เศรษฐกิจ / กสทช.ถกเครียดแก้เกมประมูล 1800 ล่ม!! กลับมายืนที่เดิม…จัดใหม่บนเงื่อนไขเก่า

เศรษฐกิจ

 

กสทช.ถกเครียดแก้เกมประมูล 1800 ล่ม!!

กลับมายืนที่เดิม…จัดใหม่บนเงื่อนไขเก่า

 

ออกอาการ “อารมณ์บ่จอย” อย่างเห็นได้ชัดสำหรับเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” กับการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่ตามกรอบระยะเวลากำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน 2561 เป็นวันยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่

แต่กลับถูกโอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 3 รายเชิดใส่ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประมูลซะงั้น

แม้ “ทรู” จะยกธงขาว ขอไม่เข้าร่วมประมูลก่อนใคร

แต่ในหลายครั้งหลายคราที่ถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบจาก “เลขาธิการ กสทช.” ที่ฟังแล้วดูจะมั่นอกมั่นใจว่า ถึงอย่างไรต้องมีผู้เข้าร่วมการประมูลแน่นอน

เนื่องด้วย กสทช. ยังเชื่อลึกๆ ว่าเจ้าของคลื่นเดิมอย่าง “ดีแทค” น่าจะต้องการเก็บคลื่นเพิ่มให้เพียงพอสำหรับให้บริการ

ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า “เอไอเอส” ซึ่งมีจำนวนคลื่นความถี่สูงกว่าใครตอนนี้ก็น่าจะเข้าร่วมการประมูลเช่นกัน

แต่ท้ายที่สุดปรากฏว่าเก็งผลผิดทั้งเพ

เพราะเหตุที่ดีแทคเพิ่งไปคว้าคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิร์ตซ์มาจากทีโอทีถึง 60 เมกะวัตต์

งานนี้เรียกว่าเกมกลับตาลปัตรเลยทีเดียว

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

 

ความผิดพลาดของการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ฉายภาพให้เห็นชัดๆ ว่า ทิศทางกิจการโทรคมนาคมของชาติในยุค 4.0 ถูกกำหนดด้วยโอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 3 ราย อันได้แก่ ทรู เอไอเอส และดีแทค

ด้วยเหตุผลที่มีการเอื้อต่อการผูกขาดต่อผู้ที่เข้ามาในตลาดก่อน รวมถึงกีดกันไม่ให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่

ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่สูงลิบราว 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นราคาระดับเดียวกับราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ครั้งก่อน

ขณะที่การออกแบบการประมูลที่ให้มีใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล 1 ใบหรือสูตร N-1 และการกำหนดขนาดของคลื่นต่อใบอนุญาตที่ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อ 1 ใบอนุญาต

เมื่อสถานการณ์พลิกผัน คล้ายหนังคนละม้วนกับการจัดการประมูล “คลื่น 4G” เมื่อปี 2558 ประกอบด้วย 2 คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ สร้างสถิติระดับโลกทั้งจำนวนชั่วโมงที่ผู้เข้าร่วมประมูล “อดตาหลับขับตานอน” ข้ามวันข้ามคืนแข่งกันเคาะราคาดันมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์

หากมองสถานการณ์ก่อนช่วงการประมูล ต้องบอกว่า การประมูลครั้งนี้เกมตกอยู่ฝั่งโอเปอร์เรเตอร์ (ผู้ซื้อ) มากกว่า กสทช. (ผู้ขาย) เนื่องด้วยผู้ซื้อยังไม่เดือดร้อนที่จะต้องหาเช่าคลื่นใช้ทันที อีกทั้งแต่ละเจ้าต่างก็เก็บสแปร์คลื่นไว้พอใช้งานในอีก 5-10 ปีข้างหน้า กอปรกับเงื่อนไขทั้งราคาเริ่มต้น วิธีการประมูล และการแบ่งขนาดของคลื่นต่อใบอนุญาต ล้วนไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายผู้ซื้อคาดหวัง

แม้หลังเกิดเหตุ “เลขาธิการ กสทช.” จะออกมาประกาศว่า กสทช. จะยกเลิกมาตรการเยียวยา เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดที่ กสทช. จัดประมูลไม่ทัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่โอเปอร์เรเตอร์เลือกที่จะไม่มาประมูลเอง

แต่ถึงกระนั้น การเดิมพันแบบนี้ยังไง กสทช. ก็เสียเปรียบ เพราะการจะไม่เยียวยา และปล่อยให้ซิมดับเกิดขึ้นกับคนใช้งาน 4 แสนคนนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และจะสั่นคลอนถึงภาพลักษณ์ของ กสทช. เป็นแน่

ขณะเดียวกันเรื่องเงื่อนไขที่ทรูกับเอไอเอสขอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ งวดที่ 4 วงเงินค่ายละ 60,000 ล้านบาท ก็อาจจะถูกนำมาปัดฝุ่นกันอีกรอบ เพราะก็มีสาเหตุที่เกี่ยวพัน เป็นข้อจำกัดในการประมูลคลื่นชุดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

ด้าน “หมอลี่” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ได้สะท้อนความคิดเห็นถึงเรื่อง “ทำไมไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์” และ “ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ใครได้ใครเสีย?” ว่า สภาพการแข่งขันในตลาดก็จะอยู่ในสภาพเดิม โดยที่ไม่มีใครต้องแบกต้นทุนเพิ่ม เพราะการเข้ามาประมูลเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งก็ตามมาด้วยต้นทุนค่าคลื่นที่เพิ่มขึ้น และถ้าคู่แข่งสามารถหาทางออกด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูล แถมมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ผู้ชนะการประมูลก็อาจจะเจ็บตัวฟรี ยิ่งมีภาระค่าคลื่นเดิมที่ค้างจ่ายอีกหลายหมื่นล้าน ยิ่งต้องรอบคอบรัดกุม

“การที่ทุกรายไม่เข้าร่วมประมูล การแข่งขันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกอะไรใหม่ ยังต้องวนเวียนใช้บริการแบบเดิมๆ แต่หากผู้ชนะรายเดิมเข้าประมูล เพื่อบีบหรือทิ้งห่างคู่แข่ง ก็เท่ากับว่าเดินตามเส้นทางที่ กสทช. กำหนด คือการพยายามขายคลื่นในราคาแพงที่สุด และเอกชนก็คงต้องทนกับสภาพเส้นทางแบบนี้ในคลื่นอื่นๆ ที่จะประมูลในอนาคต เช่น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ หรือคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ รวมถึงคลื่นความถี่สูงมากๆ ที่จะนำมาใช้กับเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการให้บริการพุ่งสูงมากจนอาจไม่คุ้มที่จะลงทุน จึงมีการส่งสัญญาณจากภาคเอกชนให้ กสทช. รู้ว่าต้นทุนค่าคลื่นเริ่มเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ”

จริงๆ แล้วหลักการพื้นฐานของการประมูลคลื่น คือ การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากคลื่นได้สูงสุด ไม่ใช่ต้องการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าใครใช้ประโยชน์จากคลื่นได้ดีที่สุด ก็คือตัวเลขเงินที่เขาพร้อมจะจ่ายเป็นค่าคลื่น แล้วเอาคลื่นไปทำกำไร ถ้าทำกำไรไม่ได้ก็เจ๊ง จึงไม่ควรมีใครเสนอตัวเลขสูงเกินกว่าที่ตัวเองจะอยู่รอดได้ ส่วนใครที่ทำกำไรได้เก่งกว่าก็จะเสนอตัวเลขได้สูงกว่า กสทช. จึงใช้การประมูลเพื่อหาว่ารายใดสมควรได้คลื่นไปให้บริการ ซึ่งก็คือรายที่เสนอราคาคลื่นได้สูงสุด

แต่ไม่ใช่ว่า กสทช.มีเป้าหมายที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุดจากการประมูล

 

ขณะที่ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ดูเหมือนจะพุ่งเป้าที่การทำงานของ กสทช. โดยตรง ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปความว่า กสทช. กำหนดราคาประมูลตั้งต้นสูงเกินไป อิงราคาชนะประมูลคราวก่อน แทนที่จะคิดราคาประมูลตั้งต้นใหม่ที่คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและเงื่อนไขตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

“ผมได้ยินมาว่า เหตุผลที่ กสทช.กำหนดราคาอย่างนี้ เพราะมีการ ‘ล็อบบี้’ จากผู้ชนะประมูลรอบที่แล้ว” เพราะจ่ายแพง เกรงจะเสียเปรียบคู่แข่งที่ประมูลรอบใหม่

ดร.สมเกียรติบอกว่า หากเรื่องที่ได้ยินมาเป็นจริง หมายความว่าระบบการกำกับดูแลโทรคมนาคมของไทยโดย กสทช. พิลึกและไร้มาตรฐาน และอีกเรื่องที่แสดง “ความสารขัณฑ์” ของการกำกับดูแล คือการให้มี “การเยียวยา” ตามใจตน โดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้า ทำให้ถูกมองได้ว่าเลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบการแบบเลือกที่รักมักที่ชัง

ล่าสุด กสทช. พยายามหาทางแก้ปัญหาให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ตามกำหนด

โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคม มีมติเดินหน้าจัดประมูลตามกรอบเวลาเดิม ตามเงื่อนไขเดิมทุกประการ

และมีมติเพิ่มเติมให้นำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ออกมาประมูลด้วย กำหนดราคาตั้งต้น 3.7 หมื่นล้านบาท ขนาดใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อ 1 ใบอนุญาต เคาะราคาวันที่ 10 สิงหาคมนี้ และขยายเวลาอีก 30 วัน หากว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว ซึ่งตรงกับวันที่ 12 กันยายน

หลังจากนี้ต้องตามลุ้นต่อ การแก้เกมครั้งนี้จะเป็นการเปิดประตูการประมูล หรือปิดประตูตาย!!