วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 26

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

แต่กระนั้นก็ตาม ความสำเร็จที่มีภูมิหลังและการปฏิบัติตนที่ดีดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งย่อมมาจากการจัดวางระบบการปกครอง ซึ่งพบว่า แม้จะเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จก็จริง แต่ก็สำเร็จเพราะเป็นระบบที่รวบอำนาจมาอยู่ในมือของจักรพรรดิโดยส่วนใหญ่

เหตุดังนั้น หากระบบเช่นนี้จะประสบความสำเร็จแล้ว ความสำเร็จนั้นก็มิอาจยืนอยู่ได้นานถ้าผู้นำเป็นคนที่ไร้คุณธรรมและความสามารถ หรือหากมี แต่ผู้นำที่สืบทอดอำนาจคนต่อๆ มาไม่มี ระบบที่ว่าก็มิอาจยืนอยู่ได้นานเช่นกัน

ระบบนี้เป็นอย่างไรจึงเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวถึงในที่นี้

 

การเป็นผู้โค่นล้มหวังหมั่งของหลิวซิ่วนั้น หากกล่าวด้วยเหตุผลพื้นฐานแล้วย่อมมีที่มาจากความไม่พอใจต่อนโยบายของหวังหมั่ง

แต่ครั้นพอได้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของฮั่นสมัยหลังแล้วก็ปรากฏว่า ฮั่นกวางอู่ตี้กลับทรงผูกขาดอำนาจเสียยิ่งกว่าฮั่นเกาตี้และหวังหมั่งเสียอีก

ทั้งนี้ อาจเห็นได้จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นหนึ่งในตำแหน่งสามมหาอำมาตย์ อันเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากทั้งในสมัยฉินและฮั่นสมัยแรก และมักได้รับความสำคัญหรือเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิเสมอนั้น มาในยุคของฮั่นกวางอู่ตี้ก็ถูกทำให้ไร้ความสำคัญ หรือไม่ก็ไม่เป็นที่โปรดปรานดังแต่ก่อน

หรือในบางกรณีก็ใช้วิธีเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งเพื่อให้ดูสำคัญน้อยลง เช่น ต้าซือคงหรือราชเลขาธิการอันเป็นหนึ่งในสามของตำแหน่งสามมหาอำมาตย์นั้น ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงเปลี่ยนมาเป็นซือคง คือตัดคำว่า ต้า ที่หมายถึง ใหญ่หรือยิ่งใหญ่ออกไป เป็นต้น

ผิดกับตำแหน่งทางการทหารที่ในสมัยฮั่นกวางอู่ตี้กลับมีความสำคัญขึ้นมา โดยแต่เดิมนั้นผู้ดำรงตำแหน่งนี้แม้จะเทียบเท่านายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีความสำคัญมากนัก และด้วยเหตุนี้จึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งสลับกันไปมาระหว่างคำว่า ไท่เว่ย กับคำว่า ต้าซือหม่า

ซึ่งโดยชื่อแล้วถือว่ามีเกียรติสูง แต่ในทางปฏิบัติกลับมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาทางการทหารแก่จักรพรรดิเท่านั้น

ครั้นในยุคฮั่นกวางอู่ตี้ตำแหน่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อจากต้าซือหม่ามาเป็นไท่เว่ยอีกครั้ง และถูกให้ความสำคัญมากขึ้น คือนอกจากจะเป็นหนึ่งในตำแหน่งสามมหาอำมาตย์แล้ว ก็ยังมีหน้าที่ดูแลด้านการทหารโดยตรงอีกด้วย

การให้ความสำคัญกับตำแหน่งนี้อย่างที่เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับตำแหน่งข้างต้นนั้น ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากเพื่อให้ตำแหน่งนี้มาค้ำยันเสถียรภาพของราชวงศ์เอาไว้ ซึ่งในด้านหนึ่งย่อมหมายความด้วยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ได้รับความไว้วางใจจากจักรพรรดิด้วยเช่นกัน

นอกจากจะวางระบบในส่วนกลางในลักษณะรวบอำนาจไว้ที่จักรพรรดิแล้ว ส่วนท้องถิ่นก็ถูกวางระบบในลักษณะที่ไม่ต่างกันเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงเปลี่ยนระบบบริหารเขตอำเภอ (จวิ้น-เสี้ยน) ที่เป็นมาแต่เดิมด้วยการตั้งหน่วยปกครองที่เรียกว่าโจว ขึ้นมาอีกหนึ่งหน่วยแล้วให้เรียกรวมกับสองหน่วยแรกเป็นว่า โจว-จวิ้น-เสี้ยน หรือระบบบริหารเมืองเขตอำเภอ

จากนั้นก็ลดทอนอำนาจของขุนนางท้องถิ่นรวมทั้งวงศานุวงศ์ที่ถูกส่งไปปกครองท้องถิ่นลง แต่ที่แตกต่างกับส่วนกลางบทบาทของทหาร ที่ในส่วนท้องถิ่นกลับมิได้มีบทบาทมากเท่าส่วนกลาง

โดยทหารในส่วนท้องถิ่นไม่เพียงจะทำหน้าที่ทหารตามปกติเท่านั้น ในยามสงบ ทหารในส่วนนี้ยังต้องลงมาทำการเกษตรในท้องที่ที่ตนสังกัดอีกด้วย

นอกจากนี้ ฮั่นกวางอู่ตี้ยังทรงให้ปลดปล่อยทาสและนักโทษให้เป็นอิสระอีกด้วย การลดทอนอำนาจส่วนท้องถิ่นเช่นนี้ยังถูกสืบทอดในยุคของฮั่นหมิงตี้และฮั่นจังตี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีดังกล่าวส่งผลให้เจ้าศักดินาในท้องที่ต่างๆ ได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการให้ทหารมาทำนาให้

แต่ยิ่งได้ประโยชน์มากเพียงใด ชาวนาก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะถึงตอนนี้ผู้ที่จะเข้าสู่อาชีพการเกษตรใช่จะมีเพียงชาวนาที่มีอยู่แต่เดิมไม่ หากยังมีอดีตทาสและอดีตนักโทษเพิ่มเข้ามาด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวนาในยุคนี้หากไม่มีที่นาให้เช่าทำกินแล้วก็จะกลายเป็นชาวนาไร้ที่ดิน ที่ต้องเร่ร่อนหาที่ทำกินยังที่ต่างๆ ภาวะที่ว่านี้ดำรงอยู่นับแต่นั้นมา จากนั้นก็ค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนมากขึ้นจนกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมขึ้นมา

ในที่สุดสถานการณ์นี้ก็นำพาไปสู่การเกิดขึ้นของกบฏเมื่อถึง ค.ศ.184 ซึ่งก็คือวงจรเดิมที่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้วก็หวนกลับมาใหม่ในยุคนี้

 

พ้นไปจากระบบการปกครองของฮั่นสมัยหลังตามที่กล่าวมาแล้ว รายละเอียดอื่นๆ ยังคงถูกสืบทอดมาจากฮั่นสมัยแรก เช่น ระบบตำบลหรือสำมะโนประชากร เป็นต้น

แต่กระนั้น สิ่งที่พึงย้ำในที่นี้ก็คือว่า ไม่ว่าระบบจะถูกออกแบบมาอย่างไร ทุกแบบต่างตั้งอยู่บนฐานของหลักคิดสำนักหญูหรือลัทธิขงจื่อทั้งสิ้น

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า แม้หลักคิดนี้จะมีมายาวนาน แต่ผู้ที่ลงหลักปักฐานให้แก่หลักคิดนี้อย่างมั่นคงถาวรก็คือฮั่นสมัยแรก เมื่อเลือกที่จะใช้หลักคิดนี้มาเป็นฐานในการปกครองแล้ว สิ่งที่ฮั่นสมัยแรกได้ทำต่อไปก็คือ การตั้งสถานศึกษาเพื่ออบรมบ่มเพาะบัณฑิตขึ้นมารับใช้ราชวงศ์

สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นนี้มีทั้งที่เป็นของภาครัฐและภาคเอกชน สถานศึกษาในระดับสูงสุดของภาครัฐจะตั้งอยู่ที่เมืองหลวงเรียกว่า ไท่เสี๋ว์ย หรือมหาสิกขาลัย

ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับสูงสุดนี้ย่อมต้องผ่านการศึกษาในท้องถิ่นก่อน โดยสถานศึกษาในท้องถิ่นจะตั้งอยู่ในหน่วยปกครองระดับอำเภอหรือเมือง อันเป็นหน่วยปกครองที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าศักดินา

ในระยะแรกที่เปิดนั้นยังมีนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนไม่มากนัก แต่พอถึงฮั่นสมัยหลังก็พบว่ามหาสิกขาลัยมีนักศึกษาสูงประมาณ 30,000 คน ทั้งนี้ ยังมินับนักศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นสำหรับวงศานุวงศ์และชนชั้นสูง ที่ซึ่งก็มีขึ้นในสมัยนี้เช่นกัน

ส่วนวิชาที่ต้องศึกษาย่อมหนีไม่พ้นวิชาที่สำนักหญูยกย่อง นั่นคือ เบญจปกรณ์ (อู่จิง) (1) โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า หลังจากยุคนี้ไปแล้ว ตำราที่ใช้ศึกษาได้มีเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง แต่ยังคงเป็นตำราของสำนักหญูเช่นกัน

 

ส่วนสถานศึกษาภาคเอกชนนั้น หากเทียบกับปัจจุบันอาจจัดอยู่ในระดับประถมศึกษากับมัธยมศึกษา เพราะในตอนต้นจะศึกษาอักษรจีน เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจึงไปศึกษาตำราที่ว่าด้วยหลักคำสอนของสำนักหญูอย่างเช่น หลุ่นอี่ว์ (2) เป็นต้น

กล่าวกันว่า การศึกษาในตอนต้นของภาคเอกชนนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่เรื่องราวของอักษรจีน เพราะอาจารย์ผู้สอนมีความเชี่ยวชาญในอักษรจีนโบราณก่อนราชวงศ์ฉิน โดยผู้สอนสามารถอธิบายตัวเขียนพร้อมความหมายของอักษรจีนได้เป็นอย่างดี เนื้อหาสาระในส่วนนี้จึงมีประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาจีนในเวลาต่อมา

คงจะไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนหากจะกล่าวว่า ระบบการศึกษาจากที่กล่าวมานั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือการเตรียมบุคคลเพื่อเข้ารับราชการนั้นเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีที่มาตั้งแต่ก่อนราชวงศ์ฉินแล้ว แต่ในสมัยฮั่นไม่เพียงจะเป็นระบบมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีความชัดเจนว่าอะไรคือพื้นฐานความรู้ที่จักรวรรดิต้องการอย่างแท้จริง และความรู้นั้นก็คือความรู้ของสำนักหญู ซึ่งจะมีก็แต่ผู้มีความรู้ของสำนักนี้เท่านั้นที่จะรับราชการได้

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้ราชวงศ์ฮั่นเลือกเอาความรู้สำนักหญูก็ตาม ตอนที่เลือกย่อมมิอาจพยากรณ์ได้ว่า ในอีกกว่าสองพันปีต่อมาความรู้ของสำนักนี้จะมีส่วนในการก่อปัญหาให้กับศักดินาจีนจนล่มสลาย และพอถึงในยุคคอมมิวนิสต์ความรู้ของสำนักนี้ก็ถูกวิพากษ์ทำลายจนแทบจะย่อยยับ

และกว่าจะฟื้นคืนกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง สังคมจีนก็มิได้เป็นแบบเดิมเสียแล้ว

————————————————————————————————————
(1) เบญจปกรณ์ ประกอบไปด้วยตำราห้าเล่มคือ กาพยปกรณ์ (ซือจิง) รัฐตำนานปกรณ์ (ซูจิง) รีตปกรณ์ (หลี่จิง) อนิจปกรณ์ (อี้จิง) และ วสันตสารท (ชุนชิว)
(2) หลุนอี่ว์ เป็นตำราที่รวบรวมและเรียบเรียงหลักคำสอนของขงจื่อในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้รวบรวมและเรียบเรียงเป็นศิษย์และมีชีวิตร่วมสมัยเดียวกับขงจื่อ เนื้อหาของตำราจะแบ่งเป็นบรรพ แต่ละบรรพจะว่าด้วยหลักคำสอนของขงจื่อในประเด็นต่างๆ