หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ /’รอและการเดินทาง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเป็ดแดง - เช้าตรู่ เป็นช่วงเวลาที่ฝูงนกเป็ดแดงทยอยเดินทางกลับมาจากแหล่งที่ออกไปหากินเพื่อพักผ่อนในบึงน้ำ

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘รอและการเดินทาง’

 

นานหลายปีก่อนหน้า

ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หนองบงคาย อำเภอเชียงแสน

ผมเฝ้าดูฝูงนกที่เดินทางเพราะความขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาวจากถิ่นกำเนิด มาพักพิงอยู่บริเวณบึงน้ำซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์

นกเป็ดแดง เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในหมู่นกจำนวนมาก

ทุกเช้าตรู่ พวกมันบินกลับมาจากแหล่งที่ไปหากิน และรวมกลุ่มกันพักผ่อน จนกระทั่งเย็นจึงทยอยบินขึ้นไปหากินอีก

เป็นเช่นนี้ทุกวัน

ตลอดเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ บึงน้ำคึกคัก หลังจากนั้นจำนวนนกชนิดต่างๆ เบาบางลง เหลือนกประจำถิ่นไม่กี่ชนิด

ทุกฤดูหนาว ผมไปเฝ้าดู ดูด้วยความสงสัยเสมอว่า นั่นใช่นกเป็ดแดงกลุ่มเก่า หรือนกเป็ดแดงตัวเดิมที่เห็นในปีก่อนหรือไม่

หากเป็นวันนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยหรอก การศึกษาอย่างเอาจริง รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ใช้ ทำให้การศึกษาเรื่องการเดินทางของนกมีความกระจ่างขึ้นมาก

อะไรทำให้พวกมันกลับมาที่เดิม

และอะไรทำให้พวกมันมาไกลได้ถึงเพียงนี้ โดยใช้แค่ปีกบางๆ

 

ในแต่ละปีมีนกนับล้านตัวบินย้ายถิ่น สภาพอากาศหนาวเย็นนั้น นกอยู่ได้ แต่การขาดแคลนอาหารคือเรื่องจำเป็นที่ต้องโยกย้าย

เหล่านกชายเลน หรือนกท่องน้ำ เป็นตัวอย่างชัดเจน พวกมันเริ่มต้นเดินทางจากแหล่งอาศัยบริเวณพื้นที่ราบกว้างใหญ่ตอนเหนือสุดของทวีปเอเชีย ลงมาทางใต้

บางส่วนของนกเหล่านี้แวะพัก หากินอยู่ในทวีปเอเชีย มีไม่น้อยบินไปถึงทวีปออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

พวกมันทั้งหมดหากยังมีชีวิตรอด จะบินกลับไปทางตอนเหนืออีกครั้ง เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนอันมีระยะเวลาสั้นๆ

ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม

นกชายเลนหลายชนิดเดินทางในระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตรทุกปี

บางครั้งพวกมันบินในระยะทางถึง 6,000 กิโลเมตรโดยไม่หยุดพัก

แน่นอนว่าเดินทางยาวไกลเช่นนี้

พวกมันต้องใช้ปีกบางๆ ร่วมกับหัวใจอันเข้มแข็ง

 

ในวันนั้น ผมไม่รู้แน่ชัดนักหรอกว่า นกเดินทางไปจุดหมายเดิมได้อย่างไร

แม้มีการศึกษาบ่งชี้ว่า พวกมันอาจเริ่มด้วยแรงขับตามสัญชาตญาณ ใช้เส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงดาว รวมทั้งเข็มทิศแม่เหล็กภายในร่างกายเป็นเครื่องนำร่อง

มีนักวิจัยค้นพบว่า นกไม่ได้บินตรงในแนวเหนือ-ใต้เหมือนเข็มทิศ แต่พวกมันใช้การกำหนดตำแหน่งโดยใช้ดวงดาว ถึงแม้ว่าดาวจะโคจรไปตามฤดูกาล แต่ในซีกโลกเหนือ มีดาวดวงหนึ่งอยู่กับที่

นั่นคือ ดาวเหนือ

ส่วนนกที่เดินทางกลางวัน ก็ใช้ดวงอาทิตย์เป็นเครื่องนำทาง

ว่าตามจริง ถึงจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าพวกมันเดินทางอย่างไร

ด้วยการสังเกตธรรมชาติเช่นนี้ การเดินทางของมนุษย์ในครั้งก่อน ก็ใช้วิธีเหล่านี้เช่นกัน

 

กลางวัน ฝูงนกพักผ่อน

ผมเฝ้าดูและคิดถึงการเดินทางของพวกมัน คิดถึงวิธีการที่พวกมันใช้

ผมพบว่า ไม่ได้กำลังเฝ้าดูนก แต่กำลังเฝ้าดูสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรมาอย่างเหมาะสม

เดินทางโดยอาศัยสัญชาตญาณ รวมทั้งทักษะและความชำนาญซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของเหล่าสัตว์ป่า

ผมรับรู้ว่า หากจะมองหนทางข้างหน้าให้ชัดเจน สิ่งที่ควรทำคือ มองไปข้างหลังไกลๆ

เฝ้าดูฝูงนกเป็ดแดงในบึงน้ำ และ “เดินทาง” ตามหลังพวกมันไป

 

เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานของผมอยู่กับ “การรอ”

รออยู่ในซุ้มบังไพรแคบๆ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ออกจากซุ้มบังไพรตอนที่ฟ้ามืดแล้ว

ในฤดูฝน หากได้กลับมาพักที่หน่วยพิทักษ์ป่า แทนการกลับแคมป์ที่มีเพียงเปลและผ้ายางกันฝน และฟืนอันเปียกชื้น นั่นคือความสบายอย่างหนึ่ง

กลับถึงหน่วยพิทักษ์ป่า ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่เฝ้าหน่วยคนเดียว ในขณะเพื่อนๆ ออกเดินลาดตระเวน ยามค่ำคืนจะพบกับความเงียบเชียบ มีเสียงเก้งและนกเค้าแมวร้องเป็นจังหวะ นั่นคล้ายจะทำให้บรรยากาศเงียบสงัดยิ่งขึ้น

“ชุดลาดตระเวนไม่รู้จะกลับเมื่อไหร่ พี่นัยวิทยุมาบอกว่าเจอร่องรอยคน จะตามไป คงอีกหลายวัน” โก๊ะลุกขึ้นเดินโขยกเขยกจากเก้าอี้ที่นั่งตอบวิทยุ

“หลังไม่ไหวแล้วครับ” เขาพูดเบาๆ

เป็นปกติที่เขาต้องใช้ร่างกายอย่างสมบุกสมบัน และมันส่งผลเมื่อพวกเขาเริ่มต้นวัย 50

“วันนี้ผมได้ยินจากวิทยุว่า ผู้ช่วยระดมคนไปเฝ้าไร่ข้าวโพด ชาวบ้านมาแจ้งว่า ช้างออกไปลุยไร่เขา”

พื้นที่ป่าซึ่งเคยเป็นแหล่งอาศัย กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม คือ “สมรภูมิ” ระหว่างคนกับสัตว์ป่า

ตลอดทั้งปี หรือตลอด 24 ชั่วโมง สัตว์ป่าไม่ได้หยุดอยู่ในบริเวณเดียว

พวกมันเคลื่อนย้ายเป็นวงรอบ มีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด

และแหล่งอาหารต่างๆ จะอุดมสมบูรณ์ มีความเหมาะสมตามฤดูกาล

พื้นที่เปลี่ยนแปลงเส้นทางเดิน ถูกตัดขาด ความขัดแย้งเริ่มรุนแรง

สัตว์ป่ารับความเปลี่ยนแปลงได้ พวกมันอยู่บนโลกใบนี้มานานนับพันๆ ปี โลกที่ค่อยๆ เปลี่ยนสัตว์ป่า ปรับตัวเปลี่ยนตามได้

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแหล่งอาศัย ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด คือปัญหาใหญ่ที่สัตว์ป่ากำลังเผชิญ

หน่วยพิทักษ์ป่า ยามค่ำคืนเงียบสงัด

นกเค้าแมวยังส่งเสียง

แต่มันก็เงียบราวกับบริเวณรอบๆ ไม่มีชีวิตใดอยู่แล้ว

 

ผมเป่าตะเกียงกระป๋องให้ดับ

แบตเตอรี่ชำรุด เก็บไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ได้ไม่นาน

ปรับสายตา มองรอบๆ ได้รางๆ ท้องฟ้าใสๆ เมื่อครู่เปลี่ยนแปลง กลุ่มเมฆดำเคลื่อนเข้ามา

พรุ่งนี้ก่อนสว่าง ผมต้องเดินไปซุ้มบังไพรเหมือนเมื่อวาน

ตั้งแต่บึงน้ำถึงป่าทึบ

ผมใช้เวลาในการรอมานานพอสมควร

ขณะเดียวกันก็พบตัวเองเดินทางไปโน่นนี่ราวกับจะตามหาบางสิ่งบางอย่าง

ในระหว่าง “รอ” ทำให้รู้ว่า ผมไม่ได้ตามหาอะไร

ผม “เดินทาง” ไป “รอ”

เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง