การศึกษา / จาก ‘เอ็นทรานซ์’ ถึง ‘ทีแคส’ บทเรียน 60 ปี ไม่การันตี ยิ่งปรับ ยิ่งแย่

การศึกษา

 

จาก ‘เอ็นทรานซ์’  ถึง ‘ทีแคส’

บทเรียน 60 ปี ไม่การันตี ยิ่งปรับ ยิ่งแย่

 

เจอมรสุมเข้าไม่หยุดกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 หรือระบบทีแคส ซึ่งประเดิมใช้ครั้งแรกในปีนี้ โดยเฉพาะทีแคส รอบ 3 ที่ปัญหามากที่สุด

ไล่ตั้งแต่ระบบล่ม จนต้องขยับปฏิทินรับสมัครถึง 2 รอบ มาถึงช่วงประกาศผล เกิดปัญหาเด็กร้อง ถูกกั๊กสิทธิ เด็กที่สอบ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) มีโอกาสเลือกได้ถึง 7 ลำดับ ขณะที่เด็กทั่วไปเลือกได้ 4 ลำดับ เหตุเพราะที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นับกลุ่ม กสพท เป็น 1 ลำดับ ทำให้เด็กที่เลือกสอบแพทย์สามารถเลือกคณะแพทยศาสตร์ในกลุ่มตัวเองได้ 4 ลำดับแล้วยังมีโอกาสเลือกคณะอื่นๆ เพิ่มได้อีก 3 ลำดับ

จนเกิดความลักลั่น แถมกลุ่มนี้ยังสอบติดเกือบทุกคณะที่เลือก โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยดังๆ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เด็กที่ตั้งใจสอบเข้าคณะอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ในมหาวิทยาลัยดัง ถูกเลื่อนลำดับ หรือบางคนขนาดเช็กคะแนนแล้วว่าถึงแน่นอน ยังไม่มีชื่อติด

ดราม่า “ทีแคส” จึงขึ้นอีกรอบ!!

 

แม้จะเข้าใจได้ แต่พ่อแม่และเด็กอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองตกเป็น “หนูทดลอง” กับระบบทีแคส เพราะเป็นการใช้ครั้งแรก จึงยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดี และจะแก้ปัญหาได้ตามที่เด็กและผู้ปกครอง รวมทั้งรัฐบาล ตลอดจนมหาวิทยาลัยต้องการหรือไม่

ทุกครั้งที่เกิดปัญหา หน่วยงานที่รับผิดชอบรับปากจะนำบทเรียนที่เกิดจากความบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ แต่ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหายังวนอยู่กับเรื่องเดิม เหมือนแก้ปัญหาหนึ่ง แต่นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง!!

ย้อนกลับไปตั้งแต่ระบบเอ็นทรานซ์ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2504 จากการรวมตัวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดทำระบบกลางขึ้น ปีต่อมา จุฬาฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าร่วมในระบบกลางนี้ด้วย จนในปี 2516 ได้เกิดทบวงมหาวิทยาลัย และมีการจัดระบบกลางคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ผู้สมัครสามารถเลือกอันดับได้ทั้งหมด 6 อันดับ และสอบเพียงครั้งเดียว ผู้สมัครสอบไม่ต้องใช้เกรดและสามารถสอบเทียบได้ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นการตัดสินชีวิตเด็กด้วยคะแนนสอบเพียงครั้งเดียว เพราะเป็นการคัดเลือกจากคะแนนสอบ ไม่นำคะแนนในห้องเรียนมา ทำให้เด็กสนใจแต่วิชาที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ละทิ้งห้องเรียน และมุ่งกวดวิชา…

การสอบเพียงครั้งเดียวทำให้เกิดความเครียด แม้บางคนจะเรียนดีมาตลอด แต่ทำผิดพลาดในห้องสอบ หรือหากใครป่วยในวันสอบก็หมดสิทธิ เมื่อผลออกมาว่าสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด เด็กถึงขั้นคิดว่าตัวเองหมดอนาคต

ในช่วงนั้นจึงเห็นภาพเด็กที่พลาดหวังจากการสอบเอ็นทรานซ์ “ฆ่าตัวตาย” เป็นประจำทุกปี!

 

ปัญหาดังกล่าวทำให้ ทปอ.มีมติปรับปรุงระบบเอ็นทรานซ์ในปี 2542 เรียก “เอ็นทรานซ์ระบบใหม่” เพื่อแก้ปัญหาการสอบเทียบ และลดความกดดันในการสอบ

โดยเปิดให้สอบเอ็นทรานซ์ 2 ครั้งคือเดือนตุลาคมและเดือนมีนาคม ให้เด็กได้รู้คะแนนสอบก่อน เพื่อเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดมายื่นสมัคร เลือกได้ 4 อันดับ

อีกทั้งยังเพิ่มสัดส่วนคะแนนโดยใช้เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GPAX มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก เพื่อไม่ให้เด็กทิ้งห้องเรียน

แต่ก็เกิดปัญหาเพราะการสอบเดือนตุลาคม นักเรียนยังไม่จบชั้น ม.6 ทำให้ครูเร่งรัดในการสอนเพื่อให้ทันสอบ และการสอบหลายครั้ง ส่งผลให้ปัญหากวดวิชาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

มาถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาใน “ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา” หรือแอดมิสชั่นส์ในปี 2549 เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการกวดวิชา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเมืองและเด็กชนบทที่ไม่มีโอกาสเรียนกวดวิชา ใช้ผล GPAX และใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือ GPA คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการทดสอบทางการศึกษาขั้นสูง (เอเน็ต) มาเป็นองค์ประกอบ

แต่ก็เกิดปัญหาเพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการ เนื่องจากมาตรฐานโรงเรียนไม่เท่ากัน ทำให้มหาวิทยาลัยจึงแห่เปิดรับตรงเอง

หลังจากนั้น ทปอ. ได้ยกเลิกการสอบเอเน็ต ปรับมาเป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ในปี 2553 โดยให้มีวิชาที่แต่ละคณะต้องการใช้ในการคัดเลือกคนเข้าเรียน เพื่อแก้ปัญหารับตรง โดยเปิดให้สอบ GAT/PAT ทั้งหมด 4 ครั้ง ก่อนจะลดลงเหลือ 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง สามารถรู้คะแนนก่อนเลือกคณะ และเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย

แต่ก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ใครมีฐานะดีกว่าสามารถสอบได้หลายครั้ง มีโอกาสได้คะแนนสูงมากกว่า เด็กมุ่งเรียนกวดวิชามากขึ้น เพื่อให้ทำคะแนนสอบในวิชาที่ต้องใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ดี ขณะที่บางคณะ/มหาวิทยาลัย ไม่ยอมใช้ข้อสอบ GAT/PAT ยืนยันสอบรับตรงเอง อ้างว่าเพื่อให้คัดเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามต้องการ สุดท้ายเกิดปัญหาไม่มีระบบตัดสิทธิรับตรง เกิดการกั๊กที่นั่งเรียน เด็กเก่งสอบติดทั้งรับตรงและแอดมิสชั่นส์

ทปอ.จึงตัดสินใจแก้ปัญหารับตรง โดยจัดระบบ “รับตรงร่วมกัน” ให้สอบวิชาสามัญ 7 วิชา ก่อนเพิ่มเป็น 9 วิชา และสร้างระบบ “เคลียริ่งเฮาส์” เพื่อยืนยันสิทธิ สำหรับเด็กที่สอบติดรับตรง จะตัดสิทธิออกจากการคัดเลือกในระบบแอดมิสชั่นส์ เพื่อไม่ให้กั๊กที่เรียนของเด็กคนอื่นๆ

แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่าที่ควร ส่วนใหญ่ยังมุ่งรับตรงกันเอง

 

ทปอ.จึงต้องพัฒนาระบบเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม เกิดเป็นระบบทีแคสในปี 2561 ซึ่งเป็นการรวมระบบการรับนิสิตฯ นักศึกษาเข้าเรียนด้วยวิธีต่างๆ มาไว้รวมกัน และขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมไม่ให้เปิดรับตรงเอง แบ่งการรับออกเป็น 5 รอบคือ รอบที่ 1 เป็นการรับจากแฟ้มสะสมงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ รอบที่ 2 การรับแบบโควต้า ที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อปฏิบัติ เปิดรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาค โควต้าโรงเรียนในเครือข่าย ที่ไม่ใช่การรับทั้งประเทศ โครงการความสามารถพิเศษ และโควต้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 การรับแอดมิสชั่นส์เดิม และรอบที่ 5 รอบรับตรงอิสระ

หัวใจหลักของระบบนี้คือ การเคลียริ่งเฮาส์ หรือการยืนยันสิทธิ ให้โอกาส 1 คน 1 สิทธิ ตั้งเป้าแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ ลดการวิ่งรอกสอบ กันสิทธิคนอื่น ลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจน ที่สำคัญ เพื่อให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา โดยนักเรียนทุกคนสามารถสมัครได้หลายสาขาวิชา แต่สิทธิเดียวในการเลือกเรียนสาขาวิชาใดสาขาหนึ่ง

แต่ล่าสุดยังพบว่า ทีแคสไม่สามารถแก้ปัญหาได้เช่นเดิม แต่กลับกลายเป็นว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้อาจทำให้เด็กทุกข์ทรมานยาวนานที่สุด เพราะต้องสอบถึง 5 รอบ ขณะที่ผู้ปกครองเกิดความเครียด เพราะกังวลที่ลูกหลานของตนยังไม่มีที่เรียน

จนถึงขณะนี้ ยังไม่แน่ใจว่าการแก้ปัญหาโดยเปิดให้ยืนยันสิทธิทีแคส รอบ 3/2 จะแก้ไขความวุ่นวายที่เกิดขึ้นได้สะเด็ดน้ำจริงหรือไม่

หรือแค่ชะลอปัญหาออกไปอีก ได้แต่หวังว่า “บทเรียน” ความวุ่นวายครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขที่ดีขึ้นในปีต่อไป