เมนูข้อมูล : แม้จะไม่เคยได้ผล

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือรัฐบาลที่มาจากการใช้อำนาจของกองทัพทำรัฐประหาร หรือพรรคการเมืองใด มีนโยบายหนึ่งที่เหมือนกัน และต้องพูดย้ำเพื่อให้สร้างความชอบธรรมอยู่เป็นระยะๆ คือ “ปราบปรามคอร์รัปชั่น”

ทว่าความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ด้วยไม่เพียงจะไม่มีรัฐบาลไหนทำได้สำเร็จเท่านั้น แต่ทุกรัฐบาลที่ประกาศ “ปราบปรามคอร์รัปชั่น” นั้นเอง กลับมีเรื่องราวการทุจริตออกมาให้ฝ่ายตรงกันข้ามใช้เป็นประเด็นโจมตีไม่หยุดหย่อน

จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เมื่อไม่ว่าฝ่ายไหนเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ สิ่งแรกที่จะต้องเร่งจัดการคือ คิดมาตรการปราบปรามคอร์รัปชั่น

ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการสร้างองค์กร หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นมาปราบปรามการทุจริต สร้างระบบป้องกันขึ้นมา กระทั่งวันนี้กลไกราชการประเทศไทยเราเต็มไปด้วยองค์กร หรือหน่วยงานปราบปรามการทุจริตในทุกระดับ มีมาตรการป้องกันความประพฤติมิชอบอยู่ทุกแบบทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการงานราชการ มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมากมายที่สร้างขึ้นมาแล้วขึ้นมาอีกเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคิดมิชอบ

ตรวจสอบกันจนเป็นที่บ่นกันไปทั่วว่าระบบราชการไทยอืดเป็นเรือเกลือ แทบทุกโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า

กระทั่งบางคนเห็นว่าระบบราชการที่เต็มไปด้วยการตรวจสอบนี่เองที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ

แต่แม้กระนั้นก็ตาม เมื่อตั้งต้นที่คิดว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ที่สุดแล้วดูเหมือนจะจบที่การคิดกลไกตรวจสอบเหมือนเดิม จนน่าหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้มีผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ข่าวทุจริตในสายตาประชาชน”

ขณะที่ในคำถาม “คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการทุจริต” ประชาชนร้อยละ 68.35 เห็นว่าเป็นกิเลส ละโมบ ความเห็นแก่ตัว มีร้อยละ 28.42 เท่านั้นที่เห็นว่าระบบการตรวจสอบมีช่องโหว่ ไม่รัดกุม เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ ร้อยละ 19.30 เห็นว่าเกิดจากความไม่เกรงกลัวกฎหมาย บทลงโทษไม่รุนแรง และร้อยละ 17.11 เห็นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งยั่วยุมากขึ้น ค่านิยมผิดๆ ร้อยละ 14.83 คิดว่าเพราะเงินเดือนน้อย เศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอใช้

ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่รู้อยู่ว่าสาเหตุมาจากจิตสำนึกอันเกิดจากค่านิยมและแรงเร้าส่วนบุคคลมากกว่า มีส่วนน้อยที่เห็นว่าเป็นความอ่อนแอของระบบตรวจสอบป้องกันและมาตรการลงโทษ

แต่เมื่อถามถึง “วิธีป้องกันการทุจริต” อันดับแรกคือร้อยละ 45.79 ยังเห็นว่าต้องปลูกฝังค่านิยม เน้นความซื่อสัตย์ จิตสำนึกที่ดี ร้อยละ 38.81 เห็นว่ากฎหมายต้องใช้ได้จริง ไม่สองมาตรฐาน บทลงโทษรุนแรง ร้อยละ 31.21 เห็นว่าต้องมีมาตรการป้องกันและระบบตรวจสอบที่รัดกุม ร้อยละ 21.77 ตอบว่าทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา

ซึ่งภาพรวมกลับพลิกไปในทางที่ประชาชนส่วนใหญ่มองจะต้องแก้ไขด้วยการสร้างระบบป้องกันตรวจสอบและเพิ่มการลงโทษรุนแรงอันเป็นการทำให้ระบบการควบคุมเข้มแข็งขึ้นมากกว่า ที่เรื่องการสร้างจิตสำนึก ไม่หลงไปกับค่านิยมที่ก่อให้เกิดความโลภ

ดูเหมือนว่าประชาชนคิดอย่างไรย่อมสะท้อนถึงความคิดของผู้มีหน้าที่บริหารจัดการประเทศแบบนั้น

แม้จะรู้ว่าปัญหาอยู่ที่จิตสำนึก ซึ่งการแก้ไขจะต้องมุ่งไปที่การสร้างครรลองแห่งความดีงามให้เป็นค่านิยมที่จะเดินไปมากกว่าจะปล่อยให้หลงไปกับแรงกระตุ้นให้เกิดความฟุ้งเฟ้ออันเป็นที่มาของความโลภ

แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว การสร้างมาตรการ หรือระบบที่ให้ตรวจสอบ และหน่วยงานปราบปราม รวมถึงการลงโทษที่รุนแรงดูจะเป็นวิธีการที่เลือกมากกว่า

ด้วยแม้จะรู้ว่าเป็นวิธีการที่ไม่เคยแก้ไขอะไรได้ ทำซ้ำซากมาทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลเผด็จการ

อาจจะเป็นเพราะมาตรการตรวจสอบและองค์กรปราบปรามมีความเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้อันยึดถือเป็นผลงานที่อวดให้รู้ได้มากกว่า

เป็นการเลือกทำในสิ่งที่ถูกจริตของประชาชนมากกว่า

ทั้งที่เป็นวิธีการที่แทบไม่มีผลต่อการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ก็ยังเลือกที่จะทำ เพราะง่ายกว่า ทั้งการทำให้เกิดขึ้นและการทำให้เห็นภาพของผลงาน