ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]
เหรียญรุ่นแรก 2518
มงคล ‘หลวงปู่บุญมา’
พระวิปัสสนานครพนม
“หลวงปู่บุญมา มหายโส” หรือ “พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม พระป่าสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระเกจิอาจารย์อีกรูปที่ชาวนครพนมต่างเคารพเลื่อมใสศรัทธา
เป็นลูกศิษย์ที่ร่วมธุดงค์ในกองทัพธรรม อุปัฏฐากรับใช้ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างใกล้ชิด
วัดอรัญญิกาวาสแห่งนี้เป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และหลวงปู่บุญมา ธุดงค์มาปักกลด เดิมเป็นป่าช้า ที่ประหารนักโทษ ก่อนตั้งสำนักสงฆ์และสร้างวัดดังกล่าวขึ้นในปี พ.ศ.2472
ระหว่างที่หลวงปู่เสาร์ไปปฏิบัติธรรมที่ภูเขาควายฝั่งลาว มอบภาระให้หลวงปู่บุญมาเป็นผู้ปกครองดูแลวัดสืบมา
ก่อนที่จะมรณภาพ 3 ปี วัดและคณะศิษย์จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นรุ่นพิเศษ คือ “เหรียญหลวงปู่บุญมา รุ่นแรกปี 2518” เนื้อเงินและเนื้อทองแดง
เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี อีกทั้งสำหรับมอบให้ญาติโยมและทหารเรือหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง (นปข.) ในขณะนั้น
ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรีย มีรูปเหมือนหลวงปู่บุญมาครึ่งองค์ ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูน ระบุ “อาจารย์บุญมา มหายโส” ขอบเหรียญรอบวงรีสลักเส้นคล้ายรอยฟันปลา
ครึ่งเหรียญส่วนบน ถ้าใช้กล้องส่องพระ จะสังเกตเห็นการลงเหล็กจารไว้ที่ขอบเหรียญ โดยใช้เหล็กแหลมเขียนยันต์คาถานกยูงทอง เป็นคาถาที่หลวงปู่มั่นถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ไว้เป็นเกราะกำบังตนเองขณะอยู่ในป่า
ด้านหลังเหรียญ ถัดจากเส้นนูนของเหรียญ ระบุ “พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ วัดอรัญญิกาวาส รุ่นพิเศษ” ส่วนบรรทัดที่ 3-5 เป็นยันต์อักขระคาถาของพระพุทธเจ้า “นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา” ระบุปี พ.ศ. สร้าง “๒๕๑๘” มีดอกจันกำกับ 2 ดอก ก่อนระบุชื่อจังหวัด “นครพนม”
เหรียญรุ่นนี้หลวงปู่บุญมาลงจารด้วยมือทีละเหรียญ พร้อมกับสวดแผ่เมตตาจิตขณะใช้เหล็กแหลมทิ่มเขียนในโลหะ และมีคาถากำกับซึ่งต้องใช้สมาธิสูง
จัดเป็นอีกเหรียญที่หายาก


มีนามเดิมว่า กุมาร นะคะจัด เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2444 ที่บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดกลาง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีพระครูจรรยาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอท่าอุเทน เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังอุปสมบทกลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเกิด โดยมีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นเจ้าอาวาส ศึกษาอักษรธรรม-อักษรขอม
พ.ศ.2465 ทราบว่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น เดินทางมาเผยแผ่วิปัสสนากัมมัฏฐานที่บ้านหนองลาด อ.เมือง จ.สกลนคร
พระอาจารย์เกิ่งจึงได้นำพระภิกษุ-สามเณรจำนวนหนึ่ง ไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ จากนั้นได้ร่วมคณะธุดงค์ผ่าน อ.อากาศอำนวย ก่อนมาตั้งสำนักวิปัสสนาที่ป่าช้า ต.สามผง
พ.ศ.2466 นิมนต์หลวงปู่มั่นพักอยู่ที่สำนักวิปัสสนาดังกล่าว ก่อนตั้งวัดป่าสามผงขึ้น ซึ่งมีพระภิกษุสายมหานิกายจำนวน 30 รูป และขอญัตติเป็นธรรมยุตกับพระเทพสิทธาจารย์ หรือหลวงปู่จันทร์ ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม
จากนั้นเปลี่ยนเป็นชื่อ “บุญมา” และได้รับฉายา “มหายโส” นับแต่นั้นมา
ต่อมา หลวงปู่เสาร์ธุดงค์มาจาก จ.อุดรธานี แวะจำพรรษาที่วัดป่าสามผงนาน 2 พรรษา ก่อนร่วมธุดงค์กับพระ-เณรหลายรูปผ่าน อ.ท่าอุเทน เพื่อที่จะมาตั้งวัดในตัว จ.นครพนม ชาวบ้านจึงจัดหาที่พักถวาย โดยปลูกกระต๊อบเล็กมุงหญ้าแฝกเป็นกุฏิพำนัก
ต่อมานายประดิษฐ์ มังคละคีรี เจ้าของสวน เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงถวายที่ดินให้เป็นสำนักสงฆ์ 27 ไร่เศษ โดยตั้งชื่อว่าวัดโพนแก้ว เมื่อ พ.ศ.2472 ซึ่งหลวงปู่เสาร์เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างวัดดังกล่าว
หลวงปู่เสาร์จำพรรษาที่วัดโพนแก้วนาน 1 พรรษา ก่อนข้ามโขงไปปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานที่ภูเขาควาย ประเทศลาว
ส่วนวัดโพนแก้ว มอบให้หลวงปู่บุญมาเป็นผู้ปกครอง จนได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2493 ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดอรัญญิกาวาส
พ.ศ.2490 เกิดสงครามอินโดจีน หลวงปู่บุญมาอพยพหลบภัยไปจำพรรษาวัดบ้านเกิด
หลังสงครามสงบลง พ.ศ.2493 กลับมาพัฒนาวัดสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุ พร้อมซุ้มประตูทางเข้าวัดและกำแพงวัด
จนกระทั่งได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ
ขณะอยู่รับใช้หลวงปู่เสาร์ มีอยู่วันหนึ่งในเวลา 4 ทุ่ม ท่านเรียกหลวงปู่บุญมาไปหาที่กุฏิ ก่อนปรารภว่า “เราได้ปฏิบัติพระศาสนา เที่ยวอบรมสั่งสอนพระภิกษุ-สามเณร และประชาชนให้รู้แจ้งเห็นจริงในศีลธรรมมาด้วยความลำบากแสนเข็ญ บางบ้านเขาเอาปืนมายิง บางบ้านเขาว่าเป็นอีแร้ง เอาปืนไปยิงทุกหนแห่ง ขอให้พิจารณาในธรรมของพระบรมศาสดา แล้วใช้วิริยะความเพียรอย่าท้อถอย อย่าได้ละทิ้งวัดนี้ไปเทอญ”
กระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 2521 หลวงปู่บุญมามรณภาพลงอย่างสงบ ที่กุฏิภายในวัดอรัญญิกาวาส สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57
เมื่อปี พ.ศ.2540 คณะศิษย์พร้อมใจสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่บุญมา ที่บริเวณกำแพงทิศเหนือของวัด ภายในมีรูปปั้นหลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่น และหลวงปู่บุญมา พร้อมเครื่องอัฐบริขารไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกคุณงามความดี