เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงล่องแก่งแม่ปิง (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2464 (นับแบบปัจจุบันคือปี 2465) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมด้วยกระบวนเสด็จของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จทางชลมารคมาถึงบริเวณอำเภอดอยหล่อ (ในอดีตยังสังกัดแขวงจอมทอง) จังหวัดเชียงใหม่

ในเอกสาร “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ที่สมเด็จในกรมทรงนิพนธ์ไว้นั้น อธิบายว่า

“วันที่ 14 เวลาเช้า 08.30 ก.ท. (หมายเหตุ ก.ท. ย่อมาจาก ก่อนเที่ยง ส่วน ล.ท. ย่อมาจาก หลังเที่ยง) ออกเรือมาแวะที่เขาดอยน้อยอยู่ริมน้ำทางฝั่งตะวันตก มีทางขึ้นถึงยอดดอย มีวัดและเจดีย์ของโบราณ ว่าเดิมมีศิลาจารึก แต่เดี๋ยวนี้เอาศิลาจารึกนั้นไปไว้ที่วัดมหาธาตุจอมทอง วันนี้เรือติดมาก ถึงที่พักแรมตรงที่ว่าการอำเภอจอมทอง”

 

ปริศนาจารึก “จุลคีรี”
เอาไปเมื่อไหร่-เอาคืนอย่างไร

คําว่า “เขาดอยน้อย” เป็นภูเขาขนาดย่อมๆ ปัจจุบันคือที่ตั้ง “วัดพระธาตุดอยน้อย” อำเภอดอยหล่อ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่ามีเจดีย์เก่าและมีจารึก โดยที่จารึกได้ถูกย้ายไปเก็บไว้ที่วัดมหาธาตุจอมทอง (บางครั้งท่านก็เรียกว่าวัดพระธาตุจอมทอง)

สิ่งที่ดิฉันสงสัยก็คือ ทุกวันนี้เมื่อขึ้นไปกราบพระธาตุดอยน้อย เราจะพบศิลาจารึกแผ่นหนึ่ง ถูกขังอยู่ในกรงตรงฐานพระธาตุด้านทิศตะวันออก เป็นจารึกชิ้นสำคัญมีชื่อเรียกว่า “จารึกจุลคีรี” (จุล = น้อย, คีรี = ดอย, ภูเขา) สร้างขึ้นสมัยพระเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ กษัตริย์ล้านนาตอนท้ายๆ ราชวงศ์มังราย ซึ่งมากราบนมัสการพระธาตุดอยน้อย แล้วกล่าวรำลึกถึงอดีตว่า พระธาตุองค์นี้สร้างโดยพระนางจามเทวี

แสดงว่าคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปที่จุลคีรีนั้น ท่านไม่ได้พบจารึกจุลคีรี และคนในละแวกนั้นคงเล่าให้ท่านฟังว่า ได้มีการย้ายศิลาจารึกจากจุลคีรีไปเก็บไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองแล้ว

เมื่ออ่านประวัติของวัดพระธาตุดอยน้อยบนแผ่นป้าย จะพบข้อความว่า ปี 2430 ครูบามหาวรรณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้มาทำการบูรณะเจดีย์ที่วัดร้างพระธาตุดอยน้อย แต่ไม่สำเร็จดี และต่อมาปี 2440 ครูบาหลวงศรีวิชัย (คนละรูปกับครูบาเจ้าศรีวิชัยแห่งวัดบ้านปาง) จากวัดดอยหล่อ ก็ได้มาบูรณะต่อจนสำเร็จ

เห็นได้ว่า ระหว่างปี 2430-2440 พระธาตุดอยน้อยอยู่ในสภาพวัดร้าง ต้องอาศัยบารมีของเจ้าอาวาสวัดต่างๆ มาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ และหลังจาก 2440 ก็ไม่ได้ระบุว่าพระธาตุดอยน้อยยังร้างอยู่เหมือนเดิม หรือมีพระภิกษุจำพรรษาบ้างหรือไม่

ศักราชดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการเดินทางมาถึงเขาดอยน้อยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในปี 2465 อาจเป็นไปได้ว่าระหว่างมีการบูรณะพระธาตุดอยน้อย โดยคณะสงฆ์ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ช่วงปี 2430 นั้นเองได้มีการโยกย้ายเอาศิลาจารึกจุลคีรีไปเก็บไว้ชั่วคราว (นานพอสมควร) ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง

แต่หลังจากนั้นเล่า เมื่อทางวัดดอยหล่อช่วยบูรณะพระธาตุดอยน้อยจนเสร็จในปี 2440 ก็คงจะยังไม่มีการนำจารึกจุลคีรีกลับมาติดตั้งที่โคนพระธาตุดังเดิม เนื่องจากปี 2465 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จขึ้นไปนมัสการ ก็ยังไม่ทรงเห็นจารึกหลักนั้น

ปริศนามีอยู่ว่า จารึกจุลคีรีถูกส่งกลับคืนมายังวัดพระธาตุดอยน้อยเมื่อไหร่ โดยใคร อย่างไร จะใช่ช่วง พ.ศ.2475 หรือไม่

เนื่องจากเป็นช่วงที่สามพี่น้องนักบุญ ได้แก่ ครูบาอินทจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง สันป่าตอง ครูบาพรหมจักรสังวร วัดพระพุทธบาทตากผ้า ป่าซาง ได้พาครูบาคัมภีรญาณ น้องสุดท้องมาดูสถานที่วัดร้างดอยน้อยแห่งนี้เพื่อฟื้นฟูเป็นสถานที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน?

และหลังจากนั้นเป็นต้นมา บรรยากาศของวัดพระธาตุดอยน้อยก็หวนกลับมาคึกคัก กลายเป็นศูนย์วิปัสสนา ที่สำคัญในเขตเชียงใหม่-ลำพูนตอนกลาง ก่อนที่จะซบเซาอีกครั้งภายหลังจากการมรณกรรมของครูบาคัมภีรญาณ ที่น่าสนใจคือแนวทางของครูบาสามพี่น้องนี้ (หากนับรวมบิดาอีกหนึ่งรูป คือครูบาพ่อเป็ง ก็จะเรียกว่า “สี่ครูบาในตระกูลเดียวกัน”) ยึดถือกัมมัฏฐานในสายที่รับอิทธิพลมาจากภาคกลาง คือวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์

ไม่ใช่สายเดียวกันกับพื้นเมืองล้านนาแบบครูบาเจ้าศรีวิชัย

 

การสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง
สืบสานคติพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา

เช้าวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2465 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนั่งเรือต่อไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทอง สมัยนั้นมีพลับพลาท่าน้ำอยู่หน้าวัด สร้างโดยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (ซึ่งปัจจุบันดิฉันยังไม่ได้ไปสำรวจดูเลยว่าพลับพลาท่าน้ำนี้ยังมีอยู่หรือไม่ เนื่องจากออกมาหน้าวัดพบแต่ร้านรวง และแผ่นดินที่ค่อยๆ งอกเพิ่มถมแม่น้ำ ทำให้ท่าน้ำอยู่ไกลจากวัดค่อนข้างมาก)

สิ่งที่สมเด็จในกรมทรงสนพระทัยยิ่งเกี่ยวกับของดีในวัดพระธาตุศรีจอมทองก็คือประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุที่นี่มีความพิเศษแปลกกว่าที่อื่นๆ ในล้านนาและสยาม แต่ทว่าไปสอดคล้องพ้องกันกับที่ลังกา

“ด้วยมีพระบรมสารีริกธาตุองค์ 1 เรื่องตำนานในพื้นเมืองมีหลักฐานฟังได้แต่ว่า พระบรมธาตุได้มาประดิษฐานอยู่ที่ตำบลจอมทองกว่า 300 ปีแล้ว (หมายเหตุ บันทึกนี้เขียนเมื่อ 100 ปีก่อน ดังนั้น อัพเดตตัวเลขให้เป็นปัจจุบันต้องเพิ่มเป็น 400 ปีแล้ว)

ถ้าว่าตามตาเห็น มีหลักฐานที่เชื่อได้แน่ว่า พระสงฆ์อันเป็นผู้รอบรู้ขนบธรรมเนียมลังกาได้เชิญพระบรมธาตุองค์นี้มา และได้นำแบบแผนการปฏิบัติบูชาพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกามาจัดขึ้นไว้อย่างเดียวกันที่พระธาตุจอมทองนี้”

สมเด็จในกรมทรงขยายความอรรถาธิบายต่อไปอีกว่า เหตุที่พระองค์ท่านทราบก็ พ.ศ.2434 ท่านเสด็จประพาสลังกา

“ได้โอกาสขึ้นไปเมืองสิงขัณฑ์ (แกนดี) รัฐบาลอังกฤษเขามีแก่ใจสั่งให้เชิญพระเขี้ยวแก้วออกให้บูชา ได้เห็นเครื่องยศเครื่องประโคม ตลอดจนที่เก็บรักษาพระเขี้ยวแก้ว และวิธีอาราธนาเชิญพระเขี้ยวแก้วออกสรงน้ำ

ไม่ผิดกับที่จัด และที่มี ณ พระธาตุจอมทองนี้ เป็นพิธีแปลกน่าดู นับว่าประหลาดที่รักษาแบบแผนสืบมาได้ช้านาน ตามประเพณีเมืองเขาสรงน้ำพระธาตุทุก 15 วัน แต่เดือน 3 ถึงเดือน 6”

เคยสัมภาษณ์ พระพรหมมงคล วิ. (หลวงปู่ทอง) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง เกี่ยวกับคติดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 หลวงปู่ทองอธิบายว่า

“คติการสรงน้ำพระธาตุแบบที่วัดได้ทำนั้น เป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุแบบดั้งเดิมจริงๆ ซึ่งในอดีตอาตมาเชื่อว่าพระธาตุองค์อื่นๆ ก็น่าจะใช้วิธีเดียวกัน นั่นคือ “การใช้น้ำบริสุทธิ์สรงที่ตรงเม็ดพระธาตุ” เหมือนกับเหตุการณ์ยุคพระสุมนเถระ เมื่อขุดเจอพระธาตุที่เมืองปางจา ศรีสัชนาไลย ก็นำถวายให้พระญาศรีสัชนาไลย สรงน้ำที่เม็ดพระธาตุ ไม่ใช่ “สรงที่องค์พระเจดีย์” แบบแทบทุกแห่งในปัจจุบัน”

จารึกไม้แผ่นหนึ่งของวัดพระธาตุศรีจอมทอง (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด) ซึ่งมีผู้ปริวรรตถอดความว่า

“ในสมัยพระญาหลวงวชิรปราการกำแพงเพชร เจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ (หมายเหตุ เป็นพระนามเต็มอย่างเป็นทางการของพระเจ้ากาวิละตอนครองเมืองเชียงใหม่) เกิดศรัทธาเลื่อมใสต่อการปรากฏขึ้นของพระธาตุ ได้จัดพิธีพุทธาภิเษก สวดเบิก และสรงน้ำพระบรมธาตุด้วยน้ำอบวิเศษ”

ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า ผ่านมาแล้วนานกว่า 200 ปีนับแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ ได้ก่อให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติหรือราชประเพณีการสรงน้ำพระธาตุจอมทองที่เม็ดพระธาตุซึ่งเก็บรักษาในผอบสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนยุคก่อนหน้านั้น หมายถึงย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์มังรายเมื่อ 500-700 ปีก่อน ก็เชื่อว่าการสรงน้ำพระธาตุจอมทอง ก็คงสรงที่เม็ดพระธาตุ ไม่ใช่ที่องค์พระเจดีย์ดังที่หลวงปู่ทองตั้งข้อสันนิษฐานไว้เช่นกัน เพียงแต่ยังหาหลักฐานด้านลายลักษณ์มายืนยันไม่พบเท่านั้นเอง

 

เสียดายที่ไม่ได้ทรงแวะออบแจ่ม

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2465 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า

“ออกเรือเวลาเช้า 7.45 ก.ท. หยุดกินกลางวันที่ตำบลสบแจ่ม (คือปากน้ำแม่แจ่ม) ห้วยแม่แจ่มนี้ตอนบนลำน้ำไหลผ่านช่องเขาเหมือนกับประตูหิน เรียกว่าออบแจ่ม เห็นรูปถ่ายกล่าวกันว่าเป็นที่งามประหลาดนัก แต่ทางไปจากปากน้ำแจ่มเดินเต็มวันจึงถึง ไม่มีเวลาพอจึงไม่ได้ไป”

ใครสักคนในคณะที่ตามเสด็จไปด้วย (อาจเป็นชาวตะวันตก) คงนำภาพถ่ายที่เคยไปออบแจ่มมาแล้วหนหนึ่ง ถวายให้สมเด็จในกรมทอดพระเนตร ถึงกับตรัสบ่นเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสแวะขึ้นไปดู “ออบแจ่ม” แหล่งภาพเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “ออบหลวง” แล้ว

จริงดังที่ทรงตรัส จากปากแม่แจ่ม (บริเวณสบแจ่ม) หากจะขึ้นไปดูภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์นั้น เรือหรือแพไม่สามารถขึ้นไปได้ ต้องจอดไว้ริมน้ำ แล้วค่อยๆ เดินเลาะเลียบแม่แจ่มซึ่งไหลลงมาจากเขาสูง ย้อนทวนขึ้นไปยังหน้าผาและโขดเขาสูงชัน

แต่เนื่องจากวันนั้นทั้งวันคณะต้องเร่งทำเวลา ต่อสู้กับความไม่แน่นอนของกระแสน้ำแม่ปิง บางครั้งเชี่ยวกราก เต็มไปด้วยเกาะแก่ง บางครั้งน้ำแห้งผากต้องลงไปช่วยกันเข็นเรือ กว่าจะถึงที่พักแรมเมืองฮอดก็ปาไป 2 ทุ่ม