ต่างประเทศอินโดจีน : ปีแห่งการท่องเที่ยวลาว

ทั้งๆ ที่มี “วัตถุดิบ” อยู่มากมาย แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของลาวกลับไม่ได้เฟื่องฟูและมีสัดส่วนในระดับที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแต่อย่างใด

นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดกันมากกับภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงาม วัดวาอารามสงบร่มรื่น เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และอุดมไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์หลากยุคหลายสมัย

ตัวเลขล่าสุดของเมื่อปี 2017 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับลาวเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 13.7 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมด

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความเป็นจริงได้มากขึ้น หากนำมาเปรียบเทียบกับรายได้ของอุตสาหกรรมเดียวกันของเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซึ่งอยู่ที่ 5,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 28.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรืออย่างของไทย ซึ่งอยู่ที่ 82,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 20.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ภาพดังกล่าวแสดงชัดมากขึ้นในรายงานของสภาการเดินทางท่องเที่ยวโลกล่าสุด ที่จัดอันดับสัดส่วนของการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศต่อจีดีพีเอาไว้ ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 15 เวียดนาม 47 กัมพูชา 72 อันดับของลาวอยู่ถึงอันดับที่ 118 เลยทีเดียว

 

ข้อมูลที่สะท้อนปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (เอ็นอีอาร์ไอ) สถาบันวิชาการของลาวเองระบุว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในลาวเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาลดลง 8.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2016 ก่อนหน้านั้น

นักท่องเที่ยวจากภาคพื้นยุโรปลดลงมากที่สุดถึง 27 เปอร์เซ็นต์ จากเกาหลีใต้ลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ และคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวลาวน้อยลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นั่นคือที่มาของการประกาศให้ปี 2018 เป็นปีการท่องเที่ยวลาว พร้อมๆ กับการ “ปฏิรูป” หลายๆ อย่าง เพื่อฟื้นฟูให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ล้านคน ทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 910 ล้านดอลลาร์

 

เอ็นอีอาร์ไอแจกแจงปัญหาอันเป็นที่มาที่ทำให้การท่องเที่ยวลาวซบเซาลงไว้อย่างน่าสนใจในหลายๆ ด้าน อาทิ การจำกัดของงบประมาณในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศ

การที่ค่าใช้จ่ายในด้านบริการภายในประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการครองชีพโดยรวม อยู่ในระดับค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

ที่สำคัญก็คือ การที่ลาวไม่มีผลิตภัณฑ์เชิงการท่องเที่ยว หรือที่เรียกว่า “ทัวริสต์ โปรดักต์” ที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มากพอ ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดจำนวนลง

นอกเหนือจากการโหมประชาสัมพันธ์และจัดกิจการงานฉลองเชิงวัฒนธรรมและกิจกรรมตามประเพณีกันคึกคักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาแล้ว รัฐบาลยังพยายามทำความเข้าใจกับชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อการนี้

ตัวอย่างเช่น การลงพื้นที่วังเวียง หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ของ ดร.สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เพื่อให้มุ่งเน้นการทำวังเวียงให้กลายเป็นสถานที่เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจกับกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขยายอุตสาหกรรมหรือกิจการธุรกิจเข้ามาในปริมณฑล เป็นต้น

ที่ผ่านมาปัญหาการทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐด้วยกันเองแต่ต่างหน่วยงาน ต่างกระทรวง เป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด

 

นอกจากนั้น ทางการลาวยังร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) จัดทำแผนบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา จัดลำดับความสำคัญของภารกิจ รวมทั้งกำหนดแนวทางดำเนินการ ตั้งแต่แผนการด้านการตลาดและส่งเสริมการท่องเที่ยว, การส่งเสริมทักษะการต้อนรับ อำนวยความสะดวก การฝึกอบรมมัคคุเทศก์ และการอบรมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ฯลฯ

รวมถึงการนำเอาระบบวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วีซ่า) เข้ามาใช้ในราวปลายปีนี้

เป็นเแผนบริหารจัดการที่รวมเอาภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การพัฒนาเอกชนเข้ามาร่วมกันเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงเลยทีเดียว