มนัส สัตยารักษ์ : นายกฯ ไทยไม่ใช่นายกฯ มาเลเซีย

ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลดเงินเดือนของตัวเองและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ลงทันทีร้อยละ 10 ในวันรับตำแหน่ง

นอกจากนั้น จะปลดพนักงานอัตราจ้างราว 17,000 ตำแหน่ง ในหน่วยงานที่ไม่จำเป็นซึ่งตั้งขึ้นในสมัยนายนาจิบ ราซะก์ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น “คณะมนตรีนักวิชการแห่งชาติ” และ “คณะกรรมาธิการการขนส่งสาธารณะทางบก” โดยให้ถ่ายโอนงานทั้งหมดกลับไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ คาดหวังว่าจะช่วยลดหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 1 ล้านล้านริงกิต ลงได้บ้าง

หลังจากข่าวดีของชาวมาเลเซียคนใหม่ ตามมาด้วย “คลิปข่าวเครื่องเคียง” รสแซบของนายกรัฐมนตรีอิตาลีคนใหม่ นั่งแท็กซี่มาตามลำพัง เข้าทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อยื่นสารแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รับสารตราตั้งและสาบานตน

มีคำบรรยายใต้ภาพว่า “แม้แต่ตำรวจทำเนียบก็ไม่ต้องเปิดประตูรถให้ ท่านเปิดประตูรถเองหลังจากจ่ายค่าแท็กซี่เสร็จ”

เปรียบเทียบกับข่าวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา (และกำลังจะผ่านไป) ก็จะเห็นได้ว่า “สวนทางกัน” ทั้งที่ต่างก็เข้ามาในฐานะ “ผู้อาสา” เหมือนกัน

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดเหมือนมหาเธร์ ลดเงินเดือนตัวเองและ ครม. ลงร้อยละ 10 เอาแค่ตัวเลขกลม ๆ (เงินเดือนคนละ 70,000 บาท) ก็จะลดลงประมาณหัวละ 7,000 บาท 36 หัวก็จะลดลงได้เดือนประมาณ 250,000 บาท หรือปีละ 3 ล้านบาท

ผู้อ่านไม่ต้องเป็นห่วงรัฐมนตรีว่าจะเงินเดือนไม่พอใช้ เพราะแตะละท่านต่างมี “เงินประจำตำแหน่ง” อีกท่านละ 40,000-50,000 บาทครบทุกท่าน กล่าวได้ว่าเงินเดือนไม่ต่ำกว่าแสนสอง

นอกจากนั้นยังมีเบี้ยประชุม ค่ายานพาหนะ ค่าที่พัก ฯลฯ อีกต่างหาก (ซึ่งผมไม่อยากเขียนถึงเพราะเกิดอาการตาร้อนผ่าวด้วยความอิจฉาริษยา)

ยิ่งดูจากตัวเลขในการ “แจ้งทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” แล้วยิ่งไม่ต้องเป็นห่วง

ส่วนที่ลดลงร้อยละ 10 จนได้ปีละ 3 ล้านบาทนั้นก็แสนจะจิ๊บจ้อย แต่การเคลื่อนไหวของนักการเมืองทำนองนี้จะได้ภาพที่ยิ่งใหญ่…

เป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าพวกเขาเข้ามาเพื่อ “อาสา” หรือเพื่อจะ “เอาวา”

จุดที่มองเห็นได้ชัดว่าเป็นการ “สวนทางกัน” ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรีไทยก็คือ ความตั้งใจและพยายาม “ลดรายจ่าย” ของประเทศ

ในขณะที่มาเลเซียปลดพนักงานอัตราจ้างราว 17,000 ตำแหน่ง ในหน่วยงานที่ไม่จำเป็น

ไทยกลับจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายสารพัดและสิ้นเปลืองไปกับหน่วยงานที่ไม่จำเป็น ในนโยบายที่ผิดพลาด

มิหนำซ้ำบางงานเท่ากับเปิดช่องหรือสนับสนุนให้เกิดการคอร์รัปชั่น (เงินทอน) หรืออย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงความไม่มีธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจ

จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย เริ่มงานด้วยการจัดตั้งหน่วยงานสารพัดซ้ำซ้อนกัน เช่นคณะปฏิรูปฯ และคณะขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในงานสาขาต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลซึ่ง คสช. ถือว่าเป็นพรรคพวกที่ต้องแทนบุญคุณ ด้วยการตั้งเงินเดือน เบี้ยประชุม เงินเดือนที่ปรึกษา เงินเดือนเลขานุการ ฯลฯ รวมแล้วประมาณคนละ 120,000 บาท

แม้แต่การไปประชุมที่ต่างประเทศของรัฐมนตรีบางท่าน ก็ต้องเหมาเครื่องบินไป-กลับ พร้อมการเสิร์ฟอาหารราคาแพง

สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ประชาชนผู้เสียภาษี เป็นข่าวอื้อฉาวในภาพของการเล่นพรรคเล่นพวก ความล้มเหลวของการปฏิรูป และไม่มีผลงานอย่างที่คุยไว้ขณะรัฐประหารใหม่ๆ จนกระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ต้องออกปากเตือนนายกรัฐมนตรี ว่า

“กองหนุนเหลือน้อยแล้ว”

อีกเส้นทางหนึ่งที่ไทยเดินสวนทางกับมาเลเซียก็คือเรื่อง “ปราบโกง”

REUTERS/Lai Seng Sin/File Photo

มหาเธร์เริ่มงานปราบโกงทันที ดูเหมือนจะเริ่มก่อนวันรับตำแหน่งด้วยซ้ำ นั่นคือให้หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นห้ามอดีตนายกฯ นาจิบ ราซะก์ เดินทางออกนอกประเทศ สืบสวนสอบสวนกรณีกองทุน IMDB

ซึ่งนาจิบเป็นผู้ก่อตั้ง ถูกสหรัฐอเมริกาฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สิงคโปร์ดำเนินการยึดทรัพย์ราว 6,300 ล้านบาท หลังจากตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของนักธุรกิจชาวมาเลย์

หลังจากรับตำแหน่งรัฐบาลใหม่ไม่นาน ทางการมาเลเซีย ตรวจและยึกทรัพย์สินมหาศาลของท่านผู้หญิงราซะก์ และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องร้องในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ในขณะที่ในประเทศไทยกลับมีแต่ข่าวผู้มีอำนาจคอร์รัปชั่นเสียเองโดยที่รัฐยังเอาผิดไม่ได้

ส่วนคดีที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลเก่าแม้จะเอาผิดผู้ต้องหาได้ ก็ไม่ได้มีการรับรองจากสากลประเทศ ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ด้วยว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

ส่วนที่กำลังเอะอะโครมครามอยู่ในขณะนี้ ทั้งข้าราชการ ครู และพระภิกษุในผ้าเหลือง ก็ถูกมองว่าไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาล คสช. เป็นเรื่องที่เยาวชน ข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนชั้นล่างเป็นผู้ชี้ช่องให้ทั้งสิ้น

มีคำถามว่าถ้านายกรัฐมนตรีไทยจะขยับตัวเคลื่อนไหวบทบาท ตามอย่างนายกรัฐมนตรีใหม่ของมาเลเซียหรือนายกรัฐมนตรีใหม่ของอิตาลี่ จะสายเกินไปหรือไม่?

ตอบได้ว่า “ไม่สาย” เพราะผ่านมาแค่ 4 ปีเท่านั้นเอง (ฮา) และประชาชนยังอยากเห็น แต่ก็ “ไม่สวย” เพราะคาดว่าไทยจะมีการเลือกตั้งกันตามโรดแม็ปในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้านี้แล้ว อาจจะดูเป็นการสร้างภาพเพื่อหาเสียงเสียมากกว่าเป็นวิสัยปกติหรือเป็นอุดมการณ์

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีของไทย คงไม่เดินตาม ดร.มหาเธร์แน่นอน เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าทั้งคู่มีกระบวนการทางความคิดและตัดสินใจอย่างตรงข้ามกัน เป็นชุดความคิดคนละชุดที่มากกว่าสวนทางกัน

จะให้เข้าใจประเด็นนี้ ผมต้องขออนุญาตอ้างเรื่องเล่าของ รศ.ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ และอดีตอนุกรรมการ ฝ่ายมาตรการป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.

อาจารย์ต่อตระกูลเล่าว่า มหาเธร์เผยเคล็ดลับสุขภาพที่ทำให้ท่านทำสถิติเป็นนายกฯ ที่มีอายุมากที่สุดในโลก…

“ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ กินน้อย หยุดกินเมื่อรู้สึกว่าอร่อย”

ส่วนผม(ผู้เขียน) พบว่านายกฯ ตู่นั้น แรกที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักการเมือง แต่เมื่อเป็นนายกฯ ไปสักพักก็ รู้สึกเหมือนได้กินอาหารอร่อยที่หยุดไม่ได้

ไม่ได้คิดสวนทางกันนะครับ แบบนี้เขาเรียกว่าคิดตรงกันข้ามกัน