คนมองหนัง : อำลา “ลิโด้”

คนมองหนัง

โรงภาพยนตร์ “ลิโด้ มัลติเพล็กซ์” ที่สยามสแควร์ ปิดฉากอำลาผู้ชมไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 พร้อมหลายประเด็นแถมท้ายอันน่าสนใจ

ข้อแรก นี่คือการปิดฉากอำลาอย่างคึกคักอุ่นหนาฝาคั่ง มิใช่เงียบเหงาเศร้าสร้อย

ในช่วงท้ายของการเปิดให้บริการ มีผู้คนจำนวนมากเดินทางไปเยี่ยมชมลิโด้จน (เกือบจะ) แออัด

มีทั้งที่ไปดูหนังและไม่ได้ดูหนัง ทว่าเพียงแค่แวะเยือน แล้วถ่ายรูปรำลึกความหลังที่กำลังล่วงเลยไปเฉยๆ

หลายคนคือลูกค้าประจำของลิโด้ บางคนไม่เคยมาดูหนังที่นี่ หรือเคยใช้บริการเมื่อนานมาแล้ว (เห็นได้จากการถามหาห้องขายตั๋ว รวมถึงห้องน้ำ)

“สยามสแควร์” ถือเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของ “วัยรุ่น” หลายเจเนอเรชั่น ซึ่งเปิดรับวัฒนธรรม/รสนิยม/เรื่องเล่าหลากแนวทาง ทอดผ่าน “กาละ” และ “เทศะ” ที่ผันแปรเปลี่ยนไป

จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และลาจากของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในพื้นที่แห่งนี้ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งมี “ความทรงจำส่วนบุคคล” ทอทาบคาบเกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าลิโด้คือหนึ่งในสถานที่ชนิดนั้น

คล้ายคลึงกับกรณีวิวาทะเรื่องการบริหารจัดการ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” เมื่อไม่นานมานี้

คำถามที่โรงภาพยนตร์ทางเลือกในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญหน้า ก็คือ เพราะเหตุใดเราจึงควรมีโรงหนังอย่าง “ลิโด้” (หรืออาจรวมถึง “เฮ้าส์”)

การมีอยู่ของโรงภาพยนตร์ประเภทดังกล่าว คงมิใช่เพื่อขับเน้นผลกำไรสูงสุดหรือรีดเค้นประสิทธิภาพสูงสุดของอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งถูกกำหนดชี้นำโดยฮอลลีวู้ด หรือค่ายหนังเมนสตรีมภายในประเทศ

และมิใช่เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่แคบเรียวความแตกต่าง

อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับร่วมกัน คือ โรงภาพยนตร์ทำนองลิโด้นั้น ไม่ใช่สถานที่สำหรับทุกคน หรือมวลชนจำนวนมหาศาล

โรงภาพยนตร์ทางเลือกไม่จำเป็นจะต้องตอบสนองความต้องการวงกว้างระดับนั้น เพราะในละแวกใกล้เคียงกัน ยังมีโรงภาพยนตร์ตามห้างสรรพสินค้าอีกหลายแห่ง ที่พร้อมเทรอบฉายให้แก่หนังบล็อกบัสเตอร์ (หรือหนังไทยกระแสหลัก)

คุณูปการของโรงหนังลิโด้ คือการทำตัวเป็นทางเลือกเพื่อเปิดรับวัฒนธรรมการดูหนังอีก (หลาย) แบบ

การเลือกดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้รายรับในภาพรวมไม่ได้สูงส่งมากมาย แม้อาจจะมีหนังอินดี้ฮิตติดกระแสเกิดขึ้นชั่วครั้งคราว

ทว่านี่เป็นช่องทางสำคัญเพียงไม่กี่ช่อง ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมชาวไทยได้พบปะรู้จักโลกภายนอกและเรื่องราวของผู้คนที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผ่านสื่อภาพยนตร์

รวมทั้งยังช่วยหล่อหลอมคนทำหนังไทย (ที่ย่อมต้องเป็นคนดูหนังในอีกสถานภาพหนึ่ง) ให้ได้สัมผัสเทคนิค วิธี และรูปแบบการเล่าเรื่อง ผ่านงานภาพเคลื่อนไหว อันแตกแขนงแผ่กว้างไปเกินคาดคิด

ลิโด้อาจเคยเป็นสถานที่ที่ช่วย “เปลี่ยนแปลง” และ “เสริมสร้าง” ความคิดหรือโลกทัศน์ของหนุ่มสาวต่างจังหวัด/ชาวเมืองผู้ไม่ได้มั่งมี ซึ่งหลงรักชื่นชอบภาพยนตร์

แต่หากพิจารณาจากอีกมุมมอง ก็ยากปฏิเสธว่าการปรับเปลี่ยนทิศทางมาเป็นโรงหนังทางเลือกชนิดเข้มข้นในช่วงราวๆ สองทศวรรษหลัง ได้ส่งผลให้ลิโด้ถูกทึกทักเข้าใจว่า นี่คือสถานที่พิเศษของกลุ่มผู้มีรสนิยมเฉพาะทาง (ซึ่งมีกำลังทรัพย์-เวลาว่างมากเพียงพอ)

ลักษณะของกลุ่มคนผู้มี/ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ จึงอาจสลับซับซ้อนเกินกว่าจะเหมารวมได้ง่ายๆ

บางคนที่เชื่อถือระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และอาจยอมรับตัวเลขความสำเร็จตาม “กลไกตลาด”, เชื่อมั่นรสนิยมหรือวิธีเสพสื่อของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในโลกออนไลน์ อาจไม่จำเป็นต้องรู้สึกรู้สาอะไรกับการหายไปของ “ทางเลือกเล็กๆ เก่าๆ” เช่น ลิโด้

หรือมวลชนเจ้าของคะแนนเสียงจำนวนมหาศาล ซึ่งมักถูกละเมิดอำนาจด้วยวิถีทางอันไม่เป็นประชาธิปไตย ณ ช่วงหลายปีหลัง ก็อาจนิยมเสพความบันเทิงในรูปแบบอื่นๆ และรู้สึกว่าพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องหวงแหนลิโดหรือโรงหนังประเภทเดียวกันแห่งอื่นๆ ในเมืองหลวง

ท่าทีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด

เช่นเดียวกับที่คนเสื้อเหลือง-เป่านกหวีด-กปปส. อีกหลายราย อาจเคยมีความหลังซึ้งใจ และเคยเข้ามาดูหนังที่ลิโด้เป็นประจำ จนรู้สึกโหยไห้กับการอำลาในครานี้

ลิโด้ คือโรงภาพยนตร์ ที่อาจเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางธุรกิจ/การตลาด แต่มิใช่พื้นที่สำหรับการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมือง (ระดับชาติ) โดยสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นพื้นที่ซึ่งพร้อมเปิดรับผู้คนจากทุกกลุ่ม/แนวคิด/อุดมการณ์ทางการเมือง ที่ต้องการซึมซับความหลากหลายของสื่อภาพยนตร์

และพร้อมยอมรับความเพิกเฉยจากผู้คนทุกกลุ่ม/แนวคิด/อุดมการณ์ฯ ซึ่งมิได้มีภาพยนตร์เป็นตัวเลือกแรกสุด ในการประกอบกิจกรรมสันทนาการและการแสวงหาความบันเทิง

หลังลิโด้ปิดกิจการ เครือเอเพ็กซ์ยังจะเหลือโรงภาพยนตร์ “สกาลา” อีกหนึ่งแห่ง ซึ่งคงรับภาระตกทอดได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก (เพราะเท่ากับเป็นการควบรวมโรงหนัง 4 โรง -1 โรงใหญ่ 3 โรงย่อม- ให้เหลือเพียงโรงใหญ่แห่งเดียว)

ถัดจากนี้ สถานที่ซึ่งพอจะจัดฉายภาพยนตร์ทางเลือกในบริเวณสี่แยกปทุมวัน (หรือใกล้เคียง) ก็จะได้แก่ หอศิลป์ กทม. (แต่ระบบการจัดฉายอาจไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ) และแว่วว่าอีกไม่นานนัก จะมีโรงหนังทางเลือกอีกแห่งเขยิบเข้ามาให้บริการ ณ พื้นที่ใจกลางเมือง ตรงโครงการ “สามย่าน มิตรทาวน์”

นอกจากนั้น ยังเหลือหอภาพยนตร์ ศาลายา ซึ่งมีศักยภาพสูงและกำลังจะเปิดใช้งานอาคารแห่งใหม่ ทว่าหลายคนก็มองว่าสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างไกลนอกตัวเมือง จนเดินทางลำบาก (หากพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ)

อีกหนึ่งคำถามที่ถูกตั้งขึ้นหลังการอำลาของลิโด้ก็คือ ถ้าเราเชื่อว่าโรงภาพยนตร์ทางเลือกยังเป็นของจำเป็น และควรมีโรงหนังอีกแห่งมาสืบทอดภารกิจนี้อย่างจริงจัง

ใครควรเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง-บริหาร-จัดการสถานที่ดังกล่าว?

อาจจำกัดกรอบให้แคบลงได้ว่า “ใคร” ในคำถามข้างต้น ควรเป็นภาครัฐ เอกชน หรือหน่วยงานกึ่งรัฐกึ่งบริหารจัดการตนเอง อาทิ มหาวิทยาลัย?

มองเผินๆ งานบ่มเพาะพื้นฐานทางวัฒนธรรมควรเป็นหน้าที่ของรัฐ

ดุจเดียวกันกับแคมเปญเรียกร้องด้านวัฒนธรรม-อัตลักษณ์อื่นๆ อีกมากมาย การเรียกร้องลักษณะนี้มักตามมาด้วยความย้อนแย้งในตัวเอง

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง ก็ต้องการความหลากหลายที่หลุดพ้นออกจากข้อจำกัดของอำนาจรัฐ แต่อีกด้าน ก็วอนขอความช่วยเหลือหรืองบประมาณสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ

ไม่นับรวมว่าหน้าที่ของรัฐนั้นมักทำงานเป็นแพ็กเกจคู่เสมอ คือ ทั้งให้บริการประชาชนพลเมืองและควบคุมผู้คนผ่านกฎระเบียบต่างๆ

“โรงภาพยนตร์ทางเลือก” เวอร์ชั่นบริหารจัดการโดยรัฐ จึงอาจถือกำเนิดขึ้นพร้อมเพดานความเป็นอิสระที่ลดต่ำลงกว่าเดิม (หรือเปล่า?)

ถ้าโยนภาระเดียวกันไปให้ภาคเอกชน คำถามแรกที่เกิดขึ้นก็คือ เอกชนดังกล่าวจะแบกรับรายจ่ายได้แค่ไหนและนานเท่าไหร่? โดยเฉพาะหากต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขอันบีบรัดมากพอสมควร เช่น เรื่องค่าเช่าพื้นที่ ดังกรณีของลิโด้

ไม่ต้องพิจารณาไปถึงว่าการทำโรงหนังทางเลือก นั้นไม่ใช่ธุรกิจที่จะก่อให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำอยู่แล้ว

(ยกเว้นธุรกิจยักษ์ใหญ่บางเจ้าจะอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยการจัดสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา)

ส่วนมหาวิทยาลัย (ในฐานะเจ้าของพื้นที่) เอง ก็มีส่วนทำให้ “สถานที่ทางเลือก” อย่างลิโด้ต้องยุติกิจการลง

อย่างไรก็ดี การนำพื้นที่อื่นๆ ในแถบสยามสแควร์ไปบริหารจัดการเชิงพาณิชย์เต็มตัว แต่กลับดึงดูดผู้บริโภคได้ไม่มากนัก อาจเป็นแรงผลักดันให้มหาวิทยาลัยต้องคิดทบทวนอะไรด้วยกรอบใหม่ๆ บ้าง

แทนที่จะสร้างห้างสรรพสินค้าแข่งกับห้างสรรพสินค้าแห่งอื่นๆ ที่ตั้งเรียงรายจากแยกปทุมวัน แยกราชประสงค์ เรื่อยไปถึงเส้นสุขุมวิท (และมีแนวโน้มว่าจะสู้ไม่ได้)

ทำไมมหาวิทยาลัยซึ่งถือครองที่ดินอยู่ไม่น้อย จึงไม่พยายามทดลองสร้างความแตกต่างหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เชิงภูมิปัญญา (หรือจะมองในเชิงพาณิชย์ก็ได้) ให้แก่พื้นที่ดังกล่าว

บางที โรงภาพยนตร์แบบลิโด้ (ใหม่) อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการทดลองสร้างความหลากหลายที่ว่า