จัตวา กลิ่นสุนทร : ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนที่ 9

กว่าจะได้เดินทางสู่สหรัฐเป็นครั้งที่ 2 เวลาได้หมุนเปลี่ยนไปด้วยความรวดเร็วพาเอาความหนุ่มแน่นเหือดหายไปเป็นอันมากพร้อมกับสถานภาพในสังคม ความแข็งแกร่งได้เพิ่มพูนเข้ามาในชีวิตเป็นประสบการณ์มากมาย

หลายสิบปีในหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงทรงอิทธิพล และ 4 ปีบนตำแหน่ง “บรรณาธิการ” ภายใต้ร่มเงาของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ล่วงลับ นับว่าได้ศึกษาเรียนรู้ประชาธิปไตย การเมือง และอะไรต่อมิอะไรซึ่งแสวงหาไม่ได้จากสถานศึกษาด้วยซ้ำไปก้าวเดินเฉียดเข้าสู่การเมืองบ้างทั้งเลือกตั้ง แต่งตั้ง

เรียกว่าพอได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจนพอมีฐานะทางสังคมพอสมควร

 

การเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยใช้บริการของการบินไทย สายการบินแห่งชาติ เส้นทางบินจากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปเปลี่ยนเครื่องยังสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น (Narita International Airport-Tokyo Japan) แล้วบินยาวเข้านครลอสแองเจลิส

แต่ถึงยังไงสำหรับคนซึ่งมีอายุใกล้จะขึ้นเลข 6 ต้องบอกว่าการบินไปสหรัฐเป็นอะไรที่โหดเอามากๆ เอาเป็นว่าอย่างน้อยย่อมต้องมี 20 ชั่วโมงทีเดียว

คนมีฐานะจึงเลือกที่จะบินชั้นเฟิร์สคลาส ส่วนคนไม่มีฐานะอย่างเราๆ เลือกไม่ได้ ต้องบินชั้นประหยัด

ถามว่าต้องการนั่งสบายๆ หรือไม่? ตอบว่าใครๆ ก็อยากสบายกันทั้งนั้น จึงพยายามใช้ศักยภาพอันพอมีอยู่บ้างจากการทำงานรับใช้สังคมมายาวนานหาทางอัพเกรดหากว่าบังเอิญไม่มีนักธุรกิจร่ำรวยเดินทาง และเที่ยวบินนั้นว่างขึ้นมา

ไปปรึกษาเพื่อนพ้องซึ่งมียศศักดิ์บังเอิญเขาเล่นด้วยพยายามจะช่วยเหลืออย่างเต็มใจ ถึงวันจริงๆ พวกเราทั้งครอบครัวจึงนั่งลุ้นรออยู่ว่าจะมีใครมาพาเราย้ายไปนั่งชั้นหนึ่งหรือไม่?

ความจริงเที่ยวบินนี้ได้รับทราบชื่อนักบินมาล่วงหน้าว่าเป็นทหารอากาศซึ่งหันมาเอาดีทางธุรกิจการบินมากกว่าจะอยู่กับกองทัพอากาศต่อไป เพียงแต่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเท่านั้นเอง

บอกเล่าสักนิดว่าช่วงระยะเวลาหนึ่งจะเป็นเพราะโชคชะตา หรือบุญบารมีชักนำให้ได้เข้าไปสัมผัสคลุกคลีคบหากับนายทหารอากาศระดับ “บิ๊ก” ต่อมาได้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของกองทัพอากาศ รวมทั้ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” โดยท่านสร้างสมบารมีจนทุกวันนี้ลูกน้องยังรักใคร่เหนียวแน่นไม่หนีหาย

เป็นที่มาของการได้รู้จักมักคุ้นกับเพื่อนพ้องพี่น้องลูกทัพฟ้าจำนวนมาก เพราะฉะนั้น เพียงแค่เรื่องอัพเกรดคงไม่ยากไปนัก แต่ถึงทุกวันนี้เวลาได้เปลี่ยนไปนายทหารเหล่านั้น จนถึงรุ่นน้องได้ผ่านพ้นชีวิตราชการหมดแล้ว

กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผู้สูงวัยไปด้วยกัน

 

ถึงวันเดินทางจริงๆ กัปตันซึ่งเดินมาหาพวกเราเพื่อพาไปนั่งในชั้นที่สบายขึ้นกลับไม่ได้เป็นผู้ที่ผ่านจากโรงเรียนนายเรืออากาศ กลายเป็นบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดินตามความฝันจนได้เป็นนักบินพาณิชย์ของสายการบินแห่งชาติ

ยิ่งกว่านั้นท่านยังชอบงานศิลปะ ชอบวาดรูปสีน้ำ จึงเป็นที่มาของความสนิทสนมกับกมล ทัศนาญชลี (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ นครลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles-USA) ปีละหลายๆ ครั้ง

กัปตันใช้เวลาว่างระหว่างได้พักขณะเดินทางถึงสหรัฐด้วยการแวะเวียนไปเขียนรูปสีน้ำตามสถานที่ต่างๆ และแทนที่จะพักยังโรงแรมที่ทางสายการบินไทยจัดให้ บางครั้งกลับไปนอนค้างที่บ้านของกมล

เรื่องนี้จึงถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อกมลมารอรับครอบครัวของเราที่สนามบินนานาชาติ นครลอสแองเจลิส “Los Angeles International Airport” (LAX) พร้อมรับกัปตันจากโรงแรมที่พักไปในคราวเดียวกัน

 

เดินทางไกลไปสหรัฐครั้งที่ 2 เป็นไปตามคำเชื้อเชิญเรียกร้องของน้องชาย+สะใภ้ชาวลาวอพยพของหุ้นส่วนชีวิต ซึ่งเก็บเอามาคิดทีหลังอาจเป็นไปได้ว่าน้องชายผู้ซึ่งเราได้หอบหิ้วคุณแม่ไปเชื่อมสายสัมพันธ์ซึ่งเลือนรางห่างไกลไปนานวันแล้วมีความเต็มใจเรียกร้องเชื้อเชิญครอบครัวเราหรือไม่?

เนื่องจากเวลาร่วม 3 อาทิตย์ที่ได้อยู่ด้วยกัน เดินทางด้วยกันทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวค่อนข้างเห็นแก่ตัว

เรื่องนี้ไม่เคยบอกใคร แอบคิดอยู่คนเดียวตลอดมา สุดท้ายเหตุการณ์ต่างๆ จึงปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นหลังจากที่คุณแม่เสียชีวิตลงมีการเปิดพินัยกรรมแบ่งสมบัติกัน ซึ่งทุกคนมีความเห็นแก่ตัว โลภ แอบร้องขอเปลี่ยนพินัยกรรม ทำกันทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะให้ได้มากกว่าคนอื่นๆ

ไม่แปลกกับคำพูดของใครไม่รู้บอกว่า “บ่อแห่งความโลภนั้นไม่มีทางจะถมได้เต็ม”

ความเห็นแก่ตัว ความโลภของคนมีอยู่ในทุกชาติพันธุ์ทุกตัวตน แค่มากน้อยไม่เท่ากัน การแสดงออกนอกหน้าของน้องสะใภ้ชาวลาวอพยพเป็นไปอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งมีที่ปรึกษาเป็นคนไทยอยู่ในเมืองไทย

เพราะระหว่างที่มีการเปิดพินัยกรรมแบ่งสมบัติกันนั้น ครอบครัวซึ่งเคยหายสาบสูญไป กลับมางานศพคุณแม่ หลังจากที่ไร้ปัญญาไม่มีความพยายามที่จะเดินทางกลับมางานศพน้องชาย และคุณพ่อเมื่อหลาย 10 ปีก่อน

เคยสงสัยอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงด้านฐานะหลังจากที่ได้รู้จักกับกลุ่มทหารซึ่งเดินทางไปซื้อหาอาวุธ หรือเครื่องมืออะไรสักอย่างหนึ่ง ถึงกับมีการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกกันจนถึงขั้นเปิดแอลซี (Letter of Credit) ธนาคาร เวลาผ่านไปทหารกลุ่มนั้นบางคนได้ส่งลูกหลานญาติโยมไปอาศัยพักพิงเพื่อเรียนหนังสือในมลรัฐไอโอวา (Iowa)

เมื่อมีโอกาสเดินทางกลับมาเมืองไทยรับส่วนแบ่งของตน ยังใช้วิธีการเบียดบังส่วนของพี่สาวคนอื่น ซึ่งโง่งมงายไม่เข้าใจต่อโลกจึงต้องตกเป็นเหยื่อก่อนเสียชีวิต

เรียกว่าเป็นการได้ประโยชน์ชิ้นใหญ่มาจากความรัก ความเมตตาก่อนจะถูกขายเปลี่ยนมือไปจนหมด ปัญหาทั้งหลายจากเจ้าของใหม่จึงต้องมาเกิดกับหุ้นส่วนชีวิตเพราะมันติดต่อกันซึ่งยืนยันไม่เคยคิดขายสมบัติของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พร้อมสอนลูกๆ ผู้จะสืบสานต่อว่าต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ให้ได้

อาจเกิดคำถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ครอบครัวเราเดินทางไปสหรัฐอีกทำไม

คำตอบคือว่าเรื่องต่างๆ มันเกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ไม่ได้นับญาติอะไรกันชนิดว่า “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดกับครอบครัวเราโดยตรง เพียงส่งผลกระทบกับคนที่พยายามยืนหยัดรักษาถิ่นฐานเดิมเท่านั้นเอง

 

กําหนดการเดินทางเอาไว้ว่าจะแวะพักยังแอลเอ (LA) 1 สัปดาห์ ยังบ้านพักของกมล+นวลศรี ทัศนาญชลี ศิลปินร่วมสมัยของไทย ซึ่งขณะนั้นได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” (2540) แล้ว

จากนั้นไปชิคาโกเพื่อต่อเครื่องในประเทศไปยังเมืองดี มอยน์ ไอโอวา (De Moines-Iowa) จะใช้เวลาอยู่สหรัฐประมาณ 1 เดือน คิดวางตารางเวลาคร่าวๆ เกิดความเสียดายว่าอยู่แอลเอ (LA) น้อยวันไป จึงติดต่อสายการบินขอเปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อจะได้อยู่รัฐนี้สัก 2 สัปดาห์ แต่ไม่เป็นผล

พักอยู่ในแอลเอ (LA) มีความรู้สึกค่อนข้างสดชื่นสบายใจเป็นกันเองมาก เพื่อนรักพาไปเที่ยวในเมืองเลี้ยงอาหารเย็นเป็นมื้อแรก และนัดหมายพบปะเพื่อนๆ ผู้เคยร่วมงานเก่าๆ จากเมืองไทยซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ครบหน้า

และไม่ลืมพาสาวน้อยไปชมยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ฮอลลีวู้ด (Universal Studio Hollywood) สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ศูนย์รวมความบันเทิง และสวนสนุกอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิดหน้าชูตาของมลรัฐนี้ เนื่องจากว่าเขาเพิ่งมีโอกาสได้มาสหรัฐครั้งแรก

เป้าหมายอีกแห่งหนึ่งคือ ดิสนีย์แลนด์ (Disneyland California) ซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร เราจึงเหลือเวลาได้เดินทางไปลาสเวกัส (Las Vegas) รัฐเนวาดา เมืองเอนเตอร์เทน (Entertain) ไม่เคยหลับได้แค่ 1 คืนเท่านั้น

ตลอดเส้นทางสู่ลาสเวกัสได้เปิดหูเปิดตา แวะพักตลอดทาง ซึ่งยังเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัดเพราะได้เตรียมเรื่องอาหารการกินจากบ้านกมล+นวลศรี ส่วนโรงแรมที่พักนั้นกมลได้ติดต่อขอไปพักบ้านครอบครัวรุ่นน้องจากศิลปากร ซึ่งเพิ่งซื้อหามายังไม่ได้มีการตกแต่งอะไร เขายกให้ครอบครัวเรา 1 ห้องใช้ผ้าผืนใหญ่ปูเต็มทั้งห้องนอนรวมกัน 4 คน

ก็อบอุ่นมีความสุขดี เนื่องจากขณะนั้นอากาศหนาว

ได้เที่ยวชมโรงแรมต่างๆ ซึ่งตกแต่งหรูหราเป็นสไตล์ของแต่ละประเทศในยุโรป และอื่นๆ เน้นแสงสีมากมายสว่างไสวยามค่ำคืนแข่งขันกันด้วยเทคนิคล้ำหน้า มีโชว์พิเศษต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า ได้เข้าไปเยี่ยมชมบ้างแบบเฉียดๆ เนื่องจากขณะนั้นสาวน้อยที่บ้านอายุยังไม่ถึงจึงห้ามเข้าในกาสิโน

ทุกวันนี้จะท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องโรงแรมใหญ่โตหรูหราออกแบบตกแต่งงดงามมีสถาน “กาสิโน” (Casino) ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลใช้เวลายาวนาน บินเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งแค่ “เขตปกครองพิเศษมาเก๊า” ก็พอ

“ลาสเวกัส” (Las Vegas) ถูกยกมาไว้ “มาเก๊า” (Macau) ทั้งเมือง แถมธุรกิจสร้างผลกำไรมากกว่าด้วยซ้ำ