ย้อนรอยมหาอุทกภัย’54 กับก้าวบริหารจัดการน้ำยุคปัจจุบัน เดินหน้า-ถอยหลัง-หรือย่ำอยู่กับที่

หลายคนคงยังจำได้ดีถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือ มหาอุทกภัย ปี 2554 นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดของประเทศเพราะทำให้มีความชะงักงันไปทั้งประเทศ อีกทั้งสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.44 ล้านล้านบาท

แต่หลังน้ำท่วมใหญ่ผ่านไป 2 ปี หรือระหว่างปี 2557-2559 กลับกลายเป็นว่า ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี ขณะที่น้ำในเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาลดต่ำสุดในรอบหลาย 10 ปี

รัฐบาลจึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกร ลดการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนประชากรแรงงานกว่า 70% ของแรงงานทั้งประเทศ

ลุกลามต่อเนื่องมาถึงการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเหตุการณ์ก็พลิกผันอีกครั้ง

ปัญหาฝนไม่ตก น้ำแล้ง ก็ค่อยๆ หายไป กลับกลายเป็นปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่ม ไล่ลงมาจากภาคเหนือจนถึงภาคกลางเหมือนเช่นเคย

ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักที่เคยลดลงมาเหลือเพียงใช้ได้ไม่ถึงเดือน ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนเกือบเต็มเขื่อน

จนบางเขื่อนต้องเริ่มทยอยระบายน้ำออกมาเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเหมือนเช่นทุกปี

รวมทั้งหากย้อนมาดูในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็จะพบว่า ปัญหาน้ำท่วมขังตามท้องถนน หรือที่เรียกว่า ปัญหาน้ำรอการระบาย เวลาที่ฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง ก็ยังคงอยู่

แถมบางพื้นที่อาจประสบปัญหาหนักกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะพื้นที่ที่การจราจรหนาแน่นอย่างถนนลาดพร้าว ถนนแจ้งวัฒนะ หรือพื้นที่ใจกลางเมือง ที่เวลาฝนตกหนักทีไร ทั้งถนนแทบกลายเป็นอัมพาตจากน้ำรอระบาย

จึงเกิดคำถามไม่น้อยว่า แล้วที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานราชการ มัวทำอะไรอยู่ ปัญหาเรื่องของน้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้งจึงเกิดขึ้นซ้ำซาก และนับวัน ปัญหาเรื่องน้ำๆ ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูผลงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ภายหลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ในปี 2554 ได้ทำให้ประเด็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบถูกหยิบหยกและมีการพูดถึงในหลายวงการ ทั้งแวดวงวิชาการ ไปจนถึงนักการเมือง ที่ได้หยิบยกเรื่องการจัดการน้ำทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาน้ำขนาดใหญ่ตามแผนบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลเตรียมคลอดแต่ละโครงการกลับต้องเผชิญกับปัญหาและแรงเสียดทานมากมาย โดยเฉพาะประเด็นการรับฟังเสียงจากประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

จนท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวก็ถูกพับเก็บไปโดยปริยายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าทำการรัฐประหารในช่วงกลางปี 2557

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาล คสช. จะได้ล้มเลิกแผนบริหารจัดการน้ำในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว แต่ความพยายามในการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบยังดำเนินต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้น

โดยใช้เวลาปีกว่าก็ได้คลอด “แผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำ” ระยะ 12 ปี หรือระหว่างปี 2558-2569 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน

และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ วงเงินดำเนินโครงการรวมกว่า 9.8 แสนล้านบาท

รวมทั้งยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และกรมทรัพยากรน้ำ เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์น้ำอีก

ซึ่งจากการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์น้ำในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานช่วง เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2558-2559 ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนี้ เคยออกมาให้ความเห็นว่า ทุกอย่างถือว่าค่อนข้างเดินหน้าไปตามแผน โดยในปีงบประมาณ 2557-2559 กรมชลฯ สามารถเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานได้ 1.35 ล้านไร่ เพิ่มแหล่งน้ำชลประทานได้ 756 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่เกษตรน้ำฝนได้ 1,319 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มบ่อน้ำบาดาลได้ 150 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคิดเป็น 15.5% ของแผนยุทธ์น้ำทั้งหมด

สำหรับปีงบประมาณ 2560 กรมชลฯ เตรียมใช้งบลงทุนอีกประมาณ 32,816 ล้านบาทในการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 2, 3 และ 4 อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 382,137 ไร่ เพิ่มแหล่งน้ำชลประทาน 420 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่เกษตรน้ำฝน 602 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มบ่อน้ำบาดาล 77 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ความคืบหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 19.88% จากแผนทั้งหมด

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงวิกฤต รวมทั้งการพัฒนาใช้ประโยชน์น้ำระหว่างประเทศก็จะเริ่มต้นในปี 2560 เช่นกัน อาทิ การผันแม่น้ำโขงในส่วนที่ใกล้กับประเทศลาว ลุ่มน้ำยวมและแม่น้ำสาละวินในส่วนที่ใกล้กับเมียนมา จะเริ่มศึกษาและออกแบบในปี 2560 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563

ซึ่งเมื่อแผนยุทธศาสตร์น้ำเสร็จสิ้นในปี 2569 จะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 8.7 ล้านไร่ จากที่ปัจจุบันมีประมาณ 30.22 ล้านไร่ รวมทั้งเพิ่มแหล่งน้ำชลประทานอีก 4,801 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากที่ปัจจุบันมีประมาณ 79,656 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในเพิ่มพื้นที่เกษตรน้ำฝนอีก 3,033 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มบ่อน้ำบาดาลอีก 372 ล้าน ลบ.ม. หลังจากนั้น กนช. จะดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ ฉบับใหม่ ระหว่างปี 2570-2579 ไปยังรัฐบาลต่อไป เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ซึ่งคาดว่า แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานอีก 10 ล้านไร่

นายทวี ธนเดโชพล ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมชลประทาน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การใช้งบประมาณลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมชลฯ ได้ใช้งบไปทั้งสิ้น 80,103 ล้านบาท

แบ่งเป็น ปี 2558 ใช้งบประมาณ 52,790 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์จำนวน 1,978 โครงการ

และปี 2559 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 27,313 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์จำนวน 1,320 โครงการ อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ระบบผันน้ำ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม ขุดลอกลำน้ำ โครงการปรับปรุง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำ โครงการศึกษา สำรวจ และระบบผันน้ำ

ขณะที่ในปี 2560 กรมชลฯ เตรียมใช้งบฯ ลงทุนเพื่อการสร้างระบบจัดการน้ำเพิ่มเติมอีกหลายร้อยโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการบรรเทาอุทกภัยจันทบุรี ระยะที่ 2 และโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ระยะที่ 2

หากดูตามรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็อาจสรุปความได้ว่า “แผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำ” ก็มีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

แต่ดูเหมือนว่ายังมีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และดูไม่มีทีท่าว่าปัญหาจะลดลงตามจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นและงบประมาณที่ใส่ไป หรือว่าแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องของน้ำในขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านบริหารจัดการน้ำ

แต่เป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำกันแน่!!!