ต่างประเทศอินโดจีน : “ไชน่าโมเดล” ที่กัมพูชา

เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า สภาวะแวดล้อมของสื่อมวลชนในกัมพูชากำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

จากที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สื่อเสรีทั้งหลายถูกลิดรอนลงตามลำดับ

“แคมโบเดีย เดลี” ปิดไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา วิทยุเอเชียเสรี ที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังทางการเงินอยู่ก็ถูกปิดการกระจายเสียงในกัมพูชา ผู้สื่อข่าวภาษาเขมร 2 รายถูกจับกุมในอีก 2 เดือนให้หลัง

หลงเหลือเพียง “พนมเปญโพสต์” ซึ่งในที่สุดก็ล้มหายตายจากไปจากสารบบ “สื่อเสรี” เมื่อถูกนักลงทุนมาเลเซียเข้าซื้อกิจการไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ากันว่า บริษัทพีอาร์ที่นักลงทุนรายนี้เป็นเจ้าของนั้น ครั้งหนึ่งเคยทำงานให้และรับเงินจากรัฐบาลกัมพูชา

 

ราวกับว่า เพียงเท่านั้นยังย่ำแย่ไม่พอ หลังสุดองค์กรสื่อระดับโลกอย่างผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการจัดการกับสื่อเสรี ก็คือการเกิดขึ้นของ “ไชน่า โมเดล” ในกัมพูชา

ไม่เหมือนเป๊ะเสียทีเดียว แต่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับวิธีการที่ทางการจีนใช้อยู่ในการควบคุมสื่อในประเทศทั้งหมดให้อยุ่ในกำมือเลยทีเดียว

อาร์เอสเอฟตั้งข้อสังเกตว่า สื่อที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกัมพูชา ถ้าหากไม่ใช่เอนเอียงไปทางรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชนิดที่ว่ายังไงว่าตามกัน ก็มีเจ้าของเป็นสมัครพรรคพวกหรือไม่ก็เป็นเครือญาติของท่านนายกฯ

เซดริก อัลเวียนี หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกของอาร์เอสเอฟ ใช้คำอุปมาอุปไมยว่า ภูมิทัศน์สื่อในกัมพูชายิ่งนับวันยิ่งสะท้อนสิ่งเดียวกันในจีนมากขึ้นทุกที คือต้องเป็นสื่อที่สะท้อนเป้าหมายและการพัฒนาของรัฐบาล…เท่านั้น

“มันกำลังจะกลายเป็นการสื่อสารมวลชนในบุคลิกแบบจีน” อัลเวียนีบอกไว้อย่างนั้น

 

นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาเคยหยิบยกกรณี “การบริหารจัดการสื่อ” ของจีนมาเปรยๆ เป็นเชิงยกย่องไว้ชนิดเปิดเผยด้วยซ้ำไป

เอเอฟพีตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า อิทธิพลของจีนในแวดวงสื่อกัมพูชาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็น “แบบอย่าง” ให้ดำเนินตามเท่านั้น แต่ยังมีรูปธรรมของการแทรกแซงและสร้างอิทธิพลแบบแนบเนียนด้วยอีกต่างหาก

“ไนซ์ทีวี” คือตัวอย่างรูปธรรมในกรณีนี้

“ไนซ์ทีวี” เกิดเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการ “ร่วมทุน” กันระหว่างไนซ์ คัลเจอร์ อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป ของจีนกับรัฐบาลกัมพูชา นำเสนอข่าวในแนว “ความมั่นคงของชาติ” กับ “กิจกรรมบันเทิง” ในภาษาเขมรเป็นหลัก

เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา บอกเอาไว้ชัดเจนว่า “ไนซ์ทีวี” จะช่วย “ให้การศึกษา” ต่อชาวกัมพูชาในเรื่องว่าด้วย “กฎหมายพื้นฐาน” เป็นสำคัญ

นอกจากนั้น รัฐบาลยังจ่ายเงินสนับสนุน “ผู้สื่อข่าว” ให้เดินทางไปเยือนจีน ภายใต้โครงการ “แลกเปลี่ยน” ของทางการจีน “เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศและประชาชนของทั้งสองประเทศ”

แต่ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า ทริปที่ว่านั้นเป็น “การเยือนที่อยู่ภายใต้การควบคุม” เสียมากกว่าเป้าหมายเพื่อสร้างความประทับใจเป็นหลัก

โรงแรมที่พักก็ไม่เคยต่ำกว่าระดับ 4 ดาว คนที่ให้สัมภาษณ์ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอสัมภาษณ์นอกรายการที่จัดมาก็ไม่เคยได้

ลิม เจีย วุททา เจ้าของและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว “เฟรชนิวส์” ที่เอียงข้างรัฐบาล วัย 38 ปี ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ผู้สื่อข่าวของตนหลายคนเดินทางไปจีนภายใต้เงิน “สปอนเซอร์” ของปักกิ่งมาแล้ว

ตนเองก็เตรียมเดินทางไปเหมือนกันในเร็วๆ นี้

“ในฐานะเป็นคนกัมพูชา ผมประกาศได้ว่า ผมสนับสนุนจีน สนับสนุนการลงทุนของจีนในกัมพูชา”

อ้าแขนรับกันตรงไปตรงมาซะงั้น!