ธุรกิจพอดีคำ : “รูกับเรือ”

และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่เรามานั่งทำ “แผนกลยุทธ์” กันในองค์กร

โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไร

เราเก่งอะไร

เป้าหมายของเราคืออะไร

เราควรจะลงมือทำอะไรให้สำเร็จดังเป้าหมาย

ภาพใหญ่ ภาพฝัน พูดคุยกันสนุกสนาน

คุยแบบนี้ทุกปี

ที่ปรึกษาเจ้าใหม่ ถูกจ้างเข้ามาเล่าเรื่องราวของโลกใบนี้ให้ฟัง

พยากรณ์ต่างๆ นานา ราวกับมีลูกแก้ววิเศษ

สไลด์สวยๆ เรื่องราวน่าสนใจให้ตื่นเต้นกันเล็กๆ น้อยๆ

พอคุ้มกับเวลาที่ “ผู้บริหารระดับสูง” เอามานั่ง คาดเดาอนาคตกันไปต่างๆ นานา

แต่จนแล้วจนรอด องค์กรก็ยังคงไม่ก้าวไปไหนเสียที

เวลาที่ใช้ก็หมดไปใน “ห้องประชุม” อวดภูมิ ออกความเห็นกันไป

ครั้งหนึ่ง สตีฟ จ๊อบส์ เคยเล่าเรื่องตลกให้บิลล์ เกตส์ ฟัง

เป็นเรื่องราวของซีอีโอคนก่อนของบริษัท “แอปเปิ้ล”

ก่อนที่เขาจะกลับมารับตำแหน่งซีอีโอ พลิกฟื้นบริษัทให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

เขาเล่าเปรียบเปรยถึงสิ่งที่ “ซีอีโอ” ผู้นี้ทำกับบริษัท “แอปเปิ้ล”

“แอปเปิ้ลเป็นเหมือนเรือที่มีรูอยู่ตรงกลาง และหน้าที่ของผมในฐานะซีอีโอคือ การแน่ใจว่าเรือกำลังหันหัวไปถูกทิศทาง”

เป็น “ตลกร้าย” ที่บิลล์ เกตส์ ที่นั่งข้างๆ ในรายการถึงกับ “หัวเราะ” ออกมาเสียงดัง

ถ้าเรือของคุณมีรูอยู่ตรงกลาง กำลังจะจมลงแล้ว

คุณยังมีเวลามานั่งพูดจาวิเคราะห์ เท่ เรื่องของ “ทิศทาง” ของหัวเรือ

ก็คงจะเป็นเรื่องน่าตลก

ไม่ต่างจากองค์กรที่วันๆ เอาแต่มานั่งประชุม กำหนดอนาคตกันเป็นตุเป็นตะ

แต่หารู้ไม่ว่า “วัฒนธรรม” ขององค์กร ระบบการบริหารจัดการต่างๆ

ไม่ได้เอื้อให้คนที่ทำงานอยู่สามารถทำงานสร้างสรรค์อะไรได้

ตั้งแต่การตอกบัตร กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เน้นความรัดกุม แต่ไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไป

การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในการลุกขึ้นมาทำอะไรที่ “มีคุณค่า”

คำพูดเชือดเฉือนของผู้บริหารมากประสบการณ์

ที่ทำให้ “ความคิดใหม่ๆ” เหือดหายได้ไปในพริบตา

วัฒนธรรมที่เป็นเพียงแค่กระดาษติดลิฟต์ ติดห้องน้ำ

ไม่ได้มี “หน้าไหน” ทำให้ใครได้ดูเป็นตัวอย่างสักที

สิ่งเหล่านี้ทำให้ “การลงมือทำ” ไม่สัมฤทธิผล

แม้ว่า “แผนงาน” ที่ระดมกันออกมานั้นจะสวยหรูเพียงใดก็ตาม

ไม่ต่างจากเรือที่มี “รู” โหว่ ก็คงจะไม่สามารถไปถึงเส้นขอบฟ้าได้

หากไม่มี “ผู้บริหาร” ที่สนใจการอุดรูรั่วของเรือ

ก่อนจะเปิดปากแสดง “วิสัยทัศน์” ของตัวเอง

ไม่ต่างจากที่ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) บิดาแห่งการบริหารยุคใหม่ พูดเอาไว้น่าคิด

ติดปากคนทั่วโลก

“Culture eats strategy for breakfast”

(วัฒนธรรมนั้นกินแผนกลยุทธ์ดีๆ เป็นอาหารเช้า)

หมายความว่า แผนกลยุทธ์ดีๆ นั้น คงจะไม่เกิดประโยชน์

หากวัฒนธรรมที่มีผลโดยตรงต่อ “พฤติกรรม” พนักงานนั้นไม่ถูกต้อง

การลงมือทำตามแผนที่คิดมาอย่างดี ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

ถามว่า “วัฒนธรรม” องค์กรคืออะไร

มีคำตอบมากมายหลายแบบ จากหลายสำนัก

แต่ที่ผมชอบมากที่สุดคืออันนี้ครับ

“วัฒนธรรม คือพฤติกรรมของคนในองค์กร เวลาที่ไม่มีใครเห็น”

เมื่อหัวหน้ามาทำงานตรงเวลา ลูกน้องก็จะตรงเวลา เป็นสิ่งดี

แต่ถ้าวันไหนหัวหน้ามาทำงานสายแล้วลูกน้องก็มาทำงานสายด้วย

อันนี้แสดงว่า การมาทำงานตรงเวลา ไม่ได้อยู่ใน “วัฒนธรรม” องค์กร

 

แต่วัฒนธรรมที่สื่อออกมาคือ “การทำตามหัวหน้า”

หัวหน้าอยู่ ฉันทำตามให้เขาพอใจ

หัวหน้าไม่อยู่ ฉันก็ไม่ทำ

องค์กรหนึ่งๆ ก็ไม่ต่างจาก “ศาสนา”

วัฒนธรรม ก็เหมือนกับ “คำสอน”

ศาสนาพุทธ สอนให้คนรักษาศีล 5

ไม่พูดปด ไม่ขโมยของ ไม่ฆ่าสัตว์

คนส่วนใหญ่รักษาศีล 5 ได้ ตอนที่คนอื่นเห็น

แต่ตอนที่อยู่คนเดียว ก็อาจจะมีแอบๆ หลุดพฤติกรรมได้

แบบนี้เรียกว่า “คำสอนอาจจะยังไม่ศักดิ์สิทธิ์”

คนไม่ได้เชื่อใน “คำสอน” นำมาปฏิบัติตลอดเวลา แม้ไม่มีคนเห็น

“วัฒนธรรม” ก็เช่นกัน คือ “พฤติกรรม” ของคนในองค์กรเวลาที่ไม่มีใครเห็น

ลองมองดูตัวเองและเพื่อนใกล้ตัว

เลือกที่จะทำงานรอบคอบ หรือสุกเอาเผากิน เวลาหัวหน้าไม่อยู่

เลือกที่จะแสดงความเห็นในห้องประชุมต่อหน้า หรือนินทาลับหลังนอกห้องประชุม เวลาหัวหน้าไปแล้ว

เลือกที่จะมาทำงานตรงต่อเวลา หรือมาสายในวันที่หัวหน้าลา

“พฤติกรรม” ของคนหลายคนรวมๆ กัน เกิดเป็น “วัฒนธรรม” ขององค์กร

และนั่นคือ “ความสามารถ” ขององค์กรที่แท้จริง

การวางแผนสวยหรูนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

แต่ “การลงมือปฏิบัติ” คือทุกสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างองค์กรที่สำเร็จและล้มเหลว

ถ้าองค์กรมีแต่คนชิมก๋วยเตี๋ยวว่า อร่อย ไม่อร่อย

แต่ขาดคนลวกเส้น ต้มลูกชิ้น ปลูกถั่วงอก

ก๋วยเตี๋ยวที่แสนอร่อย ก็คงอาจจะไม่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

จริงมั้ย