เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ประเภทของกรรม

เขียนเรื่องกรรมมาหลายตอนแล้ว คิดว่าคงได้แนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างแล้ว ก่อนจะไปเขียนเรื่องอื่น ขอพูดถึงการแบ่งประเภทของกรรมเสียหน่อย ไม่อย่างนั้นจะไม่ครบ “สูตร”

เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ก็เพราะ “กรรม” (คือการทำด้วยพระองค์เอง บำเพ็ญบารมีด้วยพระองค์เอง) เมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรง “ทำกรรม” จนปรินิพพาน (คือเสด็จออกไปสั่งสอนสัตว์โลกให้ได้รับรสพระธรรมที่ตรัสรู้)

พระพุทธองค์จึงทรงสรุปหลักคำสอนของพระองค์ว่าเป็น “กัมมวาทะ” (สอนเรื่องกรรม) และทรงเรียกพระองค์เองว่า “กัมมวาที” (ผู้สอนเรื่องกรรม) และตรัสว่า ถึงพระองค์จะเป็นศาสดา ก็เป็นเพียง “ผู้ชี้บอกทาง” ให้เท่านั้น เหล่าสาวกทั้งหลาย อยากได้ อยากเป็นอะไร ก็ต้อง “กระทำ” เอาเอง

อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน

โก หิ นาโถ ปะโร สิยา คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

พุทธภาษิตสองบทนี้เป็นคำสรุปหลักกรรมนั้นเอง

กรรม มีหลายประเภท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

ดังนี้

ก.กรรมตามนัยพระไตรปิฎก

อันนี้หมายความว่า ในคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า แบ่งกรรมไว้ 2 ประเภทบ้าง 3 ประเภทบ้าง 4 ประเภทบ้างดังนี้

1. กรรม 2 ประเภท ได้แก่

1) กรรมดี เรียกว่า “กุศลกรรม” (หรือบุญ) เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา (ที่ใช้คำว่า “เช่น” ก็เพราะยังมีอีกมาก ไม่ใช่แค่ 3 อย่างนี้เท่านั้น)

2) กรรมชั่ว เรียกว่า “อกุศลกรรม” (หรือบาป) เช่น ฆ่าสัตว์ (หมายถึงคนด้วยนะครับ เพราะคำว่า “สัตว์” หรือ “สัตว์โลก” มิได้หมายเอาเฉพาะสัตว์เดียรัจฉาน) ลักทรัพย์ หรือทั้งฆ่าทั้งลัก ดังกรณี “อุ้มสองแม่ลูก” ไปฆ่านั่นไง อกุศลกรรม หรือบาปล่ะ

2. กรรม 3 ประเภท ได้แก่

1) กายกรรม อันนี้มิใช่การเล่นกายกรรมเปียงยางอะไรอย่างนั้นนะครับ หมายถึงการกระทำทางกาย เช่น ฆ่า เบียดเบียน รังแกคนอื่น เช่น เอาถุงอึปาหน้าเขา เป็นต้น

2) วจีกรรม หมายถึงกรรมทางวาจา เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน พูดให้ร้ายป้ายสีเขา เช่น อยู่ดีๆ ไม่ชอบ ปล่อยข่าวว่า “นายไต้ ตามทาง ตายแล้ว ตายอย่างอนาถด้วย ถูกรถทับตาย” จนกระทั่งพระเถระผู้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมรูปหนึ่ง โทรศัพท์มาถาม พอรู้ว่าไม่ตาย ท่านก็ร้องว่าทำไมคนมันชั่วอย่างนี้” นี่แหละครับ กรรมทางวาจา

3) มโนกรรม กรรมทางใจ เช่น คิดอาฆาตพยาบาท หรือในแง่ดี เช่น คิดทำบุญทำกุศล เป็นต้น

3. กรรม 4 ประเภท ได้แก่

1) กรรมดำ ตรงนี้ท่านใช้ศัพท์เปรียบเทียบ “กรรมดำ” ก็คือกรรมชั่วนั่นเอง อันได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม เป็นต้น นั่นแหละครับ

2) กรรมขาว หมายถึงกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาดังกล่าวข้างต้นนั่นแหละ

3) กรรมทั้งดำทั้งขาวผสมกัน คือกรรมชั่วกับกรรมดีผสมกัน อันนี้ดูได้จากการกระทำของคน บางคนทำบุญด้วยทำบาปด้วยในขณะเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น (เอาอย่างเบาๆ ก่อนนะ) คุณหญิงคุณนายแปดสาแหรกเอาผ้าห่มหรือยาไปแจกเด็กยากจน ป่าวประกาศให้ทีวีบ้าง หนังสือพิมพ์บ้าง ตามไปทำข่าว ขณะยืนแจกของเด็กก็แอ๊กท่าสวยให้เขาถ่ายรูป เพื่อโชว์ว่าฉันเป็นคนใจบุญนะยะ

อย่างนี้คุณเธอทำทั้งบุญ คือให้ทาน และทำทั้งบาปคือ เป็นการทำบุญเอาหน้า ทำเพื่ออวดคนอื่น กิเลสตัวที่ชื่อว่า โลภ (ความอยากได้หน้า) อติมานะ (สำคัญตัวว่าสำคัญ คนอื่นสู้ฉันไม่ได้) มีแต่วันจะเจริญเติบโต ไม่มีทางลด

ทำทั้งบุญทั้งบาป อย่างชัดแจ้งก็เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารถวายพระ หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เงินมาแล้วมาสร้างศาลาสร้างโบสถ์ อะไรทำนองนั้นแหละครับ

4) กรรมไม่ดำไม่ขาว อันนี้หมายถึง การที่คนเราได้บรรลุนิพพาน (การดับกิเลสได้โดยประการทั้งปวง) เห็นพระอรหันต์ตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ไม่ต้องทำกรรมดี กรรมชั่วอีกต่อไปแล้ว เรียกว่าอยู่เหนือกรรม

หลวงพ่อพุทธทาสใช้คำว่า “กรรมเหนือกรรม”

ข.กรรมตามนัยอรรถกถา

อันนี้หมายถึงตำรารุ่นหลังจากพระไตรปิฎก ที่พระเถระผู้เป็นพหูสูต แต่งขึ้นในภายหลัง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้ที่แต่งตำราอธิบายพระไตรปิฎกมากที่สุดรูปหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 10 ตำราที่ขึ้นชื่อมากของท่านเล่มหนึ่งชื่อ “วิสุทธิมรรค” (ทางแห่งความบริสุทธิ์) ท่านแบ่งกรรมไว้ถึง 12 ประเภท ทำให้ได้ภาพของกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ขอนำมาลงไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาดังนี้

1. กรรมแบ่งตามความหนักเบามี 4 ประเภท คือ

1) กรรมหนัก เรียกว่า “ครุกรรม” คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต (อย่างกรณีพระเทวทัต กลิ้งก้อนหินทับพระบาทพระพุทธเจ้า) และทำสังฆเภท (คือทำสงฆ์ให้แตกกัน) กรรมหนักนี้ให้ผลรุนแรง ตกนรกอเวจีนานจนลืมทีเดียว ที่ว่าหนักเพราะให้ผลทันที หลังจากทำแล้วอาจได้รับผลสนองในชาตินี้ทันตาเห็น ตายแล้วดิ่งลงอเวจีถ่ายเดียว ไม่มีทางเป็นอื่น

2) กรรมทำจนชิน เรียกว่า “อาจิณกรรม” (หรือบางครั้งเรียก พหุลกรรม) กรรมชนิดนี้เป็นกรรมเบาๆ กรรมจิ๊บจ๊อย แต่ทำบ่อย ทำจนติดเป็นนิสัย ท่านก็ถือว่าเป็นกรรมหนักรองลงมาจากครุกรรม เพราะสั่งสมเป็นอุปนิสัยใจคอของเรา ผลที่สุดมันจะบันดาลให้เราเป็นไปตามนั้น จะเลิกก็เลิกไม่ได้

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ (ถึงจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงก็ตาม) เช่น คนสูบบุหรี่ ถึงจะสูบวันละไม่กี่มวน แต่สูบทุกวัน นานๆ เข้าก็กลายเป็น “คนขี้ยา” จะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะมันติดเป็นนิสัยเสียแล้ว

หรือคุณเธอบางคน เห็นใครเขาทำอะไรผิดปกตินิดๆ หน่อยๆ ก็ยกเอามานินทา ดูซิ ยายคนนั้นแต่งตัวเชยจัง ยายคนโน้นแก่จะตายชัก ยังดัดจริตแต่งตัวเปรี้ยว…

นินทาบ่อยเข้า เลยกลายเป็นคนชอบจับผิดคนอื่น ปากอยู่ไม่สุข จนเพื่อนระอา อย่างนี้เป็นต้น

3) กรรมทำใกล้ตาย เรียก “อาสันนกรรม” บางครั้งเวลานอนรอความตายอยู่ คนเราก็ได้คิดว่าไม่เคยทำบุญทำกุศลอะไรเลย พอคิดอยากทำก็สายไปแล้ว เห็นพระมาเยี่ยมก็ยกมือไหว้พระด้วยจิตอันเลื่อมใส ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ความเลื่อมใสในพระสงฆ์แค่นี้ก็เป็นกรรมดี คือมโนกรรม (กรรมทางใจ) ที่เป็นกุศล

อย่างนี้แหละครับ เรียกว่ากรรมทำตอนใกล้ตาย

ท่านว่ากรรมอย่างนี้เมื่อตายไปแล้วจะให้ผลทันที คือ “ลัดคิว” ให้ผลเลย กรรมอื่นถึงจะหนักหนาอย่างไร (ยกเว้นครุกรรม) ต้องรอก่อน

ท่านอุปมาเหมือนโคอยู่ในคอก เมื่อเขาเปิดประตู โคตัวแรกที่อยู่ใกล้ประตูย่อมจะออกมาก่อน แม้ว่ามันจะเป็นลูกโค มีกำลังน้อยก็ตาม พ่อโคแม่โคถึงจะตัวโตกว่า มีกำลังกว่า แต่ว่าอยู่ข้างในโน้น ก็ต้องออกทีหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น

4) กรรมทำด้วยเจตนาเบา เรียกว่า “กตัตตากรรม” เรียกว่าสักแต่ว่าทำ มิได้ตั้งใจจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น จับลูกไก่มาถือแล้วโยนเล่น (เล่นอะไรไม่เล่น) โยนไปโยนมา หลุดมือ ลูกไก่ตกพื้นคอหักตาย

อย่างนี้มิได้เจตนาให้มันตาย เพียงแต่เล่นสนุกเท่านั้น

2. กรรมแบ่งตามหน้าที่ที่ให้ผล มี 4 ประเภท คือ

1) กรรมนำไปเกิด เรียกว่า “ชนกกรรม” กรรมบางอย่างทำหน้าที่นำไปเกิดในภพใหม่ เมื่อพาไปเกิดแล้วก็หมดหน้าที่ เช่นเดียวกับพ่อขับรถพาลูกไปโรงเรียนนั่นแหละ พอไปถึงประตูโรงเรียน ก็หมดหน้าที่ของพ่อ ต่อไปเป็นหน้าที่ของครู พ่อไม่เกี่ยว ส่งลูกแล้ว พ่อจะไปเดินเกะกะๆ เที่ยวบัญชานั่นบัญชานี่ เหมือนอยู่ในบ้านของตัวไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

2) กรรมหนุนส่งหรือกรรมอุปถัมภ์ เรียกว่า “อุปัตถมภกกรรม” มีกรรมบางอย่างมีหน้าที่คอยหนุน (ทั้งหนุนให้ดีและหนุนให้ชั่วเพิ่มขึ้น) เช่น บางคนเกิดในตระกูลสูง เพราะทำกรรมดีบางอย่างมา ก็มีกรรมอีกอย่างหนุนส่งให้เป็นคนเฉลียวฉลาด อะไรอย่างนี้เป็นต้น

3) กรรมตัดรอน เรียกว่า “อุปฆาตกรรม” มีกรรมบางอย่างคอยตัดรอน หรือทำลาย เช่น บางคนกำลังเจริญรุ่งเรือง ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มีหน้ามีตาในสังคม อยู่ๆ ก็ตายเสียนี่ อย่างนี้เรียกว่ามีกรรมตัดรอน

4) กรรมเบียดเบียน เรียกว่า “อุปปีฬกกรรม” มีกรรมบางอย่างไม่ถึงกับตัดรอน แต่มาเบี่ยงเบนทิศทาง หรือทำให้เพลาลง เช่น (ในเรื่องชั่ว) ทำกรรมบางอย่างไว้หนัก ควรจะได้รับโทษหนัก แต่มีกรรมอีกบางอย่างมาช่วยผ่อนให้เบาลง เลยได้รับผลกรรมชั่วเบาลง

3. กรรมแบ่งตามเวลาที่ให้ผล มี 4 ประเภท คือ

1) กรรมให้ผลทันตาเห็น เรียก “ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม” คือกรรมที่ทำลงไปแล้วเห็นผลในชาตินี้เลย ยกตัวอย่าง (เรื่องจริงที่เห็นมา) เด็กคนหนึ่งซุกซน ชอบแกล้งเพื่อนโดยวิธีเอานิ้วจี้ที่ทวารหนักอย่างแรง เพื่อนตาย โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุว่าทำไมถึงตาย พอเด็กคนนี้โตมา วันหนึ่งไปขึ้นต้นไม้เพื่อจะเอาน้ำผึ้ง พลัดหล่นลงมา ถูกตอทิ่มทวารตาย เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก เพราะแกนั่งตายด้วยท่าที่เก๋มาก

2) กรรมให้ผลในภพหน้า เรียกว่า “อุปัชชเวทนียกรรม” คือกรรมบางอย่างไม่สามารถให้ผลทันตาเห็น ก็ต้องรอคิวต่อไปว่ากันในชาติหน้าโน้น

3) กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป เรียกว่า “อปราปรเวทนียกรรม” ได้แก่ กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลในภพหน้า ก็ต้องรอคิวยาวต่อไปอีก เพราะคิวมันยาว ก็ต้องรอด้วยใจเย็นๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ

4) กรรมที่หมดโอกาสให้ผล เรียกว่า “อโหสิกรรม” กรรมบางอย่างรอเท่าไรๆ ก็ไม่มีโอกาสเสียที เพราะเจ้าของคนทำกรรมก็สร้างกรรมใหม่ที่มีผลแรงกว่าอยู่เรื่อยๆ จึงหมดโอกาสให้ผล ก็เลย “เจ๊า” ไปโดยอัตโนมัติ

อย่างกรณีพระองคุลีมาล ทำกรรมชั่วมามากมาย แต่พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม บรรลุธรรมเสียก่อน กรรมชั่วเลยเป็นเสมือน “เงื้อดาบค้าง” ฟันไม่ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ

ท่านอุปมาคนทำกรรมเหมือนเนื้อสมัน กรรมเหมือนหมาไล่เนื้อ หมามันก็จะวิ่งไล่เต็มกำลังของมัน เนื้อสมันก็ยิ่งต้องสปีดฝีเท้าเต็มที่เพื่อหนีเอาตัวรอด ทันเมื่อใดหมาก็ขม้ำเมื่อนั้น แต่ก็มีบางครั้งที่หมาไม่ทัน เลยไม่มีโอกาสได้ขม้ำเนื้อ เนื้อมันก็ปลอดภัยไป

นี่แหละเขาเรียกอโหสิกรรม

เขียนมาถึงตรงนี้ก็ขอเตือนสติกันไว้ว่า สิ่งที่เราทำมาแล้ว มันเป็นเรื่องแก้ไม่ได้ คือแก้ไม่ให้เป็นการไม่กระทำไม่ได้

แต่เรามีสิทธิ์ทำในขณะนี้ จะทำอย่างไรก็ได้

เพราะฉะนั้น เราก็ควรทำแต่ “เงื่อนไข” ที่ดีๆ ให้มากๆ เข้าไว้ เมื่อความดีเราทำขณะนี้เดี๋ยวนี้มีมาก ความไม่ดีที่เคยทำมามันก็หมดโอกาสให้ผลแก่เรา ดุจหมาขาหักไล่ไม่ทันเนื้อสมันฉันใดก็ฉันนั้นแหละ โยมเอ๋ย

อย่าได้เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีว่า คนนั้นมันตาย คนโน้นมันฉิบหายแล้วเลย เดี๋ยว “หมา” มันจะไล่งับเอาไม่รู้ด้วยนะ