ต่างประเทศอินโดจีน : สื่อใหม่ที่เวียดนาม

สื่อใหม่ๆ กลายเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่เกิดปัญหาทำให้เฟซบุ๊กตกเป็นจำเลยสำคัญเมื่อไม่นานมานี้

และทำให้สื่อใหม่ที่เรียกกันว่าสื่อสังคมออนไลน์ ตกเป็นเป้าหมายของการควบคุมให้อยู่ในกฎเกณฑ์มากยิ่งขึ้น

ดูเหมือนว่า สื่อใหม่ทำนองนี้ในเวียดนามก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน แต่แตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง ด้วยสภาวะทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันมากอย่างยิ่ง

 

เมื่อ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา สภาเวียดนามผ่านกฎหมายอินเตอร์เน็ตฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ หลังจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา จะพยายามล็อบบี้เจรจามาเป็นแรมเดือนก็ดูเหมือนไม่เป็นผล

แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ต่างพยายาม “ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” กับทางการในแง่ของการควบคุมเนื้อหาแล้วก็ตามที

เต็มที่จนถึงขนาดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า 50 องค์กรในเวียดนาม ทำจดหมายเปิดผนึกถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก กล่าวหาว่า บริษัทกำลังให้ความร่วมมือ “ใกล้ชิดมากเกินไป” กับรัฐบาลเวียดนามในการ “ปิดปาก” ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ

แต่ดูเหมือนยังไม่พอเพียง รัฐบาลเวียดนามยังต้องการ “ควบคุม” สื่อใหม่ให้ใกล้ชิดมากกว่านั้น

 

กฎหมายอินเตอร์เน็ตใหม่ที่เพิ่งผ่านสภาหมาดๆ นี้ ถือเป็นกฎหมายอินเตอร์เน็ตที่แก้ไขปรับปรุงใหม่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว หลังจากเริ่มต้นการควบคุมเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2013 ที่ห้ามโพสต์อะไรที่ “ต่อต้านรัฐบาล” หรือ “เป็นอันตรายต่อความมั่นคง” เรื่อยไปจนถึง ห้าม “ก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียหายกับเกียรติยศขององค์การหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด”

ปี 2017 มีการแก้ไขปรับปรุงอีกครั้ง เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นไปอีก บัญญัติข้อห้ามเพิ่มมากขึ้นไปอีก

หลังจากเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลที่ปรากฏอยู่ในสื่อเหล่านั้น ถึงขนาดที่รัฐบาลประกาศให้บริษัททั้งหมดที่ทำธุรกิจอยู่ในเวียดนาม “งด” การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก, ยูทูบ และสื่อสังคมอื่นๆ จนกว่าสื่อเหล่านี้จะสามารถหาวิธีการ “ยุติ” การเผยแพร่เนื้อหา “ที่เป็นพิษ” ต่อต้านรัฐบาลได้

การแก้ไขใหม่อีกครั้งในปีนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ การกำหนดให้บริการออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก, กูเกิล หรือยูทูบ ทั้งหมดจำเป็นต้องทำ “แหล่งจัดเก็บข้อมูลทั้งหมด” ไว้ภายในประเทศ และกำหนดให้มีการเปิด “สำนักงานของบริษัท” ขึ้นในประเทศอีกด้วย

สิ่งที่หวาดระแวงกัน “เงียบๆ” ในหมู่ผู้บริหารของบริษัทผู้ให้บริการออนไลน์ทั้งหลายก็คือ การมีเซิร์ฟเวอร์จัดเก็บข้อมูลและมีสำนักงานอยู่ในเวียดนามนั้น จะเปิดทางให้รัฐบาลเวียดนามสามารถ “แทรกแซง” การดำเนินงานของบริษัทได้โดยตรง โดยการเข้ายึดเซิร์ฟเวอร์และจับกุมเจ้าหน้าที่ในสำนักงานท้องถิ่น

ทำให้การดำเนินงานของบริษัทอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกิจการความมั่นคงสาธารณะ ซึ่งมีภารกิจพิเศษในการ “จัดการกับการต่อต้านการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์” ในเวียดนามโดยเฉพาะนั่นเอง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ยิ่งนับวันบริษัทอย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิล ต่างยินยอมตามความต้องการของทางการเวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ในเรื่องทำนองนี้มากขึ้นตามลำดับ

เพื่อแลกกับการยังคงได้ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศนั้นๆ

 

ในเวียดนามมีชาวเวียดนาม 55 ล้านคนจากทั้งหมด 96 ล้านคนใช้สื่อสังคมเหล่านี้ “เป็นประจำสม่ำเสมอ”

ไม่น่าแปลกที่เมื่อสอบถามถึงปฏิกิริยาต่อกฎหมายใหม่ กูเกิลถึงได้เงียบไม่ยอมตอบ

ส่วนเฟซบุ๊กยอมรับตรงไปตรงมาว่า ถึงอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม “กฎหมายในท้องถิ่น” ที่ไปดำเนินกิจการอยู่นั่นเอง