วัชระ แวววุฒินันท์ : Wonderland Tsukiji

วัชระ แวววุฒินันท์

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อเรื่องว่า Wonderland Tsukiji

ชื่อ Tsukiji อ่านเป็นไทยว่า “สึคิจิ” เป็นชื่อของตลาดขายปลาที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว

ใครที่ได้เคยไปเที่ยวโตเกียวมาแล้ว อาจจะได้เคยมีประสบการณ์ในการเที่ยวชมวิถีชีวิตของการค้าขายปลาที่ตลาดแห่งนี้มาแล้วก็ได้

ที่น่าสนใจคือ ตลาดนี้มีอายุมากว่า 80 ปี เคียงคู่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และได้ปิดตัวเองลงตามกระแสของโลกปัจจุบัน

ที่ชมแล้วประทับใจคือ ความคิดแบบญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ตลอดทั้งเรื่อง

ตลาดปลาสึคิจิก่อตั้งขึ้นในปี 1923 ในยุคที่โตเกียวยังใช้ชื่อเมืองเอโดะอยู่เลย โชกุนผู้มีอำนาจตอนนั้นให้มีการจัดตั้งตลาดแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดส่งเสบียงเข้าสู่ในวัง โดยได้ชวนให้ชาวประมงจากโอซากามารวมตัวกันเพื่อจัดหาปลาเข้าสู่ตลาดแห่งนี้

ต่อมาได้มีการวางระบบการค้าขายปลาอย่างดี เพื่อให้เกิดราคาที่ยุติธรรม และให้ปลามีอนามัยดีเหมาะสมแก่การบริโภค ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของตลาดปลาแห่งนี้ จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดปลาที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก

ความนิยมของตลาดแห่งนี้วัดได้จากการที่มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเกี่ยวข้องในแต่ละวันถึง 42,000 คน เพื่อกระจายสินค้าคือปลาสู่หลายล้านครอบครัว ทำเงินหลายร้อยล้านเยนในหนึ่งวัน

แต่เรื่องเงินไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตลาดนี้มีความพิเศษ แต่เป็นปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในทุกอณูของตลาดแห่งนี้มากกว่า

เป็นปรัชญาแบบ “คนญี่ปุ่น” ที่มีเอกลักษณ์ นั่นคือ เคารพธรรมชาติ และ ทำเพื่อคนอื่น

ตลาดสึคิจิ บริหารจัดการโดยพ่อค้าคนกลางซึ่งรับปลามาจากชาวประมงอีกทีหนึ่ง เพื่อที่จะขายส่งให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นร้านอาหาร และคนทั่วไป

เมื่อพูดถึง “พ่อค้าคนกลาง” ความรู้สึกของเราจะติดลบ ด้วยคิดว่าต้องมาเอาเปรียบ หน้าเลือด เห็นแก่ได้ตามบรรยากาศของธุรกิจในเมืองไทย

แต่ที่นี่แตกต่างออกไป พ่อค้าคนกลางคือ “กูรู” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาที่สุดนั่นเอง พวกเขาจะรู้ว่าในช่วงฤดูกาลนี้จะมีปลาประเภทใด และลักษณะที่ดีของปลาชนิดนั้นคืออย่างไร รวมทั้งให้คำแนะนำด้วยว่าน่าจะนำไปปรุงอย่างไรให้อร่อย

เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เก็บสะสมและส่งต่อมาเป็นรุ่นๆ เป็นความภาคภูมิใจของพวกเขาที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของตลาดแห่งนี้

เพราะญี่ปุ่นมี 4 ฤดูที่แตกต่างกัน ปลาแต่ละฤดูก็มีความหลากหลายกันออกไป จึงเป็นเรื่องน่าสนุกและเป็นศิลปะอย่างยิ่งสำหรับการนำมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งในสารคดีเรื่องนี้ก็ได้ยกตัวอย่างให้เราได้เห็นด้วยว่าในฤดูนั้น มีปลาอะไรเป็นพระเอกและเชฟได้นำมาปรุงอย่างไรให้รับประทาน เรียกว่าดูไปหิวไป จนแทบจะกระโดดเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นทันทีเมื่อออกจากโรง

“ปลา” ในสายตาของพ่อค้าคนกลางเหล่านี้ไม่ใช่สินค้า แต่เป็นธรรมชาติที่เราต้องเคารพและเรียนรู้

และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ “ผู้บริโภค” เป็นคนที่พวกเขาต้องดูแล โดยการจัดหาปลาที่ดีที่สุดให้ตกถึงลิ้น

tsukiji_wonderland_still

ในตอนหนึ่งของสารคดี เจ้าของร้านได้บอกกับลูกจ้างในร้านได้น่าประทับใจว่า “จำไว้ว่า เราพูดหรือทำอะไรจะมีผลต่อปลา หากเราทำไม่ดีปลาก็จะไม่มีคุณภาพ ขอให้ทุกคนตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพื่อให้คนทานปลาของเราได้ทานสิ่งที่ดีที่สุด”

นี่คือการทำงานที่เต็มไปด้วย Passion

และหากได้ของไม่ดีพอ พวกเขาก็ปฏิเสธที่จะขายให้กับลูกค้า และบอกตรงๆ เลยว่าของไม่ดี ให้รอก่อน อย่าเพิ่งเอาไป

จึงเกิดเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจกันเหมือนญาติสนิท มากกว่าจะเป็นแค่คนขายคนซื้อทั่วไป เราจึงได้เห็นบรรยากาศของความอบอุ่นที่อบอวลอยู่ในตลาดแห่งนี้

พ่อค้าคนหนึ่งแนะนำปลาชนิดหนึ่งให้กับผู้เป็นแม่ที่มีลูกอ่อนว่า ให้เอาปลาชนิดนี้ไปทำโดยบดให้เป็นเนื้อละเอียดแล้วต้มให้ลูกคุณกิน เพราะการทานปลาครั้งแรกของเด็กควรจะได้ทานปลาที่ดีที่สุดสำหรับวัยของเขา และเขาจะได้ชื่นชอบการทานปลาต่อไป

ซาบซึ้งไหมล่ะครับ

เป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นชอบรับประทานปลามากแค่ไหน และได้พิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าปลาเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ทางโภชนาการมากกว่าเนื้อสัตว์อื่นใด และคนญี่ปุ่นก็ภาคภูมิใจกับปลาในท้องทะเลของตนอย่างมากว่าเป็นปลาที่ดีที่สุดในโลก

พ่อค้าในตลาดรู้สึกเป็นห่วงว่าเด็กๆ ญี่ปุ่นจะไม่ได้ทานปลาเท่าที่ควร ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของพวกเขา จึงได้ติดต่อกับทางโรงเรียนเพื่อให้สามารถซื้อปลาได้ในราคาพิเศษ ไม่มุ่งกำไรเพื่อนำปลาไปปรุงเป็นอาหารให้แก่เด็กๆ

เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงคุณประโยชน์ของปลามากขึ้น และเกิดความคุ้นเคยต่อปลารสชาติต่างๆ รวมทั้งได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมตลาดและปรุงอาหารจากปลากับมือเองด้วย

แต่กระนั้นการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกปัจจุบัน ที่มีแต่ความเร่งรีบ การทำอาหารเพื่อรับประทานเองของคนญี่ปุ่นลดน้อยลง โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่หันไปนิยมอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ไม่ก็นิยมทานนอกบ้าน

จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจของตลาดปลาแห่งนี้อย่างมาก ที่เคยคึกคักและเม็ดเงินแพร่สะพัดก็เริ่มหดหายลง แต่ก่อนมีพ่อค้าคนกลางในตลาดแห่งนี้ร่วม 4 พันราย แต่ขณะนี้เหลือเพียง 600 กว่าราย

อย่างไรก็ตาม ตลาดสึคิจิก็ยังคงทำหน้าที่บริการปลาชั้นยอดคุณภาพเยี่ยมในแต่ละฤดูกาลให้แก่ครอบครัวญี่ปุ่นอย่างแน่วแน่เช่นเดิม

จนเมื่อทุกอย่างต้องเดินตามวัฏจักร ในที่สุดตลาดสึคิจิก็ถูกปิดลง เพื่อจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่บวกเอาวิถีธุรกิจของโลกปัจจุบันเข้าไปด้วย

ไม่ว่าอย่างไร ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะทำให้เรารับรู้ได้ถึงการเคารพผู้อื่นโดยเฉพาะธรรมชาติ ที่มนุษยชาติส่วนใหญ่ของโลกละเลย และการทำงานด้วยความรัก ความภูมิใจในสิ่งที่ทำอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้อื่น ที่ไม่ใช่ “ตัวเรา”

ช่างตรงกันข้ามกับคำว่า “นักการเมือง” เสียนักแล้ว ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ “ตลาดจะวาย” ไปจากแผ่นดินเสียที