในการรับรู้และสั่งการ โดยที่สมองของเรารับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัส อันประกอบไปด้วยการเห็นรูป การรู้รส การได้กลิ่น การได้ยินเสียง และจากการจับต้อง เมื่อรับรู้แล้วสมองก็จะสั่งการไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิ แขน ขา หรือปาก ที่ต้องการให้ทำงานเพื่อตอบสนองสัมผัสนั้น ขณะที่บ้านอัจฉริยะก็จะมีอุปกรณ์จับสัญญาณต่างๆ หรือตัว Sensors ทำหน้าที่เหมือนประสาทสัมผัส แล้วถ่ายทอดสัญญาณที่จับได้ไปยังสมอง ซึ่งก็คือระบบควบคุมกลาง จากนั้นระบบก็จะสั่งการให้อุปกรณ์ต่างๆ ทำงานต่อไป

โดยหลักการทำงานของ Smart Home นั้น ระบบควบคุมกลางจะเชื่อมต่อกับ Modem หรือ Router ผ่านระบบเครือข่ายของ LAN หรือ Internet ในการแปลงสัญญาณไปยังอุปกรณ์แสดงผล ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือพีซี ที่ใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งทำงานร่วมกันแบบไร้สาย

นั้นเองจึงทำให้เราสามารถควบคุมอุปกรณ์นั้นๆ จากที่ไหนก็ได้

อย่างไรก็ตาม การทำงานเชื่อมต่อระบบ Internet และผ่านสัญญาณ Wi-Fi นั้น แม้จะสามารถส่งข้อมูลได้คราวละมากๆ แต่ก็สิ้นเปลืองพลังงานมาก จึงเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา (ปี ค.ศ.2008) ได้มีการพัฒนาระบบส่งสัญญาณชนิดใหม่ขึ้นมา เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการควบคุม ตรวจสอบ และอ่านค่าสถานะต่างๆ ภายในบ้าน หรือภายในองค์กรที่มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่โตนัก เรียกว่า Z-Wave Technology และได้มีการก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตร หรือ ZWAVE Alliance โดยมีบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 300 ราย และมีอุปกรณ์ที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองคุณภาพการทำงานตามมาตรฐาน Z-Wave Certified แล้วมากกว่าพันรายการ

ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี Z-Wave นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงาน (พูดง่ายๆ ก็คือช่วยให้แบตไม่หมดไว) แล้ว ยังสามารถสร้างโครงข่ายแบบ Mesh Network (ที่ช่วยให้การเชื่อมต่อแบบไร้สายทำได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย) ได้ อีกทั้งยังช่วยให้แต่ละอุปกรณ์สามารถส่งต่อสัญญาณกันเอง หรือ Signal Forwarding ได้ด้วย

ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานในระบบ Home Automation อันจะทำให้บ้านเป็นแบบ Smart Home นั้นมีให้เลือกมากกว่ามาก รวมทั้งมีหลากหลายระบบที่สามารถออกแบบให้ควบคุมการทำงาน ณ จุดต่างๆ ได้ตามต้องการ หรือตามความเหมาะสมของงบประมาณที่ตั้งเอาไว้

ในบ้านเราเวลานี้บริษัทที่รับวางระบบ Home Entertainment เริ่มมีให้บริการระบบ Home Automation ควบคู่กันไปด้วยบ้างแล้ว