หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ/’เปล’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - หมาไนเป็นนักล่าที่ทำงานได้ผลมาก งานของพวกมันสร้าง "ภาพ" ให้พวกมันเป็นคล้ายสัตว์ป่าที่โหดร้าย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เปล’

 

เปล คืออุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของคนเดินป่า

สำคัญเช่นเดียวกับเป้ รองเท้า และผ้ายางกันฝน

เปลมีไว้สำหรับนอนพัก แบกไปได้ง่าย มีน้ำหนักเบากว่าเต็นท์

ติดตั้งง่าย เพียงผูกระหว่างต้นไม้ ขึงผ้ายาง หรือที่เราเรียก ฟลายชีต ไว้ด้านบนเพื่อกันฝนและน้ำค้าง ถ้าเป็นฤดูหนาว เราจะผูกเปลต่ำๆ และไม่ไกลจากกองไฟ

ฤดูฝนนั้นเป็นช่วงเวลาของเหล่าแมลง อยู่ในป่า เราจึงหลบเลี่ยงฝูงยุง ริ้น คุ่น ซึ่งจะรุมตอม กัด และเจ็บ

ไม่สนุกหรอก หากจะปูผ้ายางนอนข้างกองไฟ ที่ให้ความสบาย อบอุ่นมากกว่า

ในขณะฝนตกเฉอะแฉะ บริเวณโดยรอบอุดมด้วยความชื้น

ดูเหมือนว่าพวกตะขาบ รวมถึงงู ก็อยากเข้ามาอยู่ร่วมด้วย

เปลใช้งานสะดวก บางครั้งเราผูกเปลเป็นชั้นๆ โดยใช้ผ้ายางผืนเดียว และเรียกให้หรูว่า “คอนโด”

หลังจากเดินเหนื่อยๆ มาทั้งวัน และอยู่ในป่าร่วมๆ เดือน สิ่งสำคัญคือ กลางคืนสมควรได้หลับอย่างเต็มที่

ดังนั้น การผูกเปลจึงต้องมี “ทริก” บ้าง

เริ่มตั้งแต่เมื่อถึงที่จะตั้งแคมป์ อาจรีรอสักพัก เพื่อให้คนอื่นที่เรารู้ว่าหมอนี่หลับง่ายดาย และกรนเสียงดัง หาทำเลเสียก่อน จากนั้นเราค่อยหาต้นไม้เหมาะๆ ห่างออกมา

อีกนั่นแหละ บรรยากาศในป่า เวลามีแสงจากดวงอาทิตย์ กับตอนกลางคืน ไม่เหมือนกันเลย

บางคนเลือกไปผูกเปลไกลๆ คนอื่น ครั้นถึงกลางคืนจะดูไกลไปอีกหลายเท่า

ย้ายเข้ามาใกล้ ก็ดูจะเสียเหลี่ยม

กรณีนี้ คงต้องใช้วิธีแกล้งบ่นว่า แถวเปลมีมดเยอะ ต้องย้ายที่

คนอื่นก็มักทำท่าไม่รู้ไม่ชี้

ตอนผูกเปล หากให้ด้านเท้าสูงกว่าด้านหัวนิดหน่อย ทำให้นอนสบายขึ้น

ในช่วงฝนมีปัญหาบ้าง เพราะน้ำฝนไหลซึมมาตามเชือก จนถึงตัวเปล

ในสมัยก่อน เราแก้ไขโดยหาไม้มาค้ำหัวเปลท้ายเปล ให้สูงกว่าส่วนที่ผูกไว้กับต้นไม้

ผู้ใดต้องนอนอยู่กับเปลเปียกๆ ไม่พ้นที่จะโดนมองด้วยสายตายิ้มๆ หรือได้ยินถ้อยคำลอยๆ มาว่า “อ่อน” อะไรทำนองนี้

การได้เกทับในเรื่องเล็กน้อย ได้แกล้งกัน อย่างแอบเอาก้อนหินใส่ในเป้เพื่อน หรือซ่อนเหล้าต้มชั้นดีที่มีคนเอามาจากปะละทะ เมืองอุ้มผาง เหล่านี้คือความรื่นรมย์อย่างหนึ่ง

ในปัจจุบัน เราใช้ห่วงกลมๆ มัดต่อจากเชือกเปล ให้มันทำหน้าที่ดักน้ำอย่างได้ผล

บริเวณใต้ฟลายชีต ว่าไปแล้วเปรียบเสมือนบ้าน เรามีราวแขวนเสื้อ กางเกง ที่แขวนเป้ ที่วางรองเท้า ใต้เปลมีผ้ายางวางอุปกรณ์กล้อง เลนส์ และขาตั้ง

ถึงวันนี้ เปล รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ในป่าพัฒนาไปมาก ทั้งวัสดุ รูปแบบ เหมาะสมกับงาน

และทำให้การอยู่ในป่าสบายขึ้นมากยิ่งขึ้น

 

ผมมีโอกาสพบกับร่องรอยคนผู้แอบเข้าป่าเพื่อฆ่าเอาชิ้นส่วนสัตว์ป่าบ้าง

ทุกครั้งที่พบ ผมรู้สึกได้ถึงความ “มืออ่อน” ของตัวเองขณะใช้ชีวิตอยู่ในป่า

พวกเขาใช้เพียงใบไม้รองพื้นนอน ห่างจากลำห้วย กองไฟกองเล็กๆ และดับกลบ เดินไปตามด่าน โดยแทบไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็น

ดังนั้น นอกจากซากสัตว์ป่าที่พวกเขาฆ่าและเอาไปเฉพาะอวัยวะ เราจึงไม่ค่อยพบเจอคนฆ่า

ในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง เอาจริงและเข้มงวดกับการดูแลปกป้องสัตว์ป่า

คนทำงานได้รับการอบรมและฝึกทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

คนป้องกัน ทำงานอย่างมืออาชีพ

ผู้เข้ามาล่า จึงเป็นมืออาชีพเช่นกัน

 

เช้ามืด…

สายหมอกปกคลุมทั่วผืนป่าเบญจพรรณ ซึ่งอยู่ในระดับความสูง 570 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

พายุฝนตกตามฤดูกาล ป่าเขียวรกทึบ

ชะนีส่งเสียงก้องกังวาน เสียง “กก! กก!” ของนกเงือกแทรกมาจากไกลๆ

ใบไม้สีน้ำตาลที่ทับถมอยู่บนพื้น เปียกชุ่ม ทากชูตัวสลอน เวลาเราเดินผ่าน

“เมื่อคืน มีรอยช้างเดินเข้าเกือบถึงแคมป์เลยครับ”

อดิเทพ คู่หูผมพูดเบาๆ

“ถึงห้วยฝั่งโน้นก็เลี้ยวไปทางโน้น” เขาชี้มือไปทางทิศเหนือ

ผมขยับฟืน เปลวไฟลุก วางกาต้มน้ำ

“คงได้กลิ่นเรา”

ท่ามกลางความมืดมิด ขณะหลับอยู่บนเปล ชีวิตในป่ารอบๆ

ดำเนินไปตามปกติ

 

กลางคืนเป็นเวลาของสัตว์ป่า

ความเป็นไปของพวกมันดำเนินมาเช่นนี้ สัตว์ป่าส่วนใหญ่ทำงานในเวลากลางคืน

เมื่อสัตว์กินพืชมีกิจกรรมกลางคืน เป็นเรื่องปกติที่สัตว์ผู้ล่าต้องใช้ชีวิตตอนกลางคืนด้วย

กลางวัน หรือกลางคืน สำหรับสัตว์ป่าอาจไม่แตกต่างกันสักเท่าใด

พวกมันได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัสส่วนใด ตา หู จมูก รวมทั้งทักษะอื่นๆ

ความมืดในความรู้สึกของคน คือความน่ากลัว

กับสัตว์ป่า นี่เป็นเวลาแห่งความรื่นรมย์

พวกมันเห็นโดยไม่ต้องใช้แสงสว่าง คนไม่ได้ถูกออกแบบมาเช่นนั้น เราจึงต้องใช้อุปกรณ์

ในป่า โอกาสที่จะพบกับสัตว์ป่าที่ “หงุดหงิด” เกิดขึ้นได้บ่อยๆ

คงไม่แค่เพราะพวกมันมีประสบการณ์แย่ๆ กับคน

อีกเหตุผลหนึ่ง พวกมันอาจอยากบอกให้รู้ว่า ระหว่างพวกมันกับพวกเรา อยู่ร่วมกันได้ หากยอมรับว่า

กลางวันเป็นเวลาของคน

ส่วนกลางคืนคือเวลาของพวกมัน

 

ผมใช้เปลในเวลากลางคืน

เปลที่ใช้มีอายุยาวนาน ทนทานอย่างไม่น่าเชื่อ ฟลายชีตเปลี่ยนมาหลายผืน ผืนที่รั่วซึมถูกเปลี่ยนไปกางเหนือกองไฟ

มีอุปกรณ์ช่วย ใช้ชีวิตในป่าก็ไม่ได้ลำบากอะไร

หากป่าเป็นคล้ายสถานที่ “ลี้ลับ” สำหรับผู้ไม่คุ้นเคย

มีคนจำนวนไม่น้อยอยู่ในป่า นำเรื่องราวความเป็นจริงที่นั่นออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้

อาจเปรียบได้กับการผูกเปล

“เชื่อม” ระหว่างต้นไม้สองต้นเข้าด้วยกัน