วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 23

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

กลุ่มอำนาจจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ทำให้แบ่งโดยสรุปได้เป็นสี่กลุ่มสำคัญ

กลุ่มแรกคือ กลุ่มรัชทายาท

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเครือญาติฝ่ายมเหสี

กลุ่มที่สามคือ กลุ่มผู้ดีน้อยที่ต่อมายกระดับตัวเองเป็นผู้ดีใหญ่ และเนื่องจากมีพื้นเพอยู่ที่หนันหยัง กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่ากลุ่มหนันหยัง

กลุ่มที่สี่คือ กลุ่มขุนศึกสองตระกูลคือตระกูลหม่ากับตระกูลโต้ว สองตระกูลนี้มีอิทธิพลมากพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของฮั่นสมัยหลัง หาไม่แล้วก็คงยากที่จะได้เกี่ยวดองกับฮั่นกวางอู่ตี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสี่กลุ่มนี้อาจมีหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันก็ได้ หรือที่มีนั้นก็ยังวัดกันที่ความลึกซึ้งใกล้ชิดว่ามีมากเพียงใดอีกด้วย ปฏิสัมพันธ์นี้จะเป็นตัวบ่งชี้การเข้าสู่อำนาจของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ โดยมีการแต่งงานกับราชโอรสหรือราชธิดาของจักรพรรดิเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ

พ้นไปจากทั้งสี่กลุ่มแล้วก็เหลือเพียงกลุ่มเดียวที่อยู่นอกสารบบ นั่นคือ กลุ่มขันที

กลุ่มนี้แม้จะใกล้ชิดกับจักรพรรดิก็จริง แต่เป็นความใกล้ชิดที่มาจากหน้าที่ในฝ่ายใน ซึ่งดูอย่างผิวเผินแล้วไม่น่าจะเป็นกลุ่มที่จะเข้าถึงอำนาจได้ดังสี่กลุ่มแรก

ดังนั้น การจะเข้าถึงอำนาจของกลุ่มนี้ในด้านหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับแรงขับภายในของปัจเจก อีกด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับการเปิดช่องให้เข้าสู่อำนาจโดยตัวจักรพรรดิเอง ทั้งนี้ อาจเห็นได้จากกรณีการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มนี้ในสมัยราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นการเข้าถึงในเชิงปัจเจก

แต่สำหรับฮั่นสมัยหลังนี้เป็นการเข้าถึงอำนาจเป็นคณะบุคคล ที่ดูไปแล้วมีความอำมหิตยิ่งกว่าสมัยฉินมากนัก

 

นับจาก ค.ศ.36 ที่ฮั่นกวางอู่ตี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น พระองค์ทรงเผด็จอำนาจไว้ในมือยิ่งกว่าที่ฮั่นสมัยแรกกระทำโดยฮั่นเกาตี้เสียอีก เพราะแม้จะปูนบำเหน็จให้แก่ขุนนางและขุนศึกที่มีความดีความชอบด้วยตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ดี หรือด้วยที่ดินศักดินาก็ดี แต่ทั้งตำแหน่งและศักดินานี้ก็หาได้ทำให้ขุนนางและขุนศึกมีอำนาจที่แท้จริงไม่

ทั้งนี้ ยังรวมถึงตำแหน่งสามมหาอำมาตย์ที่ทรงมอบให้แก่เครือญาติของพระองค์เอง

อำนาจที่ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงมีอย่างสำคัญก็คือ ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในราชสำนักที่รวมอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์เอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทรงตัดสินใจทุกราชกิจและทุกนโยบายด้วยพระองค์เอง จนสามมหาอำมาตย์และเสนามาตย์ตำแหน่งสูงไร้อำนาจดังฮั่นสมัยแรก

จะเห็นได้ว่า การกุมอำนาจเช่นนี้ในด้านหนึ่งมีแนวทางคล้ายกับสมัยฮั่นเกาตี้ คือให้ตำแหน่งสำคัญกับเครือญาติและเสนามาตย์ที่ร่วมต่อสู้กันมา แต่อีกด้านหนึ่งกลับต่างออกไป คือทุกตำแหน่งสำคัญต่างไร้อำนาจอย่างที่ควรจะเป็น

การกุมอำนาจเช่นนี้แม้จะมีความมั่นคงในยุคของฮั่นกวางอู่ตี้ แต่ก็มีปัญหาเดิมๆ ดังที่มีมานับร้อยปีก่อนหน้านี้ นั่นคือ การแย่งชิงอำนาจ

ดังจะเห็นได้จากยุคของฮั่นหมิงตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.57-75) ที่ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิหลังฮั่นกวางอู่ตี้สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.57 ในยุคนี้ได้เกิดความหวาดระแวง ความตื่นกลัว และความปรารถนาในอำนาจในหมู่พี่น้องร่วมสายโลหิตของฮั่นหมิงตี้

อารมณ์ความรู้สึกนี้ได้ชักนำให้บุคคลเหล่านี้พึ่งพาไสยศาสตร์ เพื่อให้แน่ใจว่าการแย่งชิงอำนาจของตนจะประสบความสำเร็จ จากเหตุนี้ จึงมีพี่น้องร่วมสายโลหิตของฮั่นหมิงตี้สามพระองค์ต้องมาเกี่ยวข้องกับคดีกบฏ

โดยสองในสามจำต้องจบชีวิตลงด้วยการอัตวินิบาตกรรมตนเอง เป็นต้น

 

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ จุดเปลี่ยนทางอำนาจในยุคฮั่นหมิงตี้ โดยก่อนขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ได้เสกสมรสกับบุตรสาวคนเล็กของหม่าหยวนใน ค.ศ.51 และเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว มเหสีผู้นี้ก็ได้เป็นจักรพรรดินี แต่กลับไม่มีราชโอรสให้กับฮั่นหมิงตี้

ผู้ที่มีคือผู้เป็นหลานของจักรพรรดินีที่เกิดในตระกูลเจี่ย หลานผู้นี้เป็นมเหสีองค์ที่สองของฮั่นหมิงตี้ และราชโอรสที่มีกับฮั่นหมิงตี้นี้ต่อมาได้ครองราชย์ต่อจากพระองค์ซึ่งก็คือ ฮั่นจังตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.75-88) โดยใน ค.ศ.77 ฮั่นจังตี้ได้อภิเษกสมรสกับเหลนของโต้วหญง ครั้นถึง ค.ศ.78 ก็ทรงให้มเหสีพระองค์นี้ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดินี

จากข้อเท็จจริงที่ว่านี้ทำให้วังวนอำนาจที่แวดล้อมสกุลหลิวเวียนอยู่ในสกุลหม่าและโต้ว การเมืองหลังจากนี้จึงมีตัวละครในตระกูลดังกล่าวเป็นผู้แสดงที่สำคัญ แต่ก็มีตัวละครตระกูลอื่นหรือบุคคลอื่นเข้ามาร่วมแสดงผ่านบทบาทที่ไม่แพ้กันด้วย

 

ภายใต้การเมืองที่มีกลุ่มอำนาจไม่กี่กลุ่มเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ได้ครอบงำฮั่นสมัยหลังในระดับที่สูงยิ่ง จนถึงสมัยของจักรพรรดิฮั่นเหอตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.88-106) การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุการณ์นี้เริ่มจากเมื่อแรกที่ฮั่นเหอตี้ขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ทรงมีอายุเพียงสิบพรรษา อำนาจการปกครองได้ตกไปอยู่ในมือของราชชนนีสกุลโต้ว อำนาจนี้ได้แผ่ไปถึงเครือญาติของราชชนนีด้วย จนเมื่อฮั่นเหอตี้ทรงเติบใหญ่และรู้ถึงความจริงในเรื่องนี้ก็ไม่อาจรับได้

พระองค์จึงทรงคิดที่กอบกู้อำนาจคืนมา

แต่แทนที่พระองค์จะพึ่งพาเสนามาตย์ที่มีความรู้ความสามารถ พระองค์กลับพึ่งพาขันทีที่ใกล้ชิดเพื่อช่วยยึดอำนาจคืน เมื่อแผนการยึดอำนาจถูกปฏิบัติการแล้วก็ปรากฏว่า พี่น้องตระกูลโต้วถูกสังหารจนสิ้น ส่วนราชชนนีโต้วทรงถูกบังคับให้คืนอำนาจแก่ฮั่นเหอตี้

หลังเหตุการณ์นี้ขันทีที่มีส่วนร่วมในการยึดคืนอำนาจต่างได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ขันทีได้เข้ามามีอำนาจทางการเมืองในสมัยนี้

 

ถึงแม้อำนาจของกลุ่มเครือญาติฝ่ายมเหสีจะถูกกำจัดออกไป และมีกลุ่มขันทีเข้าแทนที่ก็ตาม แต่หลังยุคฮั่นเหอตี้ไปแล้วอำนาจก็ยังวนเวียนอยู่ในกลุ่มเครือญาติและกลุ่มขันที โดยกลุ่มเครือญาติจะมีตระกูลใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ ในขณะที่กลุ่มเดิมก็ยังมีบทบาทอยู่บ้าง

ส่วนกลุ่มขันทีก็ไม่ต่างกันที่มีกลุ่มใหม่เข้ามาแทนที่เช่นกัน

สถานการณ์เช่นนี้ครอบงำราชสำนักต่อเนื่องกันไปอีกหลายรัชกาล แต่ที่อื้อฉาวอย่างมากคือในสมัยของจักรพรรดิฮั่นหวนตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.146-168) ในสมัยนี้อำนาจตกอยู่ในมือของกลุ่มเครือญาติฝ่ายมเหสีอีกครั้งหนึ่ง บรรดาขุนนางและขุนศึกระดับสูงต่างเป็นสมาชิกเครือญาติของฝ่ายนี้

อำนาจที่อยู่ในมือของฝ่ายนี้มีมากจนไม่เห็นฮั่นหวนตี้อยู่ในสายตา จนเป็นเหตุให้ฮั่นหวนตี้ต้องพึ่งพากลุ่มขันทีซ้ำรอยฮั่นเหอตี้อีกครั้งหนึ่ง และกลุ่มขันทีก็ไม่ทำให้พระองค์ผิดหวัง เมื่อสามารถกวาดล้างอำนาจของกลุ่มเครือญาตินี้อย่างนองเลือดและสิ้นซาก

จากเหตุนี้ หลังจากฮั่นหวนตี้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว อำนาจก็ยังคงอยู่ในมือของกลุ่มขันทีแม้ในรัชกาลต่อมาคือ ฮั่นหลิงตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.168-189) ถึงตอนนั้นกลุ่มขันทีกับเครือญาติของขันทีที่ได้เป็นใหญ่เป็นโตก็เข้าข่มเหงราษฎรด้วยวิธีต่างๆ จนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่

 

สาเหตุอันเป็นที่มาของวิกฤตมีอยู่ว่า ในขณะที่กลุ่มขันทีใช้อำนาจบาตรใหญ่อยู่นั้น ล้วนอยู่ในความรับรู้และเฝ้ามองของขุนนางและศึกษิตกลุ่มหนึ่งมาโดยตลอด ขุนนางและศึกษิตกลุ่มนี้มีนับร้อยคนที่ต่างก็สมาทานลัทธิขงจื่อและหวังดีต่อบ้านเมือง

โดยที่เป็นขุนนางก็คือขุนนางที่มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ไม่มีอิทธิพลใดๆ เนื่องเพราะกลุ่มขันทีกุมอำนาจอยู่ ส่วนที่เป็นศึกษิตก็คือ นักศึกษาหรือบัณฑิตที่มีความรู้สูง และมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างกับขุนนางในกลุ่มแรก

ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างไม่พอใจการใช้อำนาจของกลุ่มขันที และเห็นว่าควรมีการต่อต้านพฤติกรรมของขันทีเหล่านี้ ในขณะที่กลุ่มขันทีก็รู้ดีว่าได้มีกลุ่มบุคคลตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับตนแล้วเช่นกัน

จากเหตุนี้ กลุ่มขันทีจึงเรียกกลุ่มขุนนางและศึกษิตเหล่านี้ว่า คณะอภิชน (ตั่งเหญิน, Partisan)

อันที่จริงแล้วการที่เหล่าขันทีเรียกขานกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่า ตั่งเหญิน หมายให้แปลตรงตัวว่า คณะบุคคล เพื่อให้มีความหมายเชิงลบด้วยเห็นว่าบุคคลกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์กับตน แต่ถ้าแปลให้ได้ตามอารมณ์ของกลุ่มขันทีแล้วก็อาจแปลได้ว่า “พวกมัน” แต่ในที่นี้เรียกว่า คณะอภิชน

ก็เพื่อให้หมายถึงคณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณธรรม