เขียนถึง ชาญวิทย์ “เท่าที่รู้”

เคยตั้งคำถามกับเพื่อนกันไหมครับ ว่า “เรารู้จักกันได้ยังไง” หรือประมาณว่า “เรารู้จักกันตอนไหน”

ถามเอง แล้วก็ขออนุญาต ตอบเอง ว่า “ต้องเคย” ถามกันแน่ๆ

คำถามจำพวกประมาณนี้ มักจะโยงใยเราและเพื่อน หรือคนที่รู้จัก ไปสู่บทสนทนา เพื่อหาคำตอบ ในทำนองให้ระลึกถึง ต้นสายปลายทางของความสัมพันธ์ว่า เดินมาสู่ปัจจุบันนี้อย่างไร

บางคนก็ตอบได้ แบบคลับคล้ายคลับคลา บางคนก็จำได้แม่นชนิดเล่าได้เป็นฉากๆ เก็บรายละเอียดจนคนฟัง ลูกกะตาลุกวาว กันเลยทีเดียว

ความสัมพันธ์ แบบนี้ ผมขอเรียกมันว่า “เท่าที่รู้” มันจึงเป็นความสัมพันธ์แบบ “เท่าที่จำได้” หรือ “เท่าที่ได้สัมผัส” และก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดในความสัมพันธ์ แต่ มันมีความหมายว่า เรารู้จักเขา “เท่าที่รู้” จริงๆ

ออกตัวแบบนี้ บรรยายยืดยาวแบบนั้น เพราะ ผมต้องการเขียนถึงคน คนหนึ่ง ในแบบ “เท่าที่รู้”

เมื่อวันศุกร์ (7 ต.ค.) ที่ผ่านมา มีนัดหมายกันในฐานะคนข่าว และ ในฐานะแฟนนานุแฟนคลับ ของ “อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ที่บ้านจิม ทอมป์สัน เพื่อเปิดตัวหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นการรวบรวมงานที่เขียน ให้กับคนอื่น หนังสือเล่มนั้น ชื่อว่า “คำนำ” เป็นหนังสือที่รวมงานเขียน “คำนำ” ของอาจารย์ชาญวิทย์ ให้แก่นักวิชาการจากไทยและอุษาคเนย์ตั้งแต่ ปี 2510-2558 รวมแล้ว 48 ปีเต็ม

มีคนจากหลากหลายแวดวง มารวมตัวกันในงานนี้ ผมขออนุมานโดยสรุปว่า ทุกคนล้วนมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับ คนชื่อ “ชาญวิทย์” ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแน่นอน มิเช่นนั้นแล้ว คงไม่หอบแรงกาย พร้อมแรงใจ มาพบปะกันถึงสถานที่จัดงาน

งานในวันนั้น มีการจัด Talk เพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือ ประกอบไปด้วย เซเลปในแวดวงหนังสือ อันได้แก่ คำ ผกา ไอดา อรุณวงศ์ แห่งนิตยสารอ่าน นิ้วกลม และ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา โดยมี อัครพงษ์ ค่ำคูณ และ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ทำหน้าที่ควบคุมไมค์ และ สร้างบรรยากาศการพูดให้ลื่นไหล ตลอดการสนทนา

img_0476

เมื่อโยนคำถามแรก เข้าสู่วงสนทนา เจนวิทย์ ตั้งคำถามกับ ทุกคนว่า “ทุกท่านได้ยินชื่อชาญวิทย์ ครั้งแรกเมื่อไหร่” นี่คือตอบของแต่ละคนครับ

ไอดา – ตอบว่า ได้รู้จักครั้งแรก จากหนังสือเมื่อ 20 ปีมาแล้ว คือเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ได้อ่านงาน เรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล

นิ้วกลม – น่าจะสมัยเรียนตอนอ่าน โจนาธาน นิตยสารสารคดี เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องหกตุลา

คำ ผกา – ครั้งแรก ผ่านงาน วรรณะอำ ผ่านงานไพบูลย์ วงษ์เทศ ใช้ชื่อเรียกว่า ชาญวิทย์ เกษตรกะปิ พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็รู้ว่าเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ เริ่มต้นอ่านงาน โจนาธาน ก่อน จนถึงวันนี้ยังไม่เข้าใจ (ฮา) และนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักอาจารย์ชาญวิทย์

นั่นเป็นต้นสายปลายทางของความสัมพันธ์ ที่ทุกคนมีจุดเกาะเกี่ยวกับ อาจารย์ชาญวิทย์

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พูดในงานวันนั้นว่า

“คำนำ ทำให้เราเห็นว่า อาจารย์ชาญวิทย์เกิดมาบนบรรณพิภพ อย่างไร แล้วจะจาก บรรณพิภพ ไปอย่างไร และมันจะขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศไทย”อย่างไร”

ขณะที่ ไอดา อรุณวงศ์ ในฐานะที่ได้เขียนคำนำ ของหนังสือเล่มนี้ ภายใต้ “นวลคำนำ” บอกกับเราทุกคนในงานว่า

“อาจารย์ไม่ได้ไปเถียงเอาเป็นเอาตายกับใคร เป็นคนเปิดประตูบานนั้นให้คนเข้าไปรู้จักสิ่งต่างๆ และนั่นคือ อาจารย์ชาญวิทย์ ที่เป็นดั่งหนังสือ คำนำ เล่มนี้”

กลับมาที่ตัวผมเอง เท่าที่รู้ ตั้งแต่ประถม มัธยม จนมหาวิทยาลัย ผมขอสารภาพ ภายใต้บรรทัดนี้ ว่า ไม่รู้จักและสนใจคนชื่อ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” เลย แค่คุ้นๆในความจำ จากการหาข้อมูลเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้ว อาจารย์ก็เป็นหนึ่งชื่อในทำเนียบของผู้เคยดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงที่ประเทศนี้ มีบรรยากาศการเมือง ที่ค่อนข้างฝุ่นตลบ สาดข้อมูล ชนิดเทน้ำเทท่า แถมเทสีสาดใส่กัน ประหนึ่งมหกรรมตะลุมบอน หาทางออกทางเลี้ยวกันไม่เจอ อาจารย์ชาญวิทย์ ก็ได้ทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการ ให้ความรู้ ผ่องถ่ายพลังทางปัญญา ต่อสังคมอยู่บ่อยครั้ง และนั่นน่าจะเป็นกุญแจดอกแรกๆ ที่ไขประตู ให้ผมเข้าไปสัมผัส อาจารย์ชาญวิทย์ ผ่านตัวตนของเนื้องาน จากการฟัง การอ่าน แล้วก็ได้แต่คิดตาม

พอเข้าสู่อาชีพนักข่าว ทำให้มีโอกาส ที่จะเจอตัวตนของอาจารย์ชาญวิทย์ มากขึ้น พร้อมทั้งสัมผัสตัวเป็นๆตามสนามข่าวอยู่่เนืองๆ ผมไม่ได้สนิทสนมอะไรกับอาจารย์เป็นพิเศษ แต่ชาญวิทย์ เท่าที่ผมรู้จัก เป็นคนพิเศษ ในยามอยู่ใกล้ครับ หลายตอนที่ได้พบ และเอ่ยถามอะไรด้วยความสงสัยก็แล้วแต่ อาจารย์จะมีรอยยิ้ม และ สละเวลาตอบข้อซักถาม เว้นแต่ความรีบเร่งจะทำให้ได้รับคำตอบที่เราต้องตามไป หาคำตอบจากแหล่งอื่นๆ อีกที แต่นั่นก็พอสมควรต่อความกรุณาในการชี้แนะของอาจารย์แล้ว

ถ้านึกถึงประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ พูดถึงประวัติศาสตร์เหตุการณ์ทางการเมือง อย่าง 6 ตุลา และ 14 ตุลา เห็นตรงกันว่า ชื่อ “ชาญวิทย์” น่าจะไม่หลุดไปจากบรรทัดอ้างอิง

14590414_1226940440682742_7481265814957031247_n

หลายคนคงรู้สึกได้ไม่ต่างกันนักว่า นักประวัติศาสตร์ ผู้อายุอานามล่วงเลยมาสู่วัยใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยที่เขาสอน อาจจะหย่อนๆอยู่บ้าง ชีวิตได้ผ่านเลยเรื่องราวในสถานการณ์ที่หลากหลายแบบไหนมาบ้าง คงจะคล้ายๆกับที่ผมจะบอกทุกคนว่า ให้ลองหา “คำนำ” เล่มนี้มาอ่าน เพราะ งานที่อาจารย์เขียนให้แต่ละเล่ม แต่ละคน ล้วนมีภาพสะท้อน ที่เป็นเสมือนกระจก ที่ทำหน้าที่ส่องให้เห็นตัวตนเรา ส่องให้เห็นความเป็นมาของยุคสมัย ผ่านเรื่องราวที่วางวาดลงเป็นตัวอักษร ตลอดกว่า40ปี

บรรยากาศงานวันนั้น เป็นอีกหนึ่งวาระ ของการได้รู้จักชาญวิทย์ เพิ่มมากขึ้น ผ่านความคิด ความรู้สึก ของผู้คนที่มาพบ มาร่วมยินดี เป็นความได้รู้ มากเท่าที่จะมากได้ และทำให้สัมผัสตัวตนของอาจารย์ได้มากขึ้นอีก ตราบเท่าที่เราจะรู้จากปากผู้คนที่มา

เมื่อผมพบอาจารย์ ครั้งใด ผมมักจะบอกว่า อายุเท่านี้ ขอให้มีสติปัญญาคิดทำอะไรได้สะดวกแบบนี้ และ สุขภาพแข็งแรง เท่าๆอาจารย์ ก็พอแล้ว

วงสนทนาในวันนั้น ผมชอบประโยคหนึ่งของ นิ้วกลม ที่น่าจะตอบได้ว่า หนังสือ คำนำ ที่เป็นดั่ง ชาญวิทย์ นั้น เมื่อเราเปิดไปอ่านในตัวเล่ม จะพบกับอะไร

“คุณจะไม่สามารถข้ามคำนำได้ เพราะคุณจะเจอคำนำทุกหน้าไป และมันไม่ใช่แค่การเป็นคำนำ อย่างที่บอก มันคือ บันทึกความคิดของชาญวิทย์”

และนี่คือ ชาญวิทย์ “เท่าที่รู้จัก” ของผมครับ