จิตต์สุภา ฉิน : ผู้ช่วยส่วนตัวก็ปากพล่อยได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

รู้ไหมคะว่าด้านมืดของมนุษย์เราถูกแสดงออกมาตอนไหนบ้าง

แน่นอนว่าในที่สาธารณะเราคงไม่แสดงตัวตนด้านลบให้คนรอบข้างได้เห็น

เราคงไม่พูดจานินทาใส่ร้ายป้ายสีเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศที่หัวหน้าอาจจะได้ยิน

คงไม่สาดคำหยาบคายใส่สามีให้เข้าหูคนแปลกหน้า

ไม่ด่าลูก ไม่เตะหมา ไม่ตดเสียงดังทั้งที่เพิ่งกินทุเรียนเข้าไป ฯลฯ

อะไรทั้งหมดที่ว่ามานั้น เราเก็บไว้ทำทันทีที่ก้าวเท้าเข้าบ้านและปิดประตูตามหลังนั่นแหละค่ะ

ดังนั้น ตัวตนที่เรากลัวที่จะเปิดเผยออกไปมากที่สุดก็น่าจะเป็นตัวตนภายในบ้านของเรา

เวลาที่เราแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่คุ้นเคย คนที่ไว้ใจ ภาพลักษณ์ที่สร้างสมเอาไว้ก็ถูกปลดออกมาแขวนชั่วคราว

บทสนทนาใดๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้หลังคาบ้านจึงมักจะเป็นบทสนทนาที่เป็นส่วนตัวที่สุด ลงลึกที่สุด ดำมืดที่สุด เพราะไม่มีใครอื่นอีกแล้วที่สมควรจะมาได้ยิน

ฝันร้ายจึงจะบังเกิดถ้าหากบทสนทนาเหล่านั้นรั่วไหลออกไปโดยเราไม่รู้ตัว

 

สามีภรรยาคู่หนึ่งในมลรัฐโอเรกอนของสหรัฐ เพิ่งจะประสบกับชะตากรรมนี้ไปหมาดๆ จากฝีมือการทรยศของเทคโนโลยีภายในบ้านที่ถูกสร้างมาให้เป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในยุคดิจิตอล

บทสนทนาของสามีภรรยาคู่นี้ถูกบันทึกเอาไว้โดยเอ็กโค่ ลำโพงอัจฉริยะของบริษัทอเมซอนที่ฝังเทคโนโลยีผู้ช่วยส่วนตัวแสนฉลาดนาม “อเล็กซ่า” เอาไว้

ที่แสบกว่านั้นคือนอกจากจะแอบบันทึกเสียงไว้แล้วยังส่งไฟล์เสียงบทสนทนานี้ออกไปให้คนรู้จักในรายชื่อติดต่อ โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้ระแคะระคายอะไรเลย

กว่าจะรู้ว่าเสียงของตัวเองถูกบันทึกและส่งออกไปก็ตอนที่ลูกน้องของสามีที่อาศัยอยู่อีกรัฐหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่าได้รับไฟล์เสียงเจ้าปัญหา ภรรยาถึงได้วิ่งจนแทบล้มหกคะเมนไปถอดปลั๊กเจ้าลำโพงสู่รู้ทิ้ง ซึ่งคู่สามีภรรยาคู่นี้ไม่ได้มีแค่ตัวเดียวนะคะ แต่มีไว้ประจำทุกห้องในบ้านห้องละตัวเลยทีเดียว

เคราะห์ยังดีหน่อยที่บทสนทนาที่ถูกแอบบันทึกและส่งไปนั้นเป็นบทสนทนาน่าเบื่อตอนที่ทั้งคู่ถกเถียงกันเรื่อง “พื้นไม้เนื้อแข็ง” ไม่ใช่การทะเลาะจิกตีกันเรื่องเมียน้อยให้โลกทั้งใบต้องร่วมด้วยช่วยกันเผือก

ทันทีที่มีการรายงานข่าวเรื่องนี้ออกไป ก็สร้างความตื่นตระหนกให้เจ้าของลำโพงอัจฉริยะทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่ใช้กันแพร่หลายยิ่งกว่าประเทศอื่น ต่างก็พากันกลัวว่าจู่ๆ อเล็กซ่าจะเกิดครึ้มอกครึ้มใจบันทึกบทสนทนาของเจ้าของขึ้นมาเมื่อไหร่

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ในอดีตที่ผ่านมามันบันทึกอะไรและส่งออกไปให้ใครแล้วบ้างต่างหาก!

 

หากคุณผู้อ่านสงสัยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อเมซอนมีคำอธิบายให้ค่ะ

ก่อนฟังคำชี้แจงจากอเมซอน เรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันสักเล็กน้อยนะคะ

ลำโพงประเภทนี้ทำงานคล้ายกับผู้ช่วยอัจฉริยะในโทรศัพท์มือถือของเรา

คือเราจะต้องเรียกชื่อของมันก่อนแล้วค่อยตามด้วยคำสั่ง

ชื่อที่ใช้เรียกปลุกให้มันตื่น ภาษาอังกฤษเรียกว่า เวกเวิร์ด (wake word)

ในกรณีของเอ็กโค่ คำเรียกให้ตื่นก็คือ “อเล็กซ่า” ชื่อของผู้ช่วยที่อาศัยอยู่ในลำโพงนั่นเอง

เมื่อได้ยินคำเรียกนี้ลำโพงจะตื่นขึ้นและพร้อมรอฟังคำสั่งจากเจ้าของทันที

และจากประสบการณ์การใช้งานบอกได้เลยว่ามันไวมากๆ ค่ะ

แค่เรียกเบาๆ จากอีกห้องที่ติดกันลำโพงยังได้ยินเลย

จะดัดสำเนียง เปลี่ยนเสียงสูงต่ำยังไงมันก็ยังตื่น

ต่อไปนี้คือสิ่งที่อเมซอนได้อธิบายเอาไว้ค่ะ อเมซอนบอกว่าเอ็กโค่ตื่นขึ้นเพราะเข้าใจว่าสามีภรรยาเรียกชื่อ “อเล็กซ่า” โดยอาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งในบทสนทนาเรื่องพื้นไม้เนื้อแข็งนั้นที่มีคำคล้ายกับคำว่าอเล็กซ่าอยู่

จากนั้นเมื่อลำโพงตื่นขึ้นเพื่อตั้งใจฟังบทสนทนาที่ยังดำเนินต่อไปไม่หยุด มันก็นึกว่าตัวเองได้ยินคำสั่งให้ “ส่งข้อความ”

ซึ่ง ณ เวลานั้น อเล็กซ่าถามกลับออกไปดังๆ ว่า “ส่งข้อความหาใคร” (โดยที่สามีภรรยาไม่ได้ยินและยังคงคุยกันต่อไป)

เหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง คืออเล็กซ่าเข้าใจว่าคำในบทสนทนานั้นมีชื่อของคนที่อยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อที่เจ้าของอยากให้ส่งข้อความหา

อเล็กซ่าทวนชื่อกลับไปและถามว่า “(ชื่อ)…ใช่ไหม” เช่นเคยคำพูดในบทสนทนาทำให้มันเข้าใจว่ามีการตอบรับกลับมาว่า “ใช่”

ด้วยความเป็นผู้ช่วยที่ดี มันก็ส่งข้อความเสียงออกไปเลย

ถ้าอเล็กซ่ามีชีวิต ตอนนี้ก็คงน้อยใจไปแล้วแหละว่า แหม จะมาโกรธเคืองอะไรกัน ฉันก็ถามทวนตั้งหลายรอบแล้วนี่นา

จะเห็นว่านี่เป็นเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่มาเรียงร้อยต่อกันด้วยความบังเอิญ

อเมซอนบอกว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่บริษัทก็จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

 

แม้อเมซอนจะบอกว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่การที่ได้รับรู้ว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถบันทึกเสียงเราและส่งออกไปหาใครก็ไม่รู้ได้ ก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้เอ็กโค่รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงแบบช่วยไม่ได้ เวลาเราใช้เทคโนโลยีที่ต้องการการเรียกด้วยเวกเวิร์ดเพื่อให้ตื่น ไม่ว่าจะเป็นอเล็กซ่าของอเมซอน สิริของแอปเปิล หรือผู้ช่วยส่วนตัวของกูเกิล เรามักจะจิกเรียกใช้ผู้ช่วยเหล่านี้ให้ลุกขึ้นมาทำงานให้เราโดยที่ไม่ทันได้นึกว่า การที่มันจะได้ยินคำเรียกชื่อตัวเอง ก็ย่อมต้องแปลว่าไมโครโฟนของมันจะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา มิเช่นนั้นมันจะได้ยินเราเรียกชื่อได้อย่างไร

การเป็นอุปกรณ์ที่มาพร้อมลำโพง ไมโครโฟน ก็ว่าน่ากลัวแล้ว การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ก็ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ คล้ายๆ กับการที่เรานำสปายสายลับกลับบ้านมาด้วยและยอมให้อยู่ในห้องที่มีความเป็นส่วนตัวสูงที่สุดภายในบ้าน

อย่างไรก็ตาม คำตอบสำหรับเรื่องนี้อาจจะไม่ได้อยู่ที่การต้องวิ่งไปถอดปลั๊กลำโพงอัจฉริยะภายในบ้าน หรือปิดฟีเจอร์ใช้เสียงเรียกสิริกับผู้ช่วยส่วนตัวกูเกิลทิ้งเสมอไป

แต่เป็นบทเรียนให้ทำความรู้จักอุปกรณ์ของตัวเองให้มากขึ้นว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง และจะควบคุมได้ยังไง

สื่อมวลชนหลายแห่งออกมาช่วยกันให้ความรู้ว่าเราจะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่าเอ็กโค่ได้บันทึกอะไรไปแล้วบ้าง (ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเข้าไปในเมนูการ “ตั้งค่า” และ “ประวัติ” ในแอพพลิเคชั่น) และยังสามารถลบเสียงที่เราไม่ต้องการทิ้งได้ด้วย

ทันทีที่ได้อ่าน ซู่ชิงก็รีบเปิดแอพพ์ของตัวเอง แล้วก็ตกใจเล็กๆ ที่มันบันทึกเสียงที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ไม่น้อยเหมือนกัน

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพราะตัวละครในซีรี่ส์ที่เปิดดูอยู่บนโทรทัศน์ พูดคำที่คล้ายๆ ชื่ออเล็กซ่าจนทำให้มันตื่น

แต่ก็นับว่าโชคดีที่ไม่เจออะไรแปลกปลอมชนิดที่ต้องรีบเดินสายทำบุญสามวัดเจ็ดวัด