คำ ผกา : มหรสพแห่งสังคมไทย

คำ ผกา

“แต่สิ่งที่เขากลับต้องตะลึงงันไปมากกว่านั้นก็คือ เมื่อเขาออกจากประตู ซึ่งคาดว่าเป็นประตูหอประชุมใหญ่ เขาเห็นคนกลุ่มใหญ่มุงดูอะไรกันอยู่ ด้วยสัญชาตญาณช่างภาพ เขาจึงสอดแทรกตัวเองเข้าไป และเห็นคน 2 คนถูกแขวนไต้ต้นไม้ในบริเวณเดียวกัน ห่างกันเดินประมาณ 10-15 วินาที เขารีบถ่ายภาพโดยรวดเร็ว และรีบออกจากที่นั่นทันทีเพราะกลัวโดนยึดกล้อง ได้แท็กซี่ฝั่งตรงข้ามเพื่อตรงไปสำนักงานเอพี ประจำประเทศไทย”

บทสัมภาษณ์ Neal Ulevich เจ้าของภาพถ่ายนักศึกษาถูกแขวนคอ ใต้ต้นมะขาม มีคนเอาเก้าอี้ฟาด และมีกลุ่มคนยืนมุงดู ยิ้ม หัวเราะ (https://www.matichonweekly.com/scoop/article_8228)

บ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการปราบปรามสิ้นสุดลงไม่กี่ชั่วโมง สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดรายการสดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้น เข้าใจว่า ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นพิธีกรสนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าปฏิบัติการ…หนึ่งในห้านายที่ร่วมรายการวันนั้นคือ พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค…การสนทนากล่าวถึงนักศึกษาผู้ถูกปราบปรามด้วยการทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายอย่างไร้เหตุผล…ทำให้ผู้ถูกปราบปรามเป็น “ญวน” …ซึ่งเป็นคำที่บอกถึงความเกลียดชังศัตรูอย่างกระดูกดำ โกรธแค้นรังเกียจถึงขนาดพร้อมจะฆ่าด้วยวิธีการอัปลักษณ์…มีการกล่าวถึงคนที่ถูกเผาทั้งเป็นว่าเป็นญวนเพราะพูดไทยไม่ได้ ผู้คนเห็นว่าเป็นญวนจึงเอาไปเผา ทั้งพิธีกรและคู่สนทนาสอดแทรกมุขราวกับว่าเป็นเรื่องเบาๆ เพื่อความรื่นเริงประกอบการสนทนา”
(6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, ธงชัย วินิจจะกูล หน้า 104-105)

หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ของ ธงชัย วินิจจะกูล บอกว่า มีความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา อยู่สามชุดด้วยกันในสังคมไทย

ชุดแรก หลังการปราบปรามเสร็จสิ้นลง มีการอธิบายว่า การปราบและล้อมฆ่านักศึกษาและประชาชนในวันนี้เป็น “วีรกรรม” มีมวลชนสนับสนุน ออกไป “ฆ่า” ตามคำเรียกร้องของประชาชน และแม้จะเต็มไปด้วยความยากลำบากก็ยอมเสียสละ คณะปฏิรูปฯ ทำ นิทรรศการเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

นิทรรศการนี้จัดแสดงที่กรุงเทพฯ ก่อนจะเวียนไปแสดงตามจังหวัดต่างๆ โดยมีเนื้อหาว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ มีการสะสมอาวุธหนักที่ธรรมศาสตร์มากมาย – เป็นหลักฐานที่ต้องการเน้นที่สุดในนิทรรศการ ขบวนการนักศึกษากำลังเตรียมให้คอมมิวนิสต์ญวนยึดประเทศไทย

ความทรงจำชุดแรกของสังคมไทยต่อเหตุการณ์นี้คือ

“6 ตุลาฯ คือความสำเร็จของการรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากแผนการคอมมิวนิสต์ คือวีรกรรมและชัยชนะอันน่าชื่นชมยินดีของฝ่ายขวา” (หน้า 107)

ชุดที่สอง ช่วงปี 2520-2539

2520-2521 เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีอีกต่อไป แต่ถูกรับรู้ว่าเป็นความแตกแยกของสังคมที่ต้องการการเยียวยา สมานฉันท์ และต้องการให้สังคมต้องการลืม

การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นพร้อมกับการคืนเมืองของนักศึกษาประชาชนที่เคยเข้าป่า ทำให้เกิดค่านิยมการเมืองแบบเสรีนิยม แนวคิดสิทธิพลเมือง ภาคประชาสังคม กลายเป็น “จริยธรรม” ของสังคมไทยในยุคนั้น “คนเดือนตุลาฯ” กลับเข้ามามีบทบาท ในกิจกรรมทางการเมือง เป็นเอ็นจีโอ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นนักธุรกิจ เป็นนัการเมือง และเป็นกลุ่มคนที่บทบาทในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

งานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ถึงขั้นมีการถ่ายทอดสดงานรำลึกทางโทรทัศน์ การ “ฆ่า” นักศึกษาและประชาชนถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมทางการเมือง เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง

แต่น่าประหลาดอย่างหาที่สุดไม่ได้คือ ประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลา ไม่เคยได้รับการชำระ เพราะเจอขีดจำกัดในการพบปะกับความจริง

ธงชัยใช้คำว่า “ปริมณฑลของความเงียบ” ยังคงดำรงอยู่

 

ชุดที่สาม – ความทรงจำจากฝ่ายขวาระดับปฏิบัติการ เช่น สมาชิกลุ่มกระทิงแดง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 30 ปี

ธงชัย พบว่า สามสิบปีให้หลัง หลายคนที่เคยเป็นสมาชิกกลุ่มกระทิงแดงบางคนดูล้ำสมัยกล้าหาญอย่างคาดไม่ถึง เช่น กล้าตำหนิผู้ที่ไปมุงดูการแขวนคอ บ้างคิดว่าตัวเองถูกหลอกใช้ บ้างเห็นว่าฝ่ายขวาเต็มไปด้วยการโกหก “ฝ่ายเราไม่พูดความจริง” บ้างเห็นว่าทำตามหน้าที่ ทำเพราะเชื่อผู้ใหญ่

ตอนหนึ่งในหนังสือ 6 ตุลา จำไม่ได้ ลืมไม่ลง ที่ฉันอยากจะยกมาคือในประเด็นเกี่ยวกับสถานะของมันในทางประวัติศาสตร์

“6 ตุลา ในการรับรู้ของสังคมไทยยังคงไม่มีคนผิดคนถูกหรือความผิดความถูกที่ชัดเจน ไม่มีบทเรียนทางคุณธรรมหรือบรรทัดฐานทางสังคมใดๆ ว่าการกระทำใดเป็นสิ่งผิดสิ่งถูก ภาวะอีหลักอีเหลื่อคลุมเครือเปลี่ยนไปนับจากปี 2520 มาจนถึง 2539 ก็จริง แต่ยังคลุมเครือมากพอที่จะไม่เปลี่ยนความเชื่อของฝ่ายขวา และผู้มีส่วนสนับสนุน…การก่ออาชญากรรม 6 ตุลา คนเหล่านี้ตั้งแต่ระดับล่างสุดไปจนถึงบนสุด ส่วนใหญ่ไม่ต้องรู้สึกผิด ไม่ต้องรับผิดชอบ ยังคงมีชีวิตปรกติตราบเท่าที่ยังอธิบายให้กับตนเองและคนรอบข้างได้”
(6 ตุลา จำไม่ได้ ลืมไม่ลง. ธงชัย วินิจจะกูล, หน้า 160)

 

ทั้งหมดนั้นสถานะของ 6 ตุลาฯ เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป 40 ล่ะ

ในห้วงสิบปีให้หลังที่สังคมไทยเผชิญกับการรัฐประหารสองครั้ง ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ระหว่าง เหลืองและแดง ตามมาด้วย ความขัดแย้งระหว่าง กปปส. กับผู้นิยมลัทธิประชาธิปไตย

ระหว่างนั้น มีการนองเลือดกลางเมืองที่ประชาชนเสียชีวิตในตัวเลขเฉียดร้อย ในบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลา ที่คนไทยเห็นว่าการฆ่าประชาชนเป็นวีรกรรม เจ้าหน้าที่รัฐเสียสละเพื่อชาติ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์เสนอข่าว บิ๊ก คลีนนิ่งเดย์ และ together we can ดารา นักร้อง ออกมาร้องเพลงสร้างกำลังใจให้ฝ่ายปราบปรามประชาชน

และอย่างไม่น่าเชื่อ ที่ ณ วันที่เรากำลังรำลึกถึงวันครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา เรากำลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และฝ่ายขวา กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง

 

ฉันไม่รู้เหมือนกันว่านอกจากนักประวัติศาสตร์แล้ว จะมีคนไทยสักกี่คนที่เฉลียวใจว่า เพราะเหตุใดประวัติศาตร์ 6 ตุลา จึงเป็นประวัติศาสตร์ต้องห้าม เพราะเหตุใดการรับรู้ของเราคนไทยในเรื่องนี้พร่าเลือน กำกวม สับสน และกระจัดพลัดพราย

พร่าเลือนอย่างชนิดที่ ฉันอยากให้ลองไปสัมภาษณ์คนเดินดินกินข้าวแกงไปจนถึงนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ ถามว่าพวกเขาแยกเหตุการณ์ 6 ตุลา กับ 14 ตุลา ออกจากกันได้ไหม?

เราจดจำ รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ได้บ้าง? เรารู้จัก อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ไหม? สุตสาย หัสดิน เป็นใคร? อาคม มกรานนท์ ทำอะไร? สมัคร สุนทรเวช ทำอะไร?

เราจดจำลูกเสือชาวบ้านอย่างไร? – ใช่หรือไม่ที่ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถเชื่อมโยงภาพลูกเสือชาวบ้านกับโศกนาฏกรรมการเมือง 6 ตุลา ทว่า เชื่อมโยงภาพลูกเสือชาวบ้านกับความรักชาติบ้านเมือง และความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของไทยต่างหาก

บทบาทของนวพล – พวกเขาคือใครหรือ? อย่าว่าแต่คนรุ่นใหม่ คนไทยรุ่นไหนๆ ก็คงมีคำถามนี้

กระทิงแดงล่ะ? – โอ้ววว มันคือชื่อยี่ห้อเครื่องดื่มชูกำลังอันโด่งดังไปทั่วโลก และเราคนไทยก็แสนจะภูมิใจกับมัน เราสามารถใส่เสื้อกระทิงแดงเดินไปเดินมาได้โดยไม่เคยคิดว่า ชื่อนี้สัมพันธ์อะไรกับ 6 ตุลา หรือต่อให้รู้ เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า แล้ว “กระทิงแดง” มันไม่ดีอย่างไร? ก็สมัยนั้น นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ กระทิงแดงเข้ามาช่วยขจัดภัยคอมมิวนิสต์ มันผิดตรงไหน

กิตติวุฒโทพูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” – อือม… ก็ใช่สิ เจอคอมมิวนิสต์ต้องฆ่าสิ นี่มันศัตรูต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา จะปล่อยให้ลอยนวลงี้?

 

ความกระท่อนกระท่อนกระแท่นในความทรงจำของเดือนตุลา ยังปรากฏความรู้สึกของสังคมที่มีต่อนักศึกษา ตอนปี 2516 ประชาชนไทยเห็นนักศึกษาเป็นฮีโร่ ขับไล่เผด็จการ ผ่านไปแค่สามปี อ้าว มายืนเชียร์คนเอาเก้าอี้ฟาดศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอเสียแล้ว

แถมยังพร้อมใจกันลืมเรื่องการล้อมปราบ ล้อมฆ่านักศึกษา ในเดือนตุลาคม 2519 โดยพร้อมเพรียงกัน ราวกับว่าคนที่ถูกฆ่าไม่ใช่นักศึกษา

และยิ่งกว่านั้น ราวกับว่า “การฆ่า” ไม่เคยเกิดขึ้น

แปลกกว่านั้นในความทรงจำของสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลา ปี 2519 เมื่อเวลาผ่านไปสามสิบปี สี่สิบปี เราได้เห็น คนกลุ่มหนึ่งสามารถเชิดชูทั้งอดีตนักศึกษาที่เป็นผู้ถูกกระทำและเชิดชู “กลุ่มคน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของการฆ่านักศึกษา

ไม่ต้องพูดถึงอดีตคนเข้าป่าจำนวนหนึ่ง ที่ภายหลังสามารถเข้าไปอยู่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับกลุ่มคนที่สังกัดฝ่าย “ไล่ล่า” นักศึกษามาก่อน พร้อมคำอธิบายประมาณว่า “สมัยนั้นไปเพราะไร้เดียงสา”

ประหลาดได้อีก เมื่อในยุคนี้เราได้เห็นว่า คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์เสน่ห์ จามริก ได้รับการยกย่องยอมรับจากสังคมไทย โดยเฉพาะจากฝ่ายขวา ฝ่ายอำมาตย์ และแม้กระทั่งฝ่ายพันธมิตร ฝ่าย กปปส. แล้วเรียบร้อยอย่างเป็นฉันทานุมัติ

แต่เราก็ยังไม่ได้เห็นประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ได้รับการชำระอยู่นั่นเอง ราวกับว่าพวกเขา (ฝ่ายขวาทั้งอดีตและปัจจุบัน – ไม่ต้องนับฝ่ายซ้ายในอดีตที่กลายเป็นฝ่ายขวาในปัจจุบัน) สามารถเลือกที่จะจำบางอย่างของเหตุการณ์ 6 ตุลา และเลือกที่จะลืม ส่วนที่เป็น “หัวใจ” ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เสีย

เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเขาจึงสามารถเชิดชูทั้งผู้นำของฝ่ายเหยื่อและผู้นำของฝ่าย “กระทำ” ได้ในเวลาเดียวโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

ตราบเท่าที่ “ความทรงจำ” และ “ประวัติศาสตร์” อันยังไม่สามารถปรากฏตัวได้ในสังคมไทย และตราบเท่าที่เรายังอนุญาตให้ความคลุมเครือทำงานต่อไปโดยไม่ทักท้วง

“อดีต” ส่วนนี้จะไม่มีวันกลายเป็นบทเรียน สังคมไทยจะยังคงเป็นสังคมที่กระหายอยากเห็นการฟาดเก้าอี้ใส่ศพ “ผู้เห็นต่าง” ในฐานะมหรสพของพวกเขาต่อไปได้เรื่อยๆ